xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาเตรียมเรียกนายกฯ แจงปัญหาชายแดนไทย–กัมพูชา สามจังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะกรรมาธิการทหารและความมั่นคงของรัฐ เตรียมจัดเสวนา “ความมั่นคงกับอนาคตประเทศไทย” 16 ก.ค. จ่อเรียก “นายกรัฐมนตรี” แถลงข้อเท็จจริงเรื่องความมั่นคงพื้นที่ชายแดนกัมพูชา และจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากการเปิดเผยของ พลเอกสวัสดิ์ ทัศนา ประธานกรรมาธิการคณะทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ว่า จากสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ด้านชายแดนไทย–กัมพูชา ที่สถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ยังมีการยั่วยุจากฝ่ายกัมพูชา และมีการปิดพรมแดนที่ส่งผลกระทบทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนแนวชายแดน รวมทั้งปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีการก่อเหตุความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น กรรมาธิการทหารและความมั่นคงของรัฐ จึงมีมติให้เชิญนายกรัฐมนตรีมาแถลงถึงข้อเท็จจริงของสถานการณ์ และขอทราบนโยบายในการแก้ปัญหา ตามรายละเอียดดังนี้

1. การเรียกนายกรัฐมนตรีมาแถลงข้อเท็จจริงและ/หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ กรณีปัญหาพื้นที่ชายแดนประเทศไทย
คณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ได้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามที่ปรากฏเผยแพร่ต่อสาธารณะ ต่อกรณีข้อพิพาทบริเวณแนวชายแดนไทยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการปกป้องอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และผลประโยชน์ของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยพิจารณาเห็นว่า ข้อพิพาทบริเวณแนวชายแดนไทยเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างสูงยิ่งต่อการปกป้องอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และผลประโยชน์ของประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกฎหมายบัญญัติไว้
ทั้งยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของพี่น้องประชาชนคนไทยผู้รักชาติ อีกทั้งฝ่ายกัมพูชาได้ดำเนินการทุกวิถีทางอันไร้ความจริงใจ และความพยายามเพื่อให้ได้เปรียบประเทศไทยอย่างถึงที่สุด และตามที่ได้เคยมีการแถลงการณ์เกี่ยวกับการปกป้องอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และผลประโยชน์ของชาติในทุกมิติ รวมทั้งจะติดตามตรวจสอบความคืบหน้าของสถานการณ์ชายแดนไทยอย่างใกล้ชิดและเต็มความสามารถ ภายใต้กรอบบทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้ (พระราชบัญญัติอำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2568)

คณะกรรมาธิการจึงเห็นว่ามีความจำเป็นและเหตุในการเรียกนายกรัฐมนตรีมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการด้วยตนเอง พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณา เพื่อชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณากรณีปัญหาทางทหารและความมั่นคงพื้นที่ชายแดน ในวันที่ 24 กรกฎาคม ในการประชุมกรรมาธิการทหารและความมั่นคงของรัฐของประเทศไทย ในประเด็นข้อซักถาม ดังนี้
1) ประเด็นจุดยืนและแนวปฏิบัติข้อพิพาทบริเวณพื้นที่ชายแดนประเทศไทย–ประเทศกัมพูชา (กรณีเร่งด่วน) จำนวน 12 ข้อ
อาทิ จุดยืนต่อ MOU พ.ศ. 2543 และ MOU พ.ศ. 2544 หรือการละเมิด MOU อย่างต่อเนื่องจากฝ่ายกัมพูชา ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 มีหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงการต่างประเทศหลายร้อยฉบับ หรือการแก้ไขปัญหาและยุติการรุกล้ำขยายชุมชนของชาวกัมพูชาในพื้นที่ชายแดนไทยอย่างเด็ดขาด เป็นต้น
2) ประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 5 ข้อ
อาทิ การแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้การปฏิบัติการในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ มีความยุติธรรม และคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือการปกป้องและดูแลประชาชนชาวไทยทุกกลุ่มในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวไทยพุทธที่ยังอยู่ในพื้นที่ เป็นต้น
3) ประเด็นความปลอดภัยไซเบอร์และการต่อต้านการฟอกเงิน จำนวน 2 ข้อ
อาทิ การขจัดธุรกรรมผิดกฎหมายหรือที่ต้องสงสัย เพื่อป้องกันหรือปราบปรามและช่วยเหลือคนไทยให้ปลอดภัยจากฉ้อโกงออนไลน์ และการฟอกเงินที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนต่างชาติ ด้วยระบบ AI และ Machine Learning อย่างเต็มรูปแบบ

2. การจัดโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ความมั่นคงกับอนาคตประเทศไทย”

คณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา กำหนดจัดในวันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมหมายเลข 406–407 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) เพื่อให้วุฒิสภาเป็นเวทีในการรับฟัง รับรู้ ถกแถลงแนวคิด และแลกเปลี่ยนมุมมองในหลายมิติของข้อคิดเห็น อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่เกิดขึ้น และมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของประเทศไทยที่มั่นคง เพื่อให้พร้อมรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา ที่มีความขัดแย้งด้านพรมแดนบริเวณรอบปราสาทและพื้นที่อ้างสิทธิ์ตลอดแนวชายแดน ซึ่งมีการใช้สงครามข่าวสาร (Information Warfare) และสงครามจิตวิทยา (Psychological Warfare) ที่ส่งผลให้เกิดความสับสนกับหน่วยปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ และสร้างความสับสนของสังคมส่วนใหญ่ด้วย

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้ ได้แก่:
รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์นโยบายและการเมือง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทำหน้าที่วิทยากรผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการคาดหวังว่าโครงการเสวนาทางวิชาการ “ความมั่นคงกับอนาคตประเทศไทย” จะทำให้ได้รับข้อมูลและข้อเสนอแนะที่สามารถนำไปขับเคลื่อนงานความมั่นคงในเชิงนโยบาย สู่การสร้างความมั่นคงของชาติ และสร้างความเข้าใจอันดีต่อประชาชนในบทบาทของรัฐหรือฝ่ายบริหาร และวุฒิสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อการพิทักษ์อธิปไตย ผลประโยชน์ และความมั่นคงของชาติในปัจจุบันและอนาคตอย่างแท้จริง ซึ่งในการจัดเสวนาครั้งนี้ จะมีผู้สนใจและสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น