วันนี้ (25 ก.ค. 2568) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำศาสนาในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่ทางเลือกที่สร้างสรรค์ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกลไกระดับพื้นที่ในการเป็นต้นแบบ (ครู ก.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ณ โรงแรมเซาท์เทิร์นวิวปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมีพันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานเปิดพิธีและพบปะผู้เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา ผู้แทนบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิและเยาวชนในพื้นที่ อ.กาบัง จ.ยะลา อ.เมืองปัตตานี อ.บาเจาะ และ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส อ.นาทวี จ.สงขลา รวมถึงผู้นำจากพื้นที่ จ.สตูล เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จำนวน 100 คน เพื่อพัฒนาศักยภาพภาวะผู้นำ ให้มีความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ
กิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองฯ นี้ ดำเนินการขึ้นเพื่อต่อยอดองค์ความรู้และทักษะจำเป็นในการปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคมในการเป็นต้นแบบ (ครู ก.) จำนวน 10 อำเภอ ให้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ บูรณาการขับเคลื่อนงานในการแก้ไขปัญหา ป้องกันและสร้างสันติสุข
ในการนี้ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวพบปะผู้เข้าร่วมกิจกรรมตอนหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้นำเครือข่ายภาคประชาสังคม เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งเป็นทั้ง "นักปฏิบัติ" และ "นักนโยบาย" สู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลในพื้นที่ จชต. เป็นกลไกสำคัญของประเทศ เป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการดูแลญาติพี่น้องในพื้นที่ของตนเอง ซึ่ง ศอ.บต. พร้อมเป็นเครื่องมือ ในการสนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนา จชต. ตามความต้องการของประชาชน เนื่องจากผู้นำในระดับพื้นที่เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ครู ก. เป็นพยัญชนะตัวแรก นั่นหมายความรวมถึง "ครูผู้ริเริ่ม" เป็นต้นทางของกระบวนการในการพัฒนาชุมชนให้เป็นกลุ่มก้อน เพียงขอให้อย่าหมดความตั้งใจในการพยายามที่จะยกระดับพื้นที่ เพื่อประชาชนและประเทศชาติของเราให้มีความสงบสุข เข้าใจ และอยู่ดีกินดี
สำหรับคำว่า "ครู ก." จากหนังสือกระทรวงมหาดไทยมีนัยว่า เป็นวิทยากรระดับจังหวัด ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่ให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เกิดความตระหนักรู้ สำนึกในคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรม ที่บรรพบุรุษได้ทำการสั่งสมไว้ สร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ส่งเสริมให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชาติ