xs
xsm
sm
md
lg

ประธานรัฐสภา-รมว.ยุติธรรมร่วมงานวันชาติสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ร่วมงานวันชาติสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล กรุงเทพฯ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะ ประกอบด้วย นายรวิศ สอดส่อง หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, นางสาวอทิตยา ทองบุญ ผู้อำนวยการ กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมงานเลี้ยงเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 73 ปี วันชาติสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ จัดโดย สถานเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย โดยมี นางฮาละฮ์ ยูซุฟ อะห์มัด เราะญับ (Mrs. Hala Youssef Ahmed Ragab) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย นำเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอียิปต์ ให้การต้อนรับ รวมทั้งมี นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ร่วมเป็นเกียรติในงานด้วย

ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้นและยาวนานระหว่างไทย - อียิปต์ นับตั้งแต่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 2497 บนพื้นฐานของความเชื่อใจ และเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งรวมเป็นระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษ โดยอียิปต์เป็นประเทศในกลุ่มประเทศอาหรับประเทศแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์กันทางทวิภาคีในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการเมือง การค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการพัฒนาด้านการศึกษาผ่านมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร รวมทั้งความร่วมมือในกรอบพหุภาคีร่วมกับองค์การสหประชาชาติ และองค์กรระดับภูมิภาคต่าง ๆ

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ ระหว่างกระทรวงยุติธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เกิดเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนและขยายความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ประชาชนของทั้งสองประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์มีความร่วมมือกันในหลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการศึกษา ในระดับอุดมศึกษาได้มีความร่วมมือด้านวิชาการและการส่งอาจารย์จากอียิปต์มาสอนในมหาวิทยาลัยไทย รวมทั้งจัดส่งครูมาสอนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน และมีนักศึกษาไทยมุสลิมที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของอียิปต์กว่า 3,000 คน ซึ่งมีกว่า 600 คน ได้รับทุนจากไทย โดยทางอียิปต์ยังได้มอบทุนแก่นักศึกษาไทยเป็นกรณีพิเศษอีก 160 ทุน แบ่งเป็นสาขาศาสนาและอิสลามศึกษา 80 ทุน สาขาวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ 80 ทุน ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ไทยและอียิปต์อยู่ระหว่างการทำบันทึกความเข้าใจสำหรับการพัฒนาศูนย์ภาษาอาหรับ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านภาษาอาหรับแก่นักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อที่ประเทศอียิปต์ โดยไทยเห็นความสำคัญของการสื่อสารภาษาอาหรับ เพราะไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของกลุ่มนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง ด้านอียิปต์พร้อมร่วมมือกับไทยในการเปิดศูนย์พัฒนาภาษาอาหรับ ซึ่งเชื่อว่าโครงการที่มีประโยชน์สำหรับนักศึกษาไทย

ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ อียิปต์ได้แสดงความชื่นชมบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องถึงการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อความมั่นคงและสันติภาพที่ยั่งยืน

รัฐบาลไทยวางตัวเป็นกลาง และสนับสนุนแนวทางสองรัฐ (Two-State solution) และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความพยายามในการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและสันติ พร้อมขอบคุณอียิปต์ที่ช่วยเป็นตัวกลางการเจรจาเพื่อให้ปล่อยตัวประกันชาวไทย และขอรับความสนับสนุนจากฝ่ายอียิปต์ต่อไปในการเจรจา เพื่อช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยที่เหลืออยู่

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้พิจารณามอบเงินบริจาคเป็นจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่สภาเสี้ยววงเดือนแดงของอียิปต์ (Egyptian Red Crescent) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนปาเลสไตน์ โดยจะส่งมอบเงินผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ต่อไป โดยอียิปต์เห็นพ้องในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสันติและยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น