xs
xsm
sm
md
lg

ท่าเรือน้ำลึกปากบารา(3) นิเวศน์และท่าเรือ ข้อแลกเปลี่ยนที่คุ้มกันแค่ไหน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย รอมฎอน ปันจอร์ / ทีมข่าวพิเศษ

โครงการครึ่งหมื่นล้านของรัฐบาลไทยรักไทย กำลังจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าเมืองสตูล จากเป็นติ่งจังหวัดเล็กๆ ริมทะเลอันดามัน ดำรงสถานะเป็นจุดหมายปลายทางอันเลื่องชื่อของผู้แสวงหาความสวยสงบจากท้องทะเลและฟ้าครามกลางอันดามัน ให้กลายเป็นเมืองท่าเรือที่ช่วงชิงความสำคัญในการส่งสินค้าเศรษฐกิจและพร้อมสรรพด้วยระบบคมนาคม เพื่อเพิ่มกราฟเศรษฐกิจให้กับภาคใต้ตอนล่างและท้องถิ่นสตูล เป็นการเพิ่มไปด้วยความชันเดียวกันกับกราฟคะแนนนิยมของพรรคไทยรักไทยใน จ.สตูล

ถึงกระนั้น ใช่ว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นเหตุผลให้มุทะลุดำเนินโครงการอย่างไม่ดูซ้ายดูขวาเสียทีเดียว ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจึงมักถูกหยิบยกขึ้นมาเทียบเคียงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เสมอ ไม่ว่าจะด้วยหลักเกณฑ์ในกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ระบุให้ผู้ดำเนินโครงการต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือด้วยจิตสำนึกแห่งความความรับผิดชอบก็ตาม

……………………….

ย้อนไปก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เคยทำการศึกษาที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกที่ บ้านบุโบย อ.ละงู จ.สตูล แต่มีข้อจำกัดที่ต้องขุดร่องน้ำในปริมาณมาก อีกทั้งยังมีป่าชายเลนเป็นประเด็นอ่อนไหวส่งผลให้ต้องเปลี่ยนพื้นที่ศึกษา

จากการศึกษาของ SEATEC (ซีเทค) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับการว่าจ้างจากกรมการขนส่งทางน้ำฯ พบว่าบริเวณที่มีความเหมาะสมมากที่สุดในการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกใน จ.สตูล คือบริเวณปากชายฝั่งทะเลปากคลองปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู ตั้งอยู่ใกล้กับปากน้ำปากบาราอันเป็นคลองสายหลักที่ไหลผ่านชุมชนและป่าชายเลนก่อนออกสู่ทะเลอันดามัน ทั้งนี้ท่าเทียบเรือจะมีการถมทะเลในสองพื้นที่คือ บริเวณท่าเทียบเรือช่วงหัวเกาะเขาใหญ่ขนาด 165 ไร่ และบริเวณอาคารสำนักงานและลานจอดรถอีก 600 ไร่ ในบริเวณสันดอนทรายขนาดใหญ่หน้าชายหาด 
ทั้งหมดอยู่ใจกลางเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราพอดิบพอดี

จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 49 เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2527 มีพื้นที่ครอบคลุมเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 22 เกาะ ในเนื้อที่ 494.38 ตร.กม. โดยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นน้ำราว 94.7% ของพื้นที่ทั้งหมด ที่เหลือเป็นเกาะภูเขาหินปูน มีสภาพเป็นป่าดงดิบ ป่าชายหาด และบางส่วนเป็นป่าชายเลน ด้วยความสวยงามของทิวทัศน์เกาะน้อยใหญ่ที่ไม่โด่งดังนี้ กอปรกับทิวทัศน์ใต้ทะเลริมชายฝั่งของบางเกาะในอุทยานแห่งนี้ ทำให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวผู้รักสงบได้เป็นอย่างดี

กล่าวสำหรับเกาะเขาใหญ่ใกล้พื้นที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือนั้น ข้อมูลของกรมอุทยานฯ ระบุว่า “เกาะเขาใหญ่เป็นปฏิมากรรมของธรรมชาติที่คล้ายกับปราสาทหิน มีสะพานธรรมชาติยื่นโค้งเข้าไปในทะเล เมื่อน้ำลดสามารถพายเรือลอดเข้าไปได้ บนเกาะมีอ่าว ชื่ออ่าวก้ามปู ภายในอ่าวมีน้ำตกไหลมาเป็นลำธารเล็กๆ เป็นอ่าวที่สงบปราศจากคลื่นลมตลอดปีเวลาน้ำลดระดับต่ำสุด แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลจะปรากฎให้เห็นตลอดแนวชายฝั่ง นอกจากนี้บริเวณอ่าวก้ามปูจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่อีกด้วย”

กิตติคุณ ธรรมโชติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับการประสานงานจากหน่วยงานหรือบริษัทเอกชนใดๆ เลย แต่หากมีการจะสร้างท่าเทียบเรือจริง ก็ต้องมีการทำเรื่องขอใช้พื้นที่ยื่นที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนทางอุทยานฯ จะทำหนังสือเสนอความเห็นประกอบการตัดสินใจ ขณะที่ตอนนี้ยังไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมได้ เนื่องจากยังไม่ทราบรายละเอียดตัวโครงการ ส่วนผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนร่องน้ำ การเปลี่ยนกระแสน้ำจืดน้ำเค็มตรงปากน้ำ ปริมาณตะกอนที่จะเกิดขึ้น จะขึ้นอยู่กับรูปแบบของการออกแบบโครงการเป็นสำคัญ

จักรภพ จรัสศรี ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมของซีเทค กล่าวในเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ จ.สตูล ว่า จากการศึกษาของซีเทคพื้นที่โครงการที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรานั้น เห็นควรจัดการโดยการขอเพิกถอนพื้นที่โครงการออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ โดยให้กรมการขนส่งทางน้ำฯ เสนอต่อกรมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนเข้า ครม.เพื่อลงเป็นมติ ครม. จากนั้นจึงให้หน่วยงานที่มีอำนาจสั่งการต่อไป

ส่วนที่ดินที่อยู่นอกเขตอุทยานที่ต้องจัดหาเพิ่มเติม จะต้องมีการสำรวจ ประเมินราคา และเจรจาขอซื้อกับเจ้าของที่ดินต่อไป

จากผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเบื้องต้นของซีเทค จักรภพ ชี้แจงว่า ในระยะดำเนินการผลกระทบที่เด่นชัดประการหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงสภาพชายฝั่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ท่าเทียบเรือทำให้ทิศทางและความเร็วของกระแสน้ำเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดการตกตะกอนและการกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะบริเวณชายหาดทางเข้าท่าเทียบเรือจะมีอัตรา

“ระดับผลกระทบให้หลัง 10 ปี จะมีพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะไป 9 ไร่ โดยจะมีพื้นที่งอกมา 7 ไร่ หากภายหลัง 20 ปี จะมีพื้นที่กัดเซาะ 16 ไร่ ขณะที่มีพื้นที่งอก 9 ไร่”

ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมของซีเทค ให้ข้อมูลต่อว่า องค์ประกอบที่พิจารณาผลกระทบประเด็นนี้จะมุ่งพิจารณาที่โครงสร้างท่าเทียบเรือ (ขนาด 165 ไร่) เขื่อนกันคลื่น (ความยาว 1,350 เมตร) พื้นที่กองเก็บสินค้า (ขนาดประมาณ 600 ไร่) และสะพานเชื่อมระหว่างพื้นที่ท่าเรือกับลานกองเก็บสินค้าและชายฝั่ง

ทั้งนี้ มารตการในการป้องกันที่ซีเทคแนะนำคือ สร้างแนวป้องกันชายฝั่งในบริเวณที่จะเกิดการกัดเซาะ และเสนอมาตรการติดตามตรวจสอบโดยทำการสำรวจความลาดชันของชายหาดตลอดแนวทุกปีเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลง

จักรภพ ชี้แจงต่อว่า ในระยะดำเนินการจะมีผลกระทบที่สำคัญอีกประการคือ ความขุ่นของน้ำจากตะกอนที่เกิดจากการขุดรักษาร่องน้ำ ซึ่งจะมีมาตรการในการติดตั้งม่านกันตะกอนล้อมพื้นที่ขุดลอกและควบคุมให้ลดตะกอนให้มากกว่า 80%

นอกจากนี้ ในระยะก่อสร้างยังมีผลกระทบอีกหลายประเด็น เช่น เรื่องเสียงจากการก่อสร้าง การคมนาคมทางบกและทางน้ำที่อาจได้รับผลกระทบบ้าง และความขุ่นของน้ำทะเลที่เกิดจากการขุดลอกร่องน้ำ การถมทะเล และการสูบถ่ายวัสดุขุดลอกทางท่อ โดยซีเทคเสนอมาตรการป้องกันความขุ่นนี้ด้วยการใช้เรือขุดที่มีการฟุ้งกระจายต่ำ ปิดล้อมพื้นที่ที่มีกิจกรรมอันจะทำให้มีการกระจายของตะกอน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จักรภพ ให้ข้อมูลโดยสรุปว่า การก่อสร้างท่าเทียบเรือไม่มีการใช้พื้นที่ป่าชายเลน ไม่มีการขุดเจาะ ทำลาย เกาะแก่ง โขดหิน พืชพรรณ รวมทั้งปะการังธรรมชาติ ไม่มีการใช้พื้นที่ชุมชนปากบารา(ยกเว้นบริเวณทางเข้าท่าเรือ) การขุดลอกร่องน้ำจะไม่มีการนำวัสดุจากการขุดลอกไปทิ้งในทะเล แต่จะนำไปใช้ถมพื้นที่แทน และจากการสำรวจไม่พบชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่หายากใกล้สูญพันธุ์ ที่สำคัญคือประชาชนในท้องถิ่นสนับสนุนโครงการ

ทั้งนี้ จักรภพ ยังให้ข้อมูลทิ้งท้ายอีกว่า หลังจากนี้จะส่งรายงาน EIA ให้ สผ. พร้อมกับการออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรม โดยอยู่ในช่วงเวลาปี 2548 – 2549 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้เมื่อปลายปี 2549 และแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2552

