กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วที่เสร็จศึกฟุตบอลโลกทุกสมัย วงการลูกหนังบ้านเราจะต้องหยิบโครงการ “ฟุตบอลไทย ไปฟุตบอลโลก” ขึ้นมาปัดฝุ่น แต่เที่ยวนี้มีของแถมที่พิเศษกว่านั่นก็คือ นโยบายรวมฟุตบอลลีกทั้งสองเข้าด้วยกัน
หลังจากวงการลูกหนังบ้านเราทู่ซี้จัดแข่งขันลีกกึ่งอาชีพขึ้นมาสู้กันเองถึงสองลีก เวลาผ่านไปเพียงขวบปี “บิ๊กแนต” ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาฟุตบอลแห่งชาตินั้น ก็ต้องอาสามารับบทกาวใจเจรจากับทั้งวิจิตร เกตุแก้ว นายกสมาคมฟุตบอลบ้านเรา และถิรชัย วุฒิธรรมประธานโปรลีก เพื่อภารกิจรวมลีกครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วง
“บิ๊กแนต”เผยหลักการเบื้องต้นว่า ตนเองอยากจะให้มีการเอา 2 ทีมจากโปรลีกนั่นคือสุพรรณบุรี กับ ชลบุรี เข้าร่วมแข่งขันในฟุตบอลไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก โดยจะให้มีการแข่งขัน 16 ทีม โดยเอาทีมไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก 12 ทีม และ โปรลีก 2 ทีมตามเดิม และทีมไทยฮอนด้า กับ ทีมสุพรรณบุรี ที่ตกชั้นไปเล่นดิวิชั่น 1 ก็อาจจะโชคดีได้เข้ามาเตะในไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก อีกครั้ง สำหรับในสายโปรลีกที่เหลือก็จะร่วมกับทีมดิวิชั่น 1
ด้านนายถิรชัย วุฒิธรรม ประธานโปรลีกก็ให้ความเห็นว่า “ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายมีความมุ่งมั่นที่อยากจะให้มีการรวมลีกเกิดขึ้น ตั้งแต่สมัยรัฐมนตรี สนธยา คุณปลื้ม จนมาถึงสมัยของท่าน สมศักดิ์ เทพสุทิน และประชา มาลีนนท์ แต่ก็ยังติดปัญหาอยู่หลายประการ ตนนั้นมีความเห็นว่าหากมีการรวมลีกเกิดขึ้นจริงๆ วงการฟุตบอลเมืองไทยจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน และเชื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายประชา มาลีนนท์ คงจะไม่ขัดด้วย เพราะเดิมทีเราก็ต้องการเห็นวงการฟุตบอลไทยพัฒนา”
จากจุดเริ่มต้นนั้นการแข่งขันฟุตบอลโปรลีกเป็นโครงการที่ประชา มาลีนนท์ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมทีมงานนำโดย อริสมันต์ พงศ์เรืองรองทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการผลักดันลีกใหม่นี้ขึ้นมาสู้กับของเดิมอย่างไทยลีก
เรียกได้ว่าจัดขึ้นมาอย่างอลังการด้วยเงินรางวัลสูงถึงสิบล้านบาท เล่นเอาทางฝั่งไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีกร้อนอาสน์ ต้องวิ่งวุ่นหางบประมาณก้อนโตมาเพิ่มเงินรางวัลให้พอฟัดพอเหวี่ยงกัน
ทั้งสองลีกประชันกันไม่นาน คำกล่าวที่ว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” ก็ถูกพิสูจน์ ความจริงที่ว่า ไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก คือลีกที่ขึ้นกับสมาคมฟุตบอล และขึ้นตรงกับฟีฟ่า รวมทั้งมีงบประมาณสนับสนุนระยะยาวจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ มาตรฐานทุกอย่าง รวมทั้งโอกาสในการติดทีมชาติของเด็กที่เล่นอยู่ ย่อมมีมากกว่าอย่างช่วยไม่ได้
หลังจากแข่งกันเองสักพักก็เริ่มรู้สัจธรรม แย่งทรัพยากรกันเอง คนดูในสนามก็หาทำยายากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ขนาดบีบบังคับให้ทั้งฟรีทีวีและเคเบิ้ลทีวี ช่วยทำการถ่ายทอดสดก็กระตุ้นความสนใจเพิ่มขึ้นไม่ได้มากนัก
ต้องยอมรับว่าโปรลีกนั้นคือกระแสการผลักดันของผู้มีอำนาจทางการเมืองเพียงชั่วเวลาหนึ่ง แต่ทว่าการผลักดันโปรลีกนั้นใช่จะล้มเหลวไปเสียทุกเรื่อง เพราะลีกนี้ได้สร้างแนวคิดท้องถิ่นนิยม ซึ่งเป็นแนวทางที่ลีกทั่วโลกเขาใช้กัน แถมยังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆให้วงการลูกหนังบ้านเราได้ตื่นตะลึงพอสมควร ด้วยยอดผู้ชมของทีมจากแดนใต้อย่างนราธิวาสซึ่งแฟนฟุตบอลเจ้าถิ่นแห่เข้าชมอย่างล้นสนามกว่าหมื่นคนอยู่เกือบทุกนัดที่ทีมของตนได้เปิดบ้านรับการมาเยือนของทีมอื่น แตกต่างกับความนิยมของคนดูที่มีให้กับสโมสรในกรุงเทพฯซึ่งนับวันมีแต่จะน้อยลงไปทุกที
นอกจากนั้นโปร-ลีกยังสร้างกระแสการเชียร์ในรูปแบบของสโมสรอาชีพอย่างแท้จริง ทุกทีมนั้นพยายามสร้างสัญลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้แฟนบอลจดจำ ทั้งโลโก้ เสื้อแข่ง เพลงเชียร์ รวมทั้งเว็บไซต์ที่มีแฟนประจำกันกันอยู่พอสมควร แถมยังเดินหน้าหาสปอนเซอร์ประจำสโมสรกันไปแล้วก็มาก ถ้ายุบไปก็น่าเสียดาย
แต่จากอุปสรรคดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทำให้ในระยะยาวโอกาสเรื่องงบประมาณและการสนับสนุนจากสมาคมฟุตบอลนั้นคงเป็นไปได้ยาก หนทางของโปรลีกจึงขรุขระยิ่งนัก วันนี้จึงจำเป็น จึงถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ในวงการฟุตบอลต้องมาหารือเรื่องการนำฟุตบอลลีกทั้งสองมารวมกันอีกครั้ง
ถึงอย่างนั้นก็ยังน่าเป็นห่วงอนาคตของวงการฟุตบอลบ้านเรา หากเป็นเพียงการจูบปากกันเพื่อเอาตัวรอด ไม่ได้มีการพัฒนามาตรฐาน บุคลากร และเอาแนวคิดดีๆของทั้งสองลีกมาผสมผสาน แถมยังคงไม่มีการผันงบประมาณจากภาครัฐมาช่วยอย่างจริงจังเพื่อดึงนักเตะดีๆมาวาดฝีเท้า แล้วใครที่ไหนจะอยากเข้าไปดู
สุดท้ายการรวมกันครั้งนี้อาจเป็นเพียงนิยายรักเล่มเก่าเหมือนเมื่อครั้งรวมกับโปรวินเชียลลีก ถ้าทำได้แค่นั้นวงการฟุตบอลบ้านเราคงไม่แคล้วต้องวังเวงกันต่อไป