xs
xsm
sm
md
lg

“สมานฉันท์”วันนี้ไปถึงไหน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีการรายงานข่าวหรือคำแถลงอย่างเป็นทางการเลย และแม้แต่การทำงานของอนุกรรมการและคณะทำงานแต่ละชุดก็ดูจะเงียบหายไร้ความเคลื่อนไหวใดๆ ไปด้วย กระทั่งถึงวันนี้ (27 มิ.ย.) ที่จะมีการประชุมอีกครั้ง

สุริชัย หวันแก้ว หนึ่งในเลขานุการ กอส.เผยว่า อันที่จริงแล้วคณะอนุกรรมการทั้ง 5 ชุดของ กอส.ยังคงทำงานตามหน้าที่ที่ต่างคนต่างก็รับผิดชอบอยู่ แม้ว่าจะไม่มีข่าวคราวแถลงออกมาทุกฝีก้าวก็ตาม แต่ก็มีการจัดตั้งคณะทำงานและแบ่งซอยภารกิจให้ไปดำเนินการกันมา และจะรายงานพร้อมนำเสนอประเด็นหารือเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ในวันนี้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการประชุมนัดที่แล้วจนถึงวันนี้ สถานการณ์ในพื้นที่ได้เพิ่มรูปแบบความรุนแรงสะเทือนขวัญและถี่ขึ้นอย่างผิดสังเกต ทั้งการวางระเบิด ลอบสังหาร และตัดคอเหยื่อ

***กอส.อึดอัดชาวบ้านสับสน

สำหรับกรรมการบางคนที่อยู่ในพื้นที่แล้ว สถานการณ์เหล่านี้เป็นแรงกดดันต่อการทำงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะความคาดหวังของชาวบ้านต่อสถานการณ์รายวันดูเหมือนจะเรียกร้องบทบาทของ กอส.ที่ทำงานในพื้นที่อย่างเลี่ยงไม่ได้
 
ถึงแม้ว่าจะได้รับการชี้แจงจากอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส.หลายครั้งแล้วว่า คณะกรรมการอิสระชุดนี้ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกับสถานการณ์เหตุร้ายรายวันเลย

“ชาวบ้านเขามาถามผมว่า กอส.จะนั่งอยู่เฉยๆ เหรอ” วรวิทย์ บารู ผู้ช่วยอธิการบดี ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี ในฐานะกรรมการที่อยู่ในพื้นที่เล่าให้ฟังด้วยความอึดอัดใจ

ไม่ต่างกับประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ เลขาธิการสหพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรรมการในพื้นที่อีกคน ที่ระบุว่าการประชุมในวันนี้ จำต้องเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาถึงตัวละครที่เป็นต้นเหตุในการก่อความรุนแรงทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาการประชุม กอส.ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่จะส่งผลต่อรูปธรรมของแผนงานของ กอส.ในระยะยาว

ประสิทธิ์ ในฐานะประธานคณะทำงานสำรวจและรับฟังประชาชน อนุกรรมการเพื่อความปรองดองและความสมานฉันท์ในพื้นที่ แจกแจงให้ฟังว่า คณะทำงานฯ ได้รับฟังความคิดเห็นจากบุคคลในอาชีพต่างๆ วงเล็กๆ ซึ่งได้เนื้อหาที่ค่อนข้างลึก และพอจะสรุปได้ว่าหลายคนในพื้นที่ก็มีความสับสนว่าผู้ก่อเหตุเป็นใครและต้องการอะไร

“พบว่าชาวบ้านราว 80% จะรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่รัฐเองก็มีส่วนในการก่อเหตุร้ายด้วย” ประสิทธิ์กล่าวและว่าความรู้สึกที่ว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐในทุกหน่วยงาน ยังคงเป็นความรู้สึกกระแสหลักอยู่ในพื้นที่
ด้าน วรวิทย์ ยังย้ำว่าจะนำประเด็นที่ชาวบ้านร้องเรียนและการลงพื้นที่เข้าสู่ประเด็นการหารือในที่ประชุมใหญ่ เช่น การบุกค้นโรงเรียนญิหาดวิทยา รวมถึงการสังหารเด็กหนุ่ม 3 คนที่ปัตตานีเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา

***รื้อกระบวนการสอบสวน

ประเด็นที่ท้าทายและแหลมคมดูเหมือนจะอยู่ในภารกิจของอนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน

ทั้งนี้ อนันต์ชัย ไทยประทาน รองประธานอนุกรรมการฯ เผยว่า กรอบการทำงานสำหรับประเด็นเฉพาะหน้าจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป เพื่อคลี่คลายปัญหาความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม เช่น เสนอให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาในบางคดี การถอนฟ้องในกรณี 59 ผู้ต้องหาผู้ชุมนุมตากใบ เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ อนุกรรมการกำลังพิจารณาให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบการเสียชีวิตของผู้ก่อการในเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547 ในทุกที่เกิดเหตุเหมือนกรณีกรือเซะ เพราะยังเป็นปมที่ประชาชนใน 3 จังหวัดค้างคาอยู่จนถึงปัจจุบัน

ส่วนมาตรการระยะยาว นพ.อนันต์ชัย ระบุว่าอนุกรรมการจะเสนอให้มีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในขั้นสอบสวนใหม่ทั้งระบบ

“ตำรวจอาจจะเป็นคนจับจริง แต่การสอบสวนอาจจะไม่ใช่ตำรวจหรืออาจต้องร่วมกันหลายหน่วย แต่ที่แน่ๆ ต้องไม่เป็นอย่างตอนนี้แน่นอน”

***ปรับขบวน”สื่อสันติภาพ”ตั้ง"โต๊ะข่าวภาคใต้

ด้านพระไพศาล วิสาโล ประธานอนุกรรมการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เปิดเผยว่า คณะทำงานทั้ง 3 ชุดของอนุกรรมการได้ทยอยลงพื้นที่อย่างไม่ขาดสาย คณะทำงานขับเคลื่อนสันติวิธีในภาครัฐ ได้ลงไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ เช่น ทหาร ตำรวจ ตชด. และครู โดยมุ่งทำความเข้าใจแนวทางสันติวิธี รับฟังความเห็นและความรู้สึก ซึ่งก็พบว่าหลายคนทำงานด้วยความกดดัน และไม่รู้จะเลือกใช้สันติวิธีในรูปแบบไหน

“ทางเราก็อธิบายไปว่าการใช้สันติวิธีใช่ว่าจะเป็นการอยู่เฉยๆ หากแต่มีวิธีการทำในกรอบของกฎหมายได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง”

พระไพศาล อธิบายให้ฟังว่า จากการลงพื้นที่พบว่าหลายหน่วยงานยังมีความไม่เข้าใจรูปแบบของการใช้แนวทางสันติวิธี แต่ในส่วนของ ตชด.และทหารที่มาจากกองทัพภาค 2 ซึ่งเป็นหน่วยทหารพัฒนาในภาคอีสาน ที่ทำงานมวลชนผ่านการส่งเสริมอาชีพ สร้างความไว้วางใจให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ในขณะที่บางหน่วยงานกลับเข้าใจว่างานพัฒนาเหล่านี้ไม่ได้เป็นหน้าที่โดยตรงของตนเพราะว่ามีหน่วยงานราชการทำอยู่แล้ว

“สะท้อนให้เห็นว่าแนวทางการทำงานของหน่วยงานเองก็ยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ยังไม่เข้าใจการทำงานสันติวิธี และมีข้อจำกัดของทักษะของงานด้วย”

ส่วนคณะทำงานพัฒนาแนวทางสันติวิธีในภาคประชาชน ก็เข้าหาผู้นำมุสลิม ปัญญาชนมุสลิม และผู้ที่เคยมีบทบาทในขบวนการใต้ดินในอดีต เพื่อแลกเปลี่ยนและนำเสนอทางเลือกสันติวิธีในการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลาม โดยต่างก็ชี้ว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธีไม่ใช่เป็นการงอมืองอเท้า หรือยอมจำนนเสมอไป ซึ่งได้รับข้อคิดเห็นที่ดีมาก

“ที่เราพบว่าจริงๆแล้วในสังคมมุสลิมชายแดนใต้ มีแนวทางสันติวิธีหลายกระแสเลยทีเดียว ที่น่านำมาลองใช้”

ส่วนคณะทำงานรณรงค์การใช้สันติวิธีในสังคมไทย มีข้อเสนอ 4 โครงการภายใต้แนวคิด”สื่อเพื่อสันติภาพ” ที่จะนำเสนอในที่ประชุมใหญ่ของ กอส.ในวันนี้ อันได้แก่ การจัดตั้ง”โต๊ะข่าวภาคใต้”ร่วมกับทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขึ้นที่ มอ.ปัตตานี เพื่อทำหน้าที่รวบรวมและกลั่นกรองข่าวสารที่รอบด้านที่เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ โดยจะขอความร่วมมือแต่ละสำนักข่าวให้ส่งนักข่าวของตนมาประจำชั่วคราวเพื่อศึกษาเรียนรู้สภาพพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีโครงการทบทวนการนำเสนอข่าวในภาคใต้มาเป็นบทเรียน ผ่านการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โครงการจัดทำคู่มือรายงานข่าวความมั่นคง และโครงการห้องเรียนสันติวิธีและความหลากหลายทางวัฒนธรรมสำหรับนักข่าว

ส่วนคณะอนุกรรมการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทยและคณะอนุกรรมการส่งเสริมพลังความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย ที่ถึงแม้จะลงพื้นที่ไปบ้างแล้ว แต่ด้วยภารกิจที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาในระยะยาว จึงอาจทำให้ยังไม่มีความคืบหน้ามากเท่าอนุกรรมการชุดอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น