xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเหยื่อคดีความมั่นคง ใต้ร่มเงาพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดับไฟใต้ของรัฐบาล อาจจะเป็นการสร้างความหวังให้กับศูนย์กลางอำนาจในการสร้างเอกภาพการทำงาน และอาจเห็นแววของชัยชนะเหนือผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้หากการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มองว่าความไม่เป็นธรรมอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเงื่อนไขอันสำคัญต่อการก่อความไม่สงบในพื้นที่ หากไม่มีความยุติธรรม สันติสุขก็ยากที่จะเกิด กระบวนการยุติธรรมที่อิงอยู่บนฐานความจริง อาจเป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่ประชาชนผู้หวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐจะหยิบใช้เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของเขา และเพื่อยืนยันว่าเขาไม่ได้ต้องการเอกราชเท่ากับความยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงส่วนนี้อาจแปรไปอีกครั้งภายหลังการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายใต้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ทนายความผู้แก้ต่างให้กับจำเลยในคดีความมั่นคงจะยืนอยู่ตรงไหน

แหล่งข่าวทนายความชมรมนักกฎหมายมุสลิม เปิดเผยว่า อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวจะสร้างความลำบากให้กับการทำงานของทนายความมากขึ้น ที่ผ่านมาการทำงานของทนายหลายคนที่รับผิดชอบว่าความให้กับจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ อั้งยี่ ก่อการร้ายจากคดีความมั่นคงในภาคใต้ มักจะถูกมองโดยเจ้าหน้าที่ว่าเป็น “ทนายโจร” มาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่ตัดสินชัดเจนว่าจำเลยเหล่านั้นเป็นผู้กระทำผิด ในขณะที่ผลสรุปของหลายคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงในภาคใต้ซึ่งทางชมรมรับทำ ศาลก็ยกฟ้องในที่สุด แม้ว่าจะมีข้อหาที่หนักหนาสาหัสก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ทัศนคติที่เป็นลบของเจ้าหน้าที่อย่างนี้ ประกอบกับการให้อำนาจมากมายแก่นายกรัฐมนตรีและส่งผ่านสู่เจ้าพนักงานที่นายกฯ แต่งตั้งเพื่อใช้อำนาจตามมาตรการที่ระบุไว้ใน พ.ร.ก. นั้น จะทำให้ทนายความทำงานได้อย่างยากเย็นยิ่งขึ้น

“การเขียนให้เจ้าพนักงานไม่ต้องรับผิดจากการปฏิบัติงานตามเจ้าหน้าที่นั้น เป็นมาตรการที่แย่มากสำหรับคนที่ทำงานอย่างเรา ไม่มีการเขียนระบุถึงสิทธิของทนายและสิทธิของผู้ต้องหาในการร้องขอทนายหรือที่ปรึกษาด้านกฎหมายเลย ตอนนี้ประเมินไม่ได้ว่าการทำงานของเราจะเข้าข่ายเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานหรือไม่ หากลงไปสืบพยาน หรือข้อมูลเพื่อใช้ในการว่าความ จะเข้าข่ายปกปิดข้อมูลหรือไม่”

แหล่งข่าวทนายความจากพื้นที่ผู้ทำคดีความมั่นคงในภาคใต้อีกราย ให้ความเห็นว่า เนื้อหาในกฎหมายที่ใช้ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก.ฉบับใหม่ไม่ใช่หลักสำคัญเท่ากับการปฏิบัติจริง ทั้งนี้ สิ่งที่ตนประสบในฐานะที่ใช้กฎหมายในพื้นที่พิเศษ พบว่าการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ต่างหากที่เป็นปัญหาและสร้างเงื่อนไขความไม่พอใจ ความหวาดระแวงในใจของชาวบ้าน โดยเฉพาะมาตราที่ 12 เรื่องการควบคุมตัวที่เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาลเพื่อสามารถคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกิน 7 วัน และสามารถขอต่อศาลเพื่อให้คุมตัวไว้สูงสุด 30 วันนั้น ในทางปฏิบัติ ส่วนใหญ่ศาลจะอนุญาต เนื่องจากการตัดสินใจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของศาลเท่านั้น หากแต่เป็นเหตุผลในระดับนโยบายด้วย

นอกจากนี้ เขายังชี้ว่า การระบุว่าสถานที่ใช้ในการคุมตัวต้องไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้กับการนำตัวไปที่ใดก็ได้ ในที่นี้เป็นที่เข้าใจว่าในทางปฏิบัติแล้วคือการคุมตัวไว้ในเซฟเฮ้าส์ และที่สำคัญทนายความและญาติไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงชะตากรรมของผู้ต้องสงสัยเลย

