xs
xsm
sm
md
lg

พลิกแฟ้มมือสังหาร “ซา การิม” แกนนำกลุ่มพูโล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การจับกุมตัวนายกอเซ็ง เจะเลาะ หรือชื่อจัดตั้ง "ซา การิม" ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร ระบุว่า เป็นหัวหน้าขบวนการพูโลและเป็นหัวหน้าการก่อวินาศกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจับกุมได้ในขณะหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยทางด้าน อ.นาทวี จ.สงขลา ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่ายังมีผู้ร่วมขบวนการอีกหลายคนที่ติดตาม "นายกอเซ็ง" เข้ามาเพื่อที่จะเข้ามาก่อเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้นำตัว "นายกอเซ็ง" ไปสอบขยายผลแต่เขายังคงให้การปฏิเสธ และกำลังเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งได้ปิดล้อมพื้นที่ ซึ่งคาดว่าผู้ร่วมขบวนการที่ติดตามมาอาจจะกระจายอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง

หาก กอเซ็ง เจะเลาะ ไม่ได้เป็นแค่ชายชาวสวนยางดังที่เขาให้การกับเจ้าหน้าที่ และหากเขาคือ “กอเซ็ง เจะเลาะ” หรือ “ซา การิม” คนเดียวกันกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำโจรก่อการร้าย ข้อมูลจากแฟ้มคดีที่ทางการไทยบันทึกไว้ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ “สันติภาพในเปลวเพลิง” หน้าที่ 317 – 318 ระบุว่า เขามีชื่ออยู่ทั้งหมด 5 ชื่อ คือ กอเซ็ง เจาะเลาะ, ซา การิม, เซ็งซา, การิง แลแวะ, เซ็ง แลแวะ โดยมีค่าหัว 100,000 บาท

ซา การิม เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2496 ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านเลขที่ 12 หมู่ที่ 4 บ้านแลแวะ ตำบลโล๊ะแมะนา อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ที่อยู่ปัจจุบัน เช่าบ้านอยู่ที่สามแยกในตลาดบาเจาะ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยเปิดร้านอาหารชื่อ เซ็งซา ขายข้าวแกงและโรตีอยู่ทางไปสนามบินเปิงกาลันจือปอ ใกล้ปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ โกตาบารู รัฐกลันตัน แต่ข่าวบางกระแสระบุว่าเขาปลูกผักขายอยู่แถวสี่แยกปินยา ถนนสายโกตาบารู – บาเจาะ รัฐกลันตัน

ซา การิม มีเชื้อชาติมาลายู ได้สัญชาติมาเลเซียและไทย นับถือศาสนาอิสลาม มีบิดาชื่อ เปาะจิ เจะเลาะ มารดาชื่อ สิเมาะ ทั้งสองไม่ได้อยู่ด้วยกัน โดยนายเปาะจิ แต่งงานใหม่กับนางกรือซง

ซา การิม มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย ประเทศลิเบีย หลักสูตร 4 ปี ได้รับยศร้อยโท ข้อมูลในแฟ้มระบุตำแหน่งในขบวนการพูโลว่า หัวหน้าปฏบัติการในเมือง

ความผิดติดตัวของเขาเริ่มจากคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ตามหมายจับ สถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งยางแดงที่ 1/2537 คดีที่ 13/2537 ตามบันทึกของทางราชการเขาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการฝึกอบรมสมาชิกหน่วยปฏิบัติการในเมือง พร้อมทั้งร่วมวางแผนและสั่งการให้สมาชิกปฏิบัติการก่อการร้ายหรือวินาศกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดน

ในบันทึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของเขาครั้งแรกเมื่อกลางปี 2538 คือ ร่วมกับหะยีดาโอะ ท่าน้ำ เจะกูอาดือนัน และครูฝึกชาวลิเบีย ซีเรีย 71 คน ทำการฝึกอบรมสมาชิกหน่วยวินาศกรรม ที่ซอยโรตีอาลัน ถนนเปิงกาลันจือปอ โกตาบารู รัฐกลันตัน นาน 15 วัน

หลังจากนั้น ได้ส่งสมาชิกชุดชะ 10 คนเข้ามาฝึกในพื้นที่เทือกเขาเมาะแตหลายครั้ง และในปลายปีเดียวกัน ได้ส่งสมาชิกมาลอบเผาโรงเรียนทุ่งเหรียง หมู่ 2 ตำบลยุโป อำเภอเมือง ยะลา และทิ้งจดหมายลงชื่อ ซา การิม สัญลักษณ์พูโลใหม่ ข้อความเป็นภาษาอังกฤษ มีเนื้อหาเรียกร้องให้ทางการปล่อยแนวร่วมของขบวนการที่จับไว้ในปลายปี 2545 เขาเดินทางจากมาเลเซียพร้อมด้วยสมาชิกอื่นอีก 3 คน เข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่อำเภอศรีสาคร บุคคลที่ร่วมเดินทางมากับเขาทราบว่าชื่อ รีดวน (Riduan) ชาวมาเลเซีย ทราบว่าเป็นสมาชิกขบวนการเจไอ

ในรายงานของสายข่าวทหารไม่ได้ระบุว่า รีดวนคนนี้เป็นคนเดียวกับ Riduan Iasmuddin หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ฮัมบาลี หรือไม่ และอีกคนหนึ่งเป็นชาวอินโดนีเซีย ไม่ทราบชื่อ ในรายงานไม่ทราบแน่ชัดว่าเขามาเคลื่อนไหวอะไร และหลังจากนั้น ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของ ซา การิม อีก กระทั่งมีรายงานข่าวล่าสุดว่าเขาถูกจับกุมเมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) 

 ข้อมูลจากหนังสือ สันติภาพในเปลวเพลิง หน้า 170 171 บันทึกว่า สถานะปัจจุบันของพูโลว่า มีการเคลื่อนไหวใน 2 ลักษณะ คือ พูโลเก่า ภายใต้การนำของ ลุกมานบินลีมา มีฐานการเคลื่อนไหวในสวีเดน ใช้การโฆษณาชวนเชื่อโดยผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต Pulo.org ซึ่งมักจะถูกทางการไทยปิดกั้นอยู่เสมอ

ส่วนอีกทางหนึ่ง คือ กลุ่มพูโลใหม่ ยังคงมีการต่อสู้ด้วยอาวุธเหลืออยู่ไม่มากนัก เท่าที่มีรายงานอยู่ในสายข่าวทางด้านความมั่นคง เหลือกลุ่มเคลื่อนไหวสำคัญคือ กลุ่มของ ปะดอเฮง ดาเล็ง มีกำลังประมาณ 4-6 คน เคลื่อนไหวอยู่ในเขตอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส กลุ่มมาโซ ตาเยะ มีกำลังประมาณ 15 คน เคลื่อนไหวอยู่ในเขตอำเภอแว้ง อำเภอสุคีริน จังหวัดนราธิวาส และบางส่วนในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา


ตำรวจเชื่อว่า กลุ่มของ มาโซ ตาเยะ เป็นกลุ่มที่โจมตีสถานีตำรวจภูธรอำเภออัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2547 มีการปลุกระดมและฝึกอบรมเยาวชนจำนวนหนึ่ง เพื่อแบ่งแยกดินแดน โดย ซา การิม สมาชิกคนสำคัญที่อยู่ในมาเลเซีย เป็นผู้วางแผนและสนับสนุนค่าใช้จ่าย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 70,000 บาท


เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า กลุ่มพูโลใหม่ พยายามสร้างสมาชิกใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อรักษาสถานภาพขององค์กรให้สามารถเคลื่อนไหวต่อไปได้ ผู้ต้องหาคนหนึ่ง ที่ถูกจับกุมหลังการถล่มสถานีตำรวจอัยเยอร์เวง บอกว่า พูโลใหม่ ได้ฝึกให้เยาวชนในเขตอำเภอเบตง ประมาณ 7-8 คน หัดประกอบระเบิดแสวงเครื่อง โดยมีครูฝึกฝนให้ 2 คน


เจ้าหน้าที่ยังเชื่อว่า อับดุลเลาะห์ ดือราแม ผู้ต้องหาที่ถูกจับเมื่อปลายเดือนมกราคม 2547 ในคดีลอบวางระเบิดที่หน้าบริษัทพิธานพาณิชย์ ปัตตานี เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547 เป็นครูฝึกหัวหน้ากลุ่มย่อยที่ 1 ของพูโลใหม่ รับผิดชอบพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง ปัตตานี


นอกจากนี้ ยังมีคนอื่นๆ ที่ทำการฝึกในลักษณะเดียวกันอีก 2 3 กลุ่ม และสามารถฝึกเยาวชนแล้วไม่ต่ำกว่า 100 คน แต่ยังไม่มีแหล่งข้อมูลใดที่ยืนยันว่ามีการรับเยาวชนเข้าสู่ขบวนการอย่างแน่นอนพอที่จะเสริมสร้างให้องค์กรมีการขยายตัวใหญ่โตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งหลังลดลงอย่างมากในทศวรรษ 1980


ถึงเวลานี้ จึงไม่สามารถประเมินได้ว่า พูโล มีสภาพขบวนการที่ใหญ่โตขึ้นมาเพียงใดในปัจจุบัน .


 

 

กำลังโหลดความคิดเห็น