อารี ติงหวัง ชาวประมงเรือเล็ก อ.ละงู และกรรมการสหพันธุ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ จ.สตูล กล่าว-ในเวทีข้างต้นว่า เป็นห่วงผลกระทบด้านสังคมที่จะตามมาหลังการดำเนินงานของท่าเทียบเรือ พร้อมตั้งคำถามว่าได้มีการเตรียมการรองรับผลกระทบด้านนี้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากตนเห็นว่าการมีท่าเทียบเรือน้ำลึกจะเร่งให้ท้องถิ่นมีความเจริญไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่วัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ทันกระทั่งสูญสลายไป นอกจากนี้อาชีพประมงขนาดเล็กที่อยู่ในแถบ ต.ละงู ต.ปากน้ำ และ ต.เกาะสาหร่าย ของ อ.ละงู ซึ่งมีอยู่ราว 500 ลำ จะได้รับผลกระทบต่อจำนวนสัตว์น้ำและอาชีพของตนมากน้อยเพียงใด

ด้าน สวัสดิ์ โชควิเศษมยุรา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.สตูล ให้ความเห็นว่า แม้ว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวของ จ.สตูล จะซบเซาลงไปบ้างในปีนี้ แต่จากสถิติในปี 2546 ที่ระบุว่ามีนักท่องเที่ยวผ่านสตูลไปเที่ยวเกาะลังกาวีของมาเลเซียราว 8 หมื่นคน และเที่ยวเกาะในทะเลของสตูลราว 5 หมื่นคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างคงที่ เนื่องมาจากห้องพักและสาธารณูปโภคที่จะรองรับนักท่องเที่ยวของสตูลจำกัดเพียงเท่านี้

สวัสดิ์ เห็นว่า การสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกที่วางไว้ว่าจะสร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามาอีก 1 ท่านั้น นอกจากจะสามารถดึงผู้คนให้มาสตูลเพิ่มเข้ามา และทำให้การท่องเที่ยวของสตูลเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้สิ่งที่จะตามมาทันทีคือการกระตุ้นให้มีการสร้างโรงแรมและรีสอร์ทเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายความถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของ จ.สตูลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม ให้ความเห็นว่า จากการติดตามผลกระทบของการพัฒนาในภาคตะวันออกของประเทศไทย พบว่า การสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกหลายแห่งมักมีผลกระทบต่อชายฝั่งอย่างมาก การถมทะเลและการขุดลอกร่องน้ำที่จะเกิดขึ้น จะทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนแปลงไป และทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งตามมา ส่งผลกระทบครอบคลุมต่อชุมชนริมทะเลกระทั่งถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้นๆเลยทีเดียว

“การกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ระยองผ่านบทรียนเหล่านี้มา และขณะนี้ก็ยังแก้ไม่ได้เลย ถนนขาด น้ำทะเลก็ห้ามเล่น รีสอร์ทริมทะเลร้าง ไม่มีนักท่องเที่ยว แม้กระทั่งบ้านพักตากอากาศของคนมีฐานะก็ยังร้าง ต้องมีการสร้างเขื่อนป้องกันชายฝั่งไปเรื่อยๆ ที่มาบตาพุด (ระยอง) ใช้งบโดยรวมราว 270 ล้านบาทยังเอาไม่อยู่”

เพ็ญโฉม ยังตั้งข้อสังเกตว่า คนท้องถิ่นรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับท่าเทียบเรือมากน้อยแค่ไหน เช่น การรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เช่น คนท้องถิ่นจะได้อะไร เป็นผลดีต่อประเทศชาติอย่างไร เป็นต้น และการรับรู้ข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น แนวการกัดเซาะที่จะเกิดขึ้นอยู่ที่ใดบ้าง ริดรอนที่ดิน สิ่งปลูกสร้างอะไร ของใครไปบ้าง และจะมีค่าชดเชยหรือหลักประกันหรือไม่อย่างไร

“สิ่งสำคัญคือรัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้บอกกล่าวแก่คนในท้องถิ่นทุกอย่างหรือเปล่า และวางหลักประกันให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร ในอดีตที่ระยองไม่มีอย่างนี้ จึงเกิดปัญหาถึงทุกวันนี้”

ดร.เริงชัย ตันสกุล อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญคือเจ้าของโครงการต้องเปิดเผยข้อมูลให้กับคนท้องถิ่น ให้สมเหตุสมผลเพียงพอที่จะมาก่อสร้าง ไม่ใช่บอกเพียงบางส่วน และเก็บอีกส่วนนั้นไว้ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มักมีรูปการณ์อย่างนี้

ดร.เริงชัย กล่าวอีกว่า ชาวสตูลไม่เคยมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มาก่อน อยู่กันอย่างสบาย มีกุ้ง ปลา ปูอุดมสมบูรณ์ การตั้งคำถามต่อการพัฒนาจึงยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะขาดการรับรู้ข้อมูลทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น และขาดการเรียนรู้บทเรียนผลกระทบในที่อื่นๆ ที่ผ่านการพัฒนาคล้ายกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น