“สุดาวรรณ” รมว.อว. ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 5,000 ต้น เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2568 ดันงานวิจัยกล้าไม้เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา สร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ชุมชน
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหา วชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 2568 โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ ประธานมูลนิธิผืนป่าในใจเรา กล่าวรายงาน ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. และประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวภารกิจของกระทรวง อว. เกี่ยวกับการดูแลรักษาป่าไม้ และมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) คณะกรรมการคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (กวท.) นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดโคราช และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ นายนิกร โสมกลาง นายอาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล นายอภิชา เลิศพชรกมล นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล และนายรชตะ ด่านกุล ตลอดจนประชาชน เข้าร่วม ณ พื้นที่ป่าสาธารณะประโยชน์ บ้านหนองนกเขียน หมู่ที่ 10 ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช ต.ภูหลวง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า การปลูกป่าครั้งนี้ เป็นการใช้กล้าไม้ผสมเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา ซึ่งเกาะอยู่ที่รากกล้าไม้ เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตขึ้นจะมีเห็ดกินได้เจริญเติบโตออกมาจากรากกล้าไม้ ได้แก่ เห็ดตะไคล เห็ดระโงก และเห็ดตับเต่า ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากผลงานวิจัยที่นักวิจัยของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้มายังหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ นครราชสีมา และศูนย์วนวัฒนวิจัยที่ 6 (นครราชสีมา) กรมป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมูลนิธิผืนป่าในใจเรา เป็นตัวอย่างของการบูรณาการที่นำเอาผลการวิจัยมาต่อยอดให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัย ไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช 1 ใน 3 มรดกโลก ของจังหวัดนครราชสีมา
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวต่อว่า ขอขอบคุณสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ศูนย์วนวัฒนวิจัยที่ 6 (นครราชสีมา) และสถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์วังน้ำเขียว ที่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยนี้ และได้นำไปขยายผลสู่การอบรม การผลิตกล้าไม้และเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาในระดับชุมชน ถือเป็นการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปสู่การใช้จริงที่สามารถผลิตได้ด้วยอุปกรณ์ในครัวเรือน และเกิดประโยชน์ทั้งด้านอาชีพ รายได้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการฟื้นฟูระบบนิเวศ การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือกันอย่างดียิ่ง ที่ให้เกิดความร่วมมือกันอย่างแข็งขันจนงานวันนี้สำเร็จไปด้วยดี การดำเนินงานในครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนและประสานงานจากหลายภาคส่วน และต้องขอขอบคุณอย่างยิ่งที่มูลนิธิผืนป่าในใจเรา ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพขององค์ความรู้ดังกล่าว และร่วมมือในการจัดอบรมให้กับเยาวชนและประชาชนกว่า 70 คน รวมถึงการขยายผลสู่กิจกรรมปลูกป่าในวันนี้ ด้วยกล้าไม้ที่ผสมเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา จำนวน 5,000 ต้น
“นี่คือภาพสะท้อนของการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่กระทรวง อว. ให้ความสำคัญ โดยการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ พร้อมกับอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว
จากนั้น นางสาวสุดาวรรณพร้อมคณะได้มอบเครื่องหมักปุ๋ย และงานวิจัยที่เป็นความรู้ทางการเกษตรให้กับชุมชนและเกษตรกร รวมทั้งเยี่ยมชมการดำเนินงานของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อม สะแกราช และตรวจเยี่ยมบุคลากร วว. เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไป