ถึงแม้ว่าตำแหน่งแชมป์ในการแข่งขันเทนนิสไทยแลนด์โอเพ่น 2006 จะต้องตกอยู่ในมือของนักเทนนิสต่างชาติแต่เทนนิสเอทีพีทัวร์รายการเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนแผ่นดินไทยก็ได้พัฒนาไปอีกก้าว นับจากครั้งแรกในปี 2003 ที่ เทย์เลอร์ เดนท์ ครองตำแหน่งแชมป์ ต่อจากนั้นในปี 2004-2005 โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ก็คว้าแชมป์มาครองได้ถึงสองสมัย ในขณะที่ปี 2006 ที่แฟนลูกสักหลาดชาวไทยต่างหวังจะเห็น “ภราดร ศรีชาพันธุ์” ขึ้นรับถ้วยรางวัลในบ้านเกิด ก็ได้ลุ้นเพียงแค่รอบรองชนะเลิศเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน
บรรยากาศการแข่งขันเทนนิสเอทีพี ไทยแลนด์โอเพ่น 2006 ที่เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางกลิ่นควันของการปฏิวัติจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่นักเทนนิสชื่อดัง รวมถึงสามรายที่อยู่ในท้อปเทนมีลุ้นสะสมคะแนนไปแข่งมาสเตอร์คัพ ในช่วงปลายปีก็ยังเดินทางกันมาตามหมายกำหนดการเดิมไม่ว่าจะเป็น “อิวาน ลูบิซิช” มือวางอันดับสามของโลก ที่พอมาถึงเมืองไทยก็ได้ถ่ายภาพร่วมกับรถถังเป็นที่ระลึก และคล้ายจะเป็นนัยบอกแก่แฟนเทนนิสทั่วโลกว่าสถานการณ์เมืองไทยไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงและการแข่งขันครั้งนี้จะต้องสนุกกว่าทุกครั้งอย่างแน่นอน
ในขณะเดียวกัน เจมส์ เบลค มือวางอันดับ 8 ของโลกก็ได้มาถึงเมืองไทยพร้อมกับ มารัต ซาฟิน ยอดนักเทนนิสชาวรัสเซียที่เพิ่งช่วยให้ทีมชาติของตนเองคว้าชัยหนือทีมสหรัฐฯในการแข่งขันเดวิส คัพ ที่ผ่านมา ส่วนนักเทนนิสรายแรกที่เดินทางมาถึงเมืองไทยในคืนวันที่ 19 กันยายน 49 และต้องเจอกับเหตุการณ์ระทึกใจอย่าง มาร์กอส แบกห์ดาติส นั้นก็ไม่ได้แสดงความตระหนกตกใจอะไร ยังคงลงซ้อมในวันรุ่งขึ้นและร่วมกิจกรรมกับผู้สนับสนุนก่อนจะขอถอนตัวด้วยอาการบาดเจ็บที่ต้นแขน ซึ่งแฟนเทนนิสหลายคนรับได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ
ไม่เพียงแต่นักเทนนิสระดับท้อปเทนของเอทีพีเท่านั้น ไทยแลนด์ โอเพ่น 2006 ยังได้ต้อนรับดาวรุ่งแห่งวงการเทนนิสอังกฤษอย่าง แอนดี้ เมอร์เรย์ รวมไปถึง ทิม เฮนแมน นักเทนนิสรุ่นพี่ที่ในทัวร์นาเม้นท์นี้ สุภาพบุรุษแห่งวงการลูกสักหลาด ที่ครั้งนี้สามารถล้างตาเอาชนะ เมอร์เรย์ ในการแข่งขันที่กรุงเทพฯได้สำเร็จ ในขณะที่ ยาร์คโค นิมิเนน, ฮวน คาร์ลอส เฟอร์เรโร่, ร็อบบี้ จิเนปรี รวมไปถึง ภราดร ศรีชาพันธุ์ และ ดนัย อุดมโชค สองนักเทนนิสความหวังของคนไทย ต่างเข้าร่วมดวลแร็กแก็ตในศึกไทยแลนด์ โอเพ่น อย่างพร้อมเพรียง
เมื่อการแข่งขันมีนักเทนนิสชื่อดังเข้าร่วมรายการเป็นจำนวนไม่น้อย ทำให้คุณภาพการแข่งขันแต่ละ แมทช์นั้นพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบก่อนรองชนะเลิศบรรดายอดนักหวดที่โคจรมาพบกันนั้นต้องสู้กันถึงสามเซตทุกคู่ นอกจากนี้การจัดระบบให้กับผู้ชมในสนามก็ทำได้มาตรฐานมากกว่าสามปีที่ผ่านมาเมื่อทาง ผู้จัดการแข่งขันเพิ่มมาตรการเข้มงวดขึ้น
โดยผู้ชมจะเดินเข้าออกในสนามได้นั้นต้องอยู่ในช่วงที่นักกีฬาได้พักในเกมรวมเป็นเลขคี่ รวมไปถึงการควบคุมผู้ชมไม่ให้ส่งเสียงดังขณะที่นักกีฬากำลังเล่นอยู่ หรือแม้กระทั่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งในปีนี้ไม่มีให้ระคายหู และ แฟนเทนนิสชาวไทยเข้าใจกฎระเบียบในการเข้าชมมากขึ้นภาพในสนามที่ปรากฏออกมานั้นจึงเป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่าสามปีที่ผ่านมาที่สำคัญจำนวนของผู้ชมในสนามนับว่าหนาตากว่าเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในก่อนรองชนะเลิศไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ
บรรยากาศดังกล่าวนับว่าเป็นทิศทางที่ดีสำหรับวงการเทนนิสไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแข่งขันในระดับเอทีพีทัวร์ ซึ่งเมืองไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ได้สิทธิจัดการแข่งขัน ส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยแลนด์โอเพ่น เริ่มเป็นทัวร์นาเม้นท์ที่ได้รับการจับตามองนั้นเป็นเพราะปฏิทินการของรายการนี้มีขึ้นภายหลังจากนักเทนนิสส่วนใหญ่เสร็จสิ้นภารกิจให้กับทีมชาติของตนเองในศึกเดวิส คัพ ที่สำคัญยังเป็นรายการที่อยู่ในช่วงรอยต่อการเก็บคะแนนของนักเทนนิสชายเพื่อลงทำศึกมาสเตอร์ คัพ ปลายปีที่ประเทศจีน
นอกจากนี้ทัวร์นาเม้นท์ ที่มีเงินรางวัลรวมสูงถึง 550,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยแชมป์จะได้เงินรางวัลจำนวน 76,500 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณสามล้านบาท) พร้อมกับคะแนนสะสม 35 แต้มนับว่าเป็นรายการถูกจัดอยู่ในระดับบีบวกของเอทีพี ช่วงเวลาเพียงแค่ 4 ปีทำให้ไทยแลนด์ โอเพ่น กลายเป็นการแข่งขันที่ได้รับความสนใจจากนักเทนนิสชื่อดังทั่วโลกและจากปี 2003 ที่จัดการแข่งขันครั้งแรกแฟนเทนนิสชาวไทยยังคงได้รับชมเทนนิสระดับโลกรายการนี้ ไทยแลนด์โอเพ่น อย่างต่อเนื่องจากการเซ็นสัญญาเป็นเวลาต่อเนื่องถึง 8 ปี
ทั้งหมดนี้คือการเดินทางสู่ก้าวย่างแห่งความสำเร็จของไทยแลนด์โอเพ่น เทนนิสเอทีพีทัวร์ รายการเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนแผ่นดินไทยที่ปัจจุบันพัฒนาการของเกมการแข่งขัน นักเทนนิสที่เข้าร่วม รวมไปถึงกองเชียร์ในสนามได้ปรับปรุงจนอยู่ในระดับมาตรฐานสากลเป็นที่เรียบร้อย จากนี้ก็เหลือแต่เพียงคอยลุ้นกันว่า เมื่อใดที่แชมป์ไทยแลนด์ โอเพ่น จะตกอยู่ในมือของนักเทนนิสชาวไทยบ้างเท่านั้นเอง