“ที่ต่างกับกฎอัยการศึกคือ ช่วงการคุมตัวผู้ต้องสงสัยจาก 7 วัน เป็น 30 วัน และไม่รู้ว่าควบคุมอยู่ที่ไหน ขนาดตอนใช้กฎอัยการศึก ญาติพี่น้องมานั่งร้องไห้หน้าค่ายทหาร เพราะเขาไม่ให้พบ บางรายรู้ว่าเจ้าหน้าที่จับตัวไป บอกว่าอยู่สถานีตำรวจ พอตามไปกลับไม่เจอและเจ้าหน้าที่ก็บอกไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นชาวบ้านเขาก็จะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร”

แม้ว่าในมาตราเดียวกัน จะระบุว่าให้เจ้าหน้าที่จัดทำสำเนารายงานการจับกุมและคุมตัวไว้ที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ญาติของบุคคลนั้นสามารถขอดูรายงานดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาที่ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ แต่แหล่งข่าวคนดังกล่าวเห็นว่า ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าติดขัดเรื่องการประสานงานข้อมูลดังกล่าว ที่สำคัญคือตลอดระยะเวลา 30 วันนั้น ทางญาติก็ไม่สามารถเข้าพบผู้ต้องสงสัยได้อยู่ที่ นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวไม่ระบุถึงสิทธิของทนายความเลยแต่อย่างใด

“การระบุว่าหากครบกำหนด 30 วันแล้ว การควบคุมตัวต่อให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ก็เท่ากับว่า 30 วันแรกไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายวิฯอาญา พอศาลอนุญาตเจ้าหน้าที่ก็สามารถทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เขาต้องการ การให้ปากคำของผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในสภาวการณ์อย่างไร ระยะเวลาเท่าไหร่ ทางทนายไม่มีสิทธิเข้าไปเลย ทางญาติก็ไม่มีสิทธิรับรู้สภาพ”

แหล่งข่าว เห็นว่า การที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ในแทบทุกขั้นตอน ล้วนแต่เป็นการสร้างเงื่อนไขให้ชาวบ้านหนีออกห่างจากทางการ สิ่งที่ตามมาคือความไม่ไว้วางใจ ไม่ให้ความร่วมมือกับทางการ ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ก็จะมองว่าชาวบ้านกลุ่มที่ไม่ให้ความร่วมมือกลายเป็นแนวร่วมของผู้ก่อการในที่สุด

ด้านนักศึกษาในพื้นที่ ซึ่งทางการให้ความสนใจติดตามความเคลื่อนไหวมาตลอดเวลา ภายใต้กฎอัยการศึกทางเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจเคยบุกค้นบ้านพัก กระทั่งมีบางรายที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง

สำหรับ พ.ร.ก. ฉบับล่าสุดที่จะนำมาใช้ในพื้นที่ นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ อุปนายก องค์การบริหารองค์การนิสิต มอ.ปัตตานี ให้ความเห็นว่า นักศึกษาหลายคนรู้สึกตื่นตระหนกกับอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นของเจ้าหน้าที่ แม้ว่าจะมีการบังคับใช้เพียง 7 มาตรการ โดยเฉพาะเรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกันนั้น จะตีความถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของนักศึกษาหรือไม่ ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐมักมีมุมมองด้านลบต่อกิจกรรมที่มุ่งเข้าหาชุมชนเพื่อพบปะเยี่ยมเยียนและเรียนรู้ปัญหาของชาวบ้าน ส่งผลให้ทางเจ้าหน้าที่เพ่งเล็งอยู่เสมอ ทั้งที่การทำกิจกรรมดังกล่าวต่างก็สอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่ต้องรับใช้สังคม โดยเฉพาะสังคมท้องถิ่นแถบนี้

“ที่ผ่านมานักศึกษาเคยถูกค้นบ้าน นำตัวไปสอบโดยเจ้าหน้าที่ หลายคนก็โดนติดตามจากใครก็ไม่รู้ ก็รู้สึกอึดอัดอยู่แล้ว หากเจ้าหน้าที่มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ขนาดนักศึกษายังรู้สึกอึดอัด แล้วชาวบ้านที่ไม่ค่อยรู้ภาษาไทยจะรู้สึกอย่างไร” นายเอกรินทร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น