xs
xsm
sm
md
lg

“ยงยุทธ” ยันย้ายคนพ้นคลิตี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ยงยุทธ” หักคอชาวบ้าน “คลิตี้” 58 ครอบครัว ย้ายออกนอกพื้นที่เปื้อนตะกั่ว อ้าง 2 ใน 3 อ.ทองผาภูมิเป็นแหล่งตะกั่วอยู่แล้วแก้ไม่ได้ สั่งผู้ว่าฯ กรมอุทยานฯ เตรียมพื้นที่รองรับ ผอ.ศูนย์กะเหรี่ยงฯ จับผิด “ยงยุทธ” มั่วข้อมูล ย้ำแก้ปัญหาต้องเห็น “คน” สำคัญกว่า “สารพิษ”

นายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวยืนยันในการแก้ปัญหากรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ว่าจะต้องให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว เพราะพื้นที่ 2 ใน 3 ของอำเภอทองผาภูมิเป็นพื้นที่ที่มีสารตะกั่วซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศ การแก้ไขโดยจะให้ทางการขุดเอาแร่ออกจากพื้นที่นั้นคงทำไม่ได้ ในขณะที่การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านเองก็จะมีสารปนเปื้อนอยู่ดี

“หน้าที่ของเราคือชักจูงชาวบ้านออกมา แล้วหาพื้นที่ใหม่ให้เขา จำนวนประชากร 58 ครอบครัวน้อยกว่าแม่เมาะที่เราไปทำ แต่วิถีชาวบ้านที่เคยอยู่เขาบอกว่าเขาอยู่ได้ 8 คนดังกล่าวนี้อยู่ได้ แต่ขอฟ้องร้อง 112 ล้านบาท ซึ่งต้องไปแจงกับเขาว่าควรจะทำอย่างไร” รมว.ทรัพยากรฯ กล่าว และว่านักวิชาการที่เป็นเอ็นจีโอออกมาระบุว่ามีการปนเปื้อนตะกั่วจำนวนมากนั้นควรให้ความร่วมมือกับทางการในการชักชวนชาวบ้านให้ออกนอกพื้นที่ เพราะเรื่องของความปลอดภัยต้องเอาประชาชนออกมาดีกว่า ส่วนปัญหาที่เป็นตำนานมา 8 ปีไม่ใช่เรื่องที่ต้องดำเนินการแล้ว ทั้งนี้ตนได้มอบให้ผู้ว่าฯ กาญจนบุรีและกรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดหาพื้นที่ใหม่พร้อมจัดหาสาธารณูปโภคให้ชาวบ้านแล้ว

“แต่วันนี้ยังชักจูงไม่สำเร็จ เพราะชาวบ้านยังอยากอยู่ที่เดิม” รมว.ทส.กล่าว

นายยงยุทธกล่าวต่อว่า การเยียวยาบำบัดมาตลอด 8 ปี มีความเห็นเรื่องการบำบัดที่แตกต่างกัน ก่อนหน้านี้เสนอว่าจะตักตะกอนดินออกจากลำห้วยที่ปนเปื้อนตะกั่ว แต่ทำไปก็ไม่มีผลอะไรเนื่องจากพื้นที่เต็มไปด้วยตะกั่ว ประเด็นสำคัญในวันนี้นอกจากการย้ายคนออกนอกพื้นที่คือการฟ้องร้องศาลปกครองของชาวบ้าน 8 คน ซึ่งได้รับคำแนะนำจากเอ็นจีโอ เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการเหมืองแร่ ซึ่งที่จริงแล้วก็ถูกยุบไปหมดแล้วตั้งแต่ปี 2541

“การที่ชาวบ้านไปฟ้องร้องศาลอาจจะได้ความยุติธรรมที่ตนเองคิดว่าควรจะได้ แต่มันไม่ได้แก้ปัญหาจนจบ สมมติว่าฟ้องร้องได้ค่าเสียหาย สุดท้ายชีวิตเขาต้องกลับไปอยู่ที่เดิมซึ่งก็ยังทนทุกข์ทรมานอยู่ดี” นายยงยุทธกล่าว

การดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในลำห้วยคลิตี้และเยียวยาชาวบ้านคลิตี้ที่มีอาการปกติจากผลกระทบของตะกั่วยังคงคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่าจะมีมติของคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการในการเสนอแนะการแก้ไขปัญหา ซึ่งล่าสุดเมื่อปี 2544 ที่เสนอให้สร้างเขื่อนดักตะกอนและขุดลอกตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่วออกไปฝั่งกลบ แต่ท้ายที่สุดเขื่อนสร้างเสร็จในปี 2545 และทิ้งร้างไว้ไม่ได้ดำเนินการขุดลอกใดๆ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน อันนำมาสู่การฟ้องร้องศาลปกครอง

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวถึงความเห็นของ รมว.ทรัพยากรฯ ว่ามีความเข้าใจผิดไปอย่างมาก กล่าวคือพื้นที่ของ อ.ทองผาภูมิ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการนำสินแร่ตะกั่วใต้ดินมาใช้ประโยชน์และมีอยู่จำนวนมาก ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ดินไม่ได้อยู่บนผิวดิน ส่วนพื้นที่บริเวณผิวดินที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ได้นั้น โดยธรรมชาติมีปริมาณสารตะกั่วในปริมาณที่น้อยกว่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ อันเป็นข้อมูลจากการศึกษาของนายศศิน เฉลิมลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา ม.รังสิต การปนเปื้อนในผิวดินที่อยู่ในปริมาณสูงนั้นเกิดจากการทำเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ ซึ่งเป็นการขุดสินแร่จากใต้ดินที่มีความเข้มข้นขึ้นมาสู่ผิวดิน ส่งผลให้เป็นสารพิษต่อมนุษย์”

“ไม่อย่างนั้นชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงชาวคลิตี้ก็อยู่กันมาเป็นร้อยปีแล้วในพื้นที่แถบนี้ แต่เพิ่งจะมามีปัญหาไม่กี่ปีมานี้เองหลังจากมีโรงแต่งแร่” เขากล่าวยืนยัน และว่าการที่นายยงยุทธระบุว่าพืชผักในพื้นที่ชาวบ้านไม่สามารถเก็บกินได้เนื่องจากมีสารตะกั่วปนเปื้อนนั้น ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นพืชผักชนิดใด เนื่องจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่ามีผักเพียง 2–3 ประเภทเท่านั้นที่ปนเปื้อนตะกั่วในปริมาณสูง

เขากล่าวต่อว่า รมว.ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการดำเนินคดี ที่เข้าใจว่าชาวบ้าน 8 คนฟ้องต่อศาลปกครองโดยการชี้นำจากเอ็นจีโอ ที่จริงแล้วชาวบ้านจำนวน 8 รายขอให้สภาทนายความแห่งประเทศไทยช่วยทำคดีฟ้องแพ่งต่อบริษัท ตะกั่วคอนเซนเทรทส์ จำกัด เจ้าของโรงแต่งแร่ที่ปล่อยสารตะกั่วลงสู่ห้วยคลิตี้ ส่วนการฟ้องศาลปกครองมีโจทก์เป็นชาวบ้าน 22 ราย ในกรณีที่กรมควบคุมมลพิษละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

“ความเข้าใจผิดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐมนตรีรับทราบข้อมูลอย่างหยาบมาก” นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์กล่าวถึงบทบาทของรัฐว่า ต้องเอาสารพิษออกจากธรรมชาติเพื่อให้ชาวบ้านดำรงชีวิตของตนเองได้ตามปกติสุข ไม่ใช่เอาชาวบ้านออกจากแหล่งที่มีสารพิษและปล่อยให้สารพิษยังคงอยู่ในธรรมชาติ ต้องพิจารณาว่าสารพิษจากโรงแต่งแร่มาทีหลังการตั้งหมู่บ้าน เวลา 8 ปีที่ผ่านไปปริมาณตะกั่วยังสูงอยู่ และคงจะต้องใช้เวลาหลายปีถึงจะลดลงตามธรรมชาติ การแก้ปัญหาควรจะตระหนักว่าคนสำคัญกว่าสารพิษ วิธีการแก้ปัญหาในหลายประเทศต่างก็ใช้วิธีการกำจัดสารพิษออกนอกพื้นที่ทั้งนั้น

ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม หนึ่งในทนายความของชาวคลิตี้ 22 รายที่ฟ้องศาลปกครอง ให้ความเห็นว่า การดำเนินการช่วยเหลือเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว อย่างไรก็ตามการดำเนินการต่างๆ ควรต้องคำนึงถึงสิทธิชุมชนด้วยเช่นกัน และในขณะนี้ชาวบ้านยังไม่ต้องการย้ายออกนอกพื้นที่ รัฐต้องใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายในการช่วยเหลือชาวบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น