xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนตำนานลูกกลมๆ แห่งศึก“ฟุตบอลโลก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรแบร์โต้ บาจจโจ้ “เปียทองคำ” ของอิตาลีกับลูกฟุตบอลรุ่น “เควสสตรา”
หลังจากมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างฟุตบอลโลกจัดการแข่งขันมาจนถึงครั้งที่ 18 วิวัฒนาการของสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นหัวใจของการแข่งขันนั่นก็คือ “ลูกฟุตบอล” นั่นเอง

เจ้าลูกหนังใบกลมๆที่นักเตะทั้งสนาม วิ่งไล่หวดไล่แย่งกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น หลายคนอาจไม่เคยตระหนักว่ามันคือศูนย์รวมความสนใจของทั้งนักเตะในสนาม ผู้ตัดสิน ผู้ชม และคนดูทั่วโลกหลายพันล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก
ลูกฟุตบอล เทลสตาร์ ที่ใช้ในปี 1970 คุ้นเคยกับสายตาแฟนบอลเป็นอย่างดี
“ลูกฟุตบอล” คือผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ประสบการณ์และการทดสอบ ผสมผสานกัน เพื่อให้ได้ลูกหนังใบกลมๆที่มีทั้งประสิทธิภาพในการใช้งาน ความสวยงาม และความนิยมจากนักฟุตบอล

หากย้อนกลับไปในอดีต จากลูกหนังที่ใช้ในเวิลด์คัพยุคแรกๆสีน้ำตาลคร่ำคร่า ค่อนข้างหนักและไร้ประสิทธิภาพ ฟุตบอลโลกได้ต้อนรับลูกฟุตบอลรุ่น “เทลสตาร์” ของอาดิดาสเป็นครั้งแรกในปี 1970 ซึ่งครั้งนั้นจัดการแข่งขันกันที่เม็กซิโก ประเทศที่มีภูมิประเทศอยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเลมากและมีอากาศร้อน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเล่นฟุตบอล

ทว่าศึกฟุตบอลโลกในครานั้นกลับสร้างสุดยอดทีมแห่งตำนานเวิลด์คัพขึ้นมา นั่นก็คือ บราซิล ในยุคของสามประสาน เปเล่, ทอสเทาและแจร์ซินโญ่ ปีกขวาพระกาฬซึ่งยิงได้ทุกนัดตั้งแต่รอบแรกจนถึงนัดชิงชนะเลิศ ซึ่ง “ดรีมทีม”ชุดนั้นครองแชมป์ไปได้ถ้วยการถล่มอิตาลียับเยินถึง 4-1 ในรอบชิงชนะเลิศ

สำหรับลูกฟุตบอล“เทลสตาร์” นั้นการผลิตใช้หนังแบบ 5 เหลี่ยมสีดำ และ 6 เหลี่ยมสีขาวรวม 32 ชิ้นประกอบกันเข้าเป็นลูกหนังที่มีเอกลักษณ์มากที่สุด “เทลสตาร์” ถูกใช้งานในศึกฟุตบอลโลกอีกสมัยในปี 1974 ซึ่งจัดขึ้นที่เยอรมันตะวันตก (ในสมัยนั้น)

หลังจากเจนตากับลวดลายเรียบง่ายของ “เทลสตาร์” แฟนลูกหนังยุคกลางต้องเลิกคิ้วกับลวดลายของลูกฟุตบอลที่ใช้งานในศึกเวิลด์คัพ 1978 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศอาร์เจนติน่า ในดินแดนอเมริกาใต้ ลูกฟุตบอลของอาดิดาสถูกออกแบบให้สวยงามและมีเสน่ห์แบบละติน โดยใช้ชื่อว่ารุ่น “อัซเตก้า” มีลวดลายมากขึ้น แต่ยังอยู่บนพื้นฐานแบบ 5 เหลี่ยมเหมือนเดิม

ลวดลายของลูกบอลถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จริงๆก็ในปี 2002 อาดิดาส ผลิตฟุตบอลที่ชื่อ “ฟีเวอร์โนว่า” โดยประดับลวดลวยด้วยสีทองและแดง ซึ่งมีลักษณะเหมือนอาวุธนินจา "ชูริเคน" แสดงถึงพลังของประเทศญี่ปุ่นเจ้าภาพร่วมกับ เกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกที่มีสองชาติรับหน้าเสื่อ รวมทั้งการออกแบบลูกฟุตบอลในเวิลด์คัพที่ทิ้งรูปแบบ 5 เหลี่ยม
ลูกฟุตบอล ทีมไกซ์ท ที่จะใช้ในฟุตบอลโลกปี 2006
อย่างไรก็ดีในฟุตบอลโลกครั้งนั้น บรรดานักเตะระดับโลกที่ได้ทดลองเตะเจ้า ฟีเวอร์โนว่า ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าลูกฟุตบอลเบาเกินไป ควบคุมยาก รวมถึงลูกลอยสูงเกินไปด้วยเวลาเตะ โดยเฉพาะผู้รักษาประตูซึ่งดูเหมือนจะมีปัญหากับการรับมือเจ้า ฟีเวอร์โนว่า มากเป็นพิเศษ จิอันลุยจิ บุฟฟ่อน นายทวารทีมชาติ อิตาลี เคยบอกไว้ว่า "เป็นลูกฟุตบอลที่พิลึกมาก จู่ๆก็เปลี่ยนทิศพุ่งไปอีกทางซะยังงั้น ยังกะลูกบอลที่ผมเล่นสมัยเด็กเลย"

ทว่า เดวิด เบ็คแฮม มิดฟิลด์ทีมชาติอังกฤษที่ขึ้นชื่อว่าวางบอลแม่นที่สุดในโลกกลับเผยว่าตนเองชอบฟุตบอลฟีเวอร์โนว่ามากทีเดียว ส่วนหนึ่งเพราะช่วยให้ฟรีคิกและลูกเปิดของเขาอันตรายขึ้น เพราะฟุตบอลรุ่นนี้จะโค้งและเปลี่ยนทิศทางได้อย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นการยากที่ผู้รักษาประตูฝ่ายตรงข้ามจะคาดเดาและป้องกันได้

"ผมว่าลูกบอลรุ่นนี้ก็เหมือนกับรุ่นที่ใช้ในศึกฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากมายอย่างที่หลายคนออกมากล่าวกันเลย อาจจะมีเล็กน้อย ก็ตรงที่ลูกบอลรุ่นนี้จะลอยและเบากว่าเดิม ซึ่งทำให้บรรดาศูนย์หน้าต้องพยายามมากขึ้นที่จะจับจังหวะให้ได้" นักฟุตบอลสุดหล่อเคยกล่าวเอาไว้

จากประวัติศาสตร์อันยาวนานกับมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกกว่าครึ่งศตวรรษ ฟุตบอลใบกลมๆยังถูกพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุดยั้งโดยนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านกีฬา เพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้นของนักเตะในปัจจุบัน ล่าสุดลูกฟุตบอลถูกออกแบบเพื่อใช้งานในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 มีชื่อว่า "ทีมไกซ์ท" ซึ่งหมายถึง “สปิริต”

ถึงตอนนี้เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนเท่านั้น มหกรรมฟุตบอลโลก 2006 ก็จะเปิดฉากขึ้น คงต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า ประสิทธิภาพและเสียงตอบรับของเจ้าลูกฟุตบอล “ทีมไกซ์ท” จะเป็นอย่างไร

ลูกฟุตบอลอาดิดาสที่ใช้ในฟุตบอลโลกตั้งแต่ปี 1970-2006
ปี 1970 ลูกฟุตบอล "เทลสตาร์"
ปี 1974 ลูกฟุตบอล "เทลสตาร์ ชิลี่"
ปี 1978 ลูกฟุตบอล "แทงโก้"
ปี 1982 ลูกฟุตบอล "แทงโก้ เอสปันญ่า"
ปี 1986 ลูกฟุตบอล "อัซเตก้า"
ปี 1990 ลูกฟุตบอล "อีทรุสโก้ ยูนิโก้"
ปี 1994 ลูกฟุตบอล "เควสสตรา"
ปี 1998 ลูกฟุตบอล "ไทรคัลเลอ"
ปี 2002 ลูกฟุตบอล "ฟีเวอร์โนว่า"
ปี 2006 ลูกฟุตบอล "ทีมไกซ์ท"
กำลังโหลดความคิดเห็น