ศูนย์ข่าวภูเก็ต – องค์การอนามัยโลก (WHO) พร้อมสนับสนุนรัฐบาลไทย ด้านสาธารณสุข ยืนยันไทยไม่มีโรคระบาด ขณะที่การตรวจสอบศพชาวต่างชาติ เป็นเรื่องระดับนานาชาติ เชื่อการทำงานDVIได้มาตรฐานจัดการศพได้เสร็จภายใน 6 เดือน
นายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO) และนายแพทย์วิลเลียม ออลดิส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมการทำงานของศูนย์ตรวจพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติ(DVI) ที่สุสานไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่ม
นายแพทย์สำลี กล่าวว่า การเดินทางเข้ามายังพื้นที่ประสบภัยในครั้งนี้ WHO จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางด้านการฟื้นฟู และเรื่องของสาธารณสุข ซึ่งจะต้องดูว่าจะให้ความช่วยเหลือทางด้านอะไรบ้าง การช่วยเหลือหลังจากนี้ จะเป็นการช่วยเหลือทางด้านการฟื้นฟู เรื่องของสุขภาพจิต เรื่องของการตรวจพิสูจน์ศพของผู้เสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือขององค์การอนามัยโลก ขึ้นอยู่กับการร้องขอของประเทศที่ประสบภัยพิบัติ ที่ผ่านมาพยายามที่จะให้ความช่วยเหลือตามที่ร้องขอมา โดยเฉพาะในเรื่องของความรู้ทางด้านวิชาการ
สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระยะแรก รัฐบาลไทยทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่ต้องอาศัยทรัพยากรจากภายนอก ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับคนจากทั่วโลก และได้รับคำชมเชยจากทั่วโลกว่า ทำงานมีประสิทธิภาพ
ส่วนปัญหาที่คิดว่า น่าจะต้องเร่งดำเนินการหลังจากนี้ คือ เรื่องของการฟื้นฟูสภาพทางด้านจิตใจของผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าการฟื้นฟูทางด้านกายภาพ ขณะที่เรื่องของโรคระบาด คิดว่า ไม่มีปัญหา เพราะระยะเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีปัญหาเรื่องโรคระบาดเกิดขึ้น WHO ยืนยันได้ว่า ขณะนี้ในพื้นที่ประเทศไทย ยังไม่มีเรื่องของโรคระบาดจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่ม
นายแพทย์สำลี กล่าวต่อไป ถึงการพิสูจน์เอกลักษณ์ผู้เสียชีวิต ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญ และจากการเข้าไปดูขั้นตอนการทำงานของ DVI ถือว่าเป็นการทำงาน ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม งานนี้ไม่ใช่งานระดับชาติ แต่เป็นงานระดับนานาชาติ การทำงานย่อมมีปัญหาบ้าง และจากการสอบถามทราบว่า จะสามารถจัดการปล่อยศพของชาวต่างชาติที่ทาง DVI กำลังดำเนินการอยู่ 1,500 กว่าศพ ได้ภายใน 6 เดือน และเรื่องของการตรวจพิสูจน์ศพ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเร่งได้ การทำงานจะต้องมีความละเอียด และชัดเชน เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมาในภายหลัง