ที่สุดแล้วเมื่อปีหมูผ่านไปคนไทยก็ยังไม่ได้เห็น "ธีออส" ดาวเทียมที่ได้รับการเชิดชูว่าเป็น "ดวงตาของชาติ" ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าไปโคจรรอบโลกเพื่อถ่ายภาพทรัพยากรของประเทศตามเป้าหมาย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดส่งดาวเทียมดวงนี้อยู่ตลอดทั้งปี
ดาวเทียมธีออส (Theos) เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยที่รับผิดชอบโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ซึ่งได้ลงนามว่าจ้างบริษัทอีเอดีเอส เอสเตรียม (EADS Astrium) ของฝรั่งเศสด้วยมูลค่าโครงการกว่า 6,400 ล้านบาท ตั้งแต่ ก.ค.47 ซึ่งตามกำหนดในปีนี้ควรจะส่งดาวเทียมได้เมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา หากแต่กำหนดดังกล่าวได้เลื่อนออกไปเป็น ต.ค.จากการเปิดเผยของ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายหลังได้รับตำแหน่งดูแลกระทรวงที่รับผิดชอบ สทอภ.ได้ไม่นาน
ต่อมาช่วงกลางปี ศ.ดร.ยงยุทธได้นำแถลงเลื่อนกำหนดส่งดาวเทียมอีกครั้งเป็นวันที่ 30 พ.ย. ทั้งที่ต้นปีนั้นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เปิดเผยว่าการสร้างดาวเทียมเสร็จสิ้นแล้ว ขณะที่มีคำชี้แจงจาก ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผู้อำนวยการ สทอภ.เพียงว่าการเลื่อนดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิดปกติและยังอยู่ในสัญญาที่กำหนดช่วงเวลาปล่อยดาวเทียมไว้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.50 – 19 ม.ค.51 ผ่านไป 2-3 เดือนก็มีกำหนดใหม่ออกมาอีกว่าต้องเลื่อนส่งดาวเทียมไปช่วงต้น ธ.ค.เนื่องจากต้องดูสภาพอากาศที่เหมาะสม ล่าสุดกำหนดส่งดาวเทียมธีออสเป็นวันที่ 9 ม.ค.51
สำหรับคุณสมบัติของดาวเทียมธีออสนั้นเป็นดาวเทียมขนาดเล็กมีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม และมีระยะห่างจากโลกเมื่อส่งขึ้นไปโคจรที่ระดับ 822 กิโลเมตร โคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร ซึ่งระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กม. โดยจะโคจรมาที่จุดเดิมทุกๆ 26 วัน และสามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมทั่วโลก บันทึกภาพด้วยระบบเดียวกับกล้อง (Optical System) ความละเอียดของภาพขาวดำ 2 เมตร (สามารถเห็นวัตถุขนาด 2x2 เมตรในที่แจ้งได้ชัดเจน) ความละเอียดภาพสี 15 เมตร ความกว้างของแนวถ่ายภาพ 90 กิโลเมตร โดยอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี
นายชาญชัย เพียรวิจารณ์พงศ์ ผู้อำนวยการโครงการดาวเทียมธีออส สทอภ.ระบุว่า ขนส่งดาวเทียมธีอออสไปยังฐานปล่อยของศูนย์อวกาศยัชนี (Yahni) ชายแดนประเทศรัสเซียเมื่อดือน พ.ย.ที่ผ่านมานี้ โดยนำส่งด้วยจรวดเน็ปเปอร์ (DNEPR) ของยูเครน ทั้งนี้ต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อระหว่างฐานปล่อยกับตัวดาวเทียมเป็น 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ดีก่อนนี้เขายืนยันหนักแน่นทุกครั้งว่าทุกอย่างมีพร้อมทั้งดาวเทียม ฐานปล่อยจรวดและสถานีรับสัญญาณ หากแต่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนถึงเหตุผลที่ไม่สามารถส่งดาวเทียมได้ตามกำหนดในแต่ละครั้ง
ใช่ว่าไทยจะไม่มีประสบการณ์ว่าจ้างและส่งดาวเทียมโดยดาวเทียมไอพีสตาร์ (iPSTAR) ของบริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นตัวอย่างหนึ่งในการว่าจ้างต่างชาติสร้างและส่งดาวเทียม ซึ่งอาจช่วยให้เห็นระบบในการส่งดาวเทียมได้ในระดับหนึ่ง แม้จะเป็นดาวเทียมสื่อสารที่ต่างไปจากดาวเทียมธีออสก็ตาม
ทั้งนี้นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัยกุล รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดไอพีสตาร์ บริษัทชินแซทเทลไลท์กล่าวว่า การส่งดาวเทียมไอพีสตาร์ก็มีเหตุให้ล่าช้าในหลายครั้ง เบื้องต้นในการสร้างดาวเทียมทางบริษัทผู้รับจ้างผลิตประสบปัญหาทางการเงินจึงเกิดการล่าช้าไปขั้นหนึ่ง และยังมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องโดยบริษัทคู่แข่งในสหรัฐฯ ได้ลอบบี้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ให้ออกใบอนุญาตและเกี่ยวกับเรื่องเงินกู้
เมื่อส่งดาวเทียมถึงฐานปล่อยจรวดก็ยังประสบความล่าช้า เนื่องจากปกติดาวเทียมจะบรรทุกดาวเทียมขึ้นไปพร้อมกัน 2 ดวงแต่ไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมขนาดใหญ่มากและน้ำหนักเต็มพิกัดที่จรวดรับได้ จึงประสบปัญหาในเรื่องจุดศูนย์ถ่วงทำให้ต้องคำนวณการถ่วงน้ำหนักใหม่ ดังนั้นการส่งล่าช้าออกไปถึง 6 เดือน สุดท้ายขณะเตรียมส่งดาวเทียมก็พบสัญญาณเตือนว่าระบบไฟฟ้าบางอย่างไม่ทำงานแต่เป็นการเตือนผิด (false alarm) ทำให้ล่าช้าไป 2 ชั่วโมง
นายยงสิทธิ์เผยว่าในโลกนี้มีบริษัทส่งจรวดไม่กี่เจ้า โดยบริษัทที่ใหญ่สุดเป็นของยุโรปคือบริษัทเอเรียนสเปซ (Ariane Space) ที่มีองค์การบริหารการบินอวกาศยุโรป (อีซา) ร่วมทุนกับบริษัทเอกชนด้วยและบริษัทใหญ่ๆ อีก 2-3 บริษัทในสหรัฐฯ ที่รับจ้างส่งดาวเทียมให้องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และการทหารของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีจีน ญี่ปุ่น อินเดียและรัสเซียด้วย
สำหรับบรรยากาศการส่งดาวเทียมนั้นมีการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือด โดยนายยงสิทธิ์เผยว่ามีดาวเทียมมากมายที่จ่อคิวส่งขึ้นไปโคจรรอบโลก หากมีเหตุขัดข้องในการส่งดาวเทียมสักดวง เจ้าของดาวเทียมดวงอื่นๆ จะขอเป็นคิวต่อไป นอกจากนี้ในการส่งดาวเทียมซึ่งปกติในการส่งแต่ละเที่ยวจะมีดาวเทียมดวงอื่นร่วมเดินทางไปด้วย หากดาวเทียมที่เป็นคู่เดินทางเกิดความล่าช้าในกรณีใดๆ ก็จะเกิดความล่าช้าในการส่งดาวเทียมด้วย
"พวกนี้พอเสียปุ๊บดวงอื่นก็จะเข้ามาแซงแล้ว มาลัดคิวกัน ในช่วงส่งดาวเทียมไอพีสตาร์เขาส่งดาวเทียมเฉลี่ยเดือนละดวงต่อเที่ยวบิน ดังนั้นแทนที่จะเลื่อนออกไปเขาจะเอาคนอื่นมาลัดคิว ตอนนั้นวุ่นวายมาก 6-7 เดือน ที่สุดก็ได้ยิงในเดือน ส.ค.48 แต่ไทยคมดวงอื่นไม่มีดีเลย์เพราะเล็ก ไปง่าย" นายยงสิทธิ์กล่าว
นายยงสิทธิ์กล่าวว่าความเชื่อมั่นเป็นเรื่องสำคัญในการส่งจรวด เนื่องจากกว่าจะสร้างดาวเทียมเสร็จต้องใช้เวลาหลายปี ฉะนั้นถ้าเกิดการปัญหาในการส่งจะทำให้เสียหายทางธุรกิจไปหลายปีและต้องรอใหม่อีกรอบ ส่วนเรื่องการเงินไม่เสียหายเท่าไหร่เพราะมีการซื้อประกันไว้อยู่แล้ว และเมื่อมีผิดพลาดต้องให้ซื้อดาวเทียมใหม่มูลค่าเท่าเดิม ดังนั้นเรื่องการเงินไม่เสียหายแต่จะเสียหายทางธุรกิจที่รออยู่และต้องล่าช้าไป 2-3 ปี โดยวิธีคิดค่าประกันการส่งจรวดจะคิดจากประวัติการยิงจรวดของบริษัทที่ส่งดาวเทียม หากมีความผิดพลาดน้อยก็มีค่าประกันน้อยซึ่งอาจจะอยู่ที่ 10-15% และหากมีความมีผิดพลาดมากก็มีค่าประกันสูงถึง 20-25%
"เวลากู้เงินแบงก์มาซื้อดาวเทียมเราต้องกู้เผื่อ 3 ส่วนคือ ดาวเทียม ค่าประกันและค่ายิง เกิดยิงไม่สำเร็จบริษัทประกันก็จะจ่ายครอบคลุมให้ทั้งหมดเลย และบริษัทประกันจะเป็นผู้รับภาระทั้งหมดให้" นายยงสิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการส่งเทียมธีออสกับดาวเทียมไอพีสตาร์ซึ่งว่าจ้างผลิตและส่งเข้าสู่วงโคจรเช่นเดียวกันแล้ว เห็นได้ชัดว่าแม้ดาวเทียมของเอกชนจะมีความขัดข้องหลายประการจนทำให้การส่งล่าช้าแต่เจ้าของดาวเทียมก็ชี้แจงได้ถึงความล่าช้าดังกล่าว ต่างจากดาวเทียมธีออสที่คนไทยเจ้าของภาษีแผ่นดินทุกคนเป็นเจ้าของแต่ผู้รับผิดชอบกลับไม่สามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้อย่างชัดเจน
ดังนั้นหากตัดประเด็นคับข้องใจว่าดาวเทียมธีออสคุ้มค่าหรือไม่ ประเด็นเรื่องความล่าช้าในการส่งดาวเทียมก็เป็นอีกเรื่องที่หลายคนคับข้องใจ
=============================
*ทีมข่าว "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ขอนำเสนอรายงานส่งท้ายปี ในชื่อชุด "หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย" โดยนำประเด็นเด่นในวงการวิทยาศาสตร์ที่ยังหาคำตอบแห่งความลงตัวไม่ได้ ใน 5 เรื่องสำคัญคือ 1.การเตรียมสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์, 2.การสอบสวนกรณีองครักษ์, 3.จีเอ็มโอ, 4การส่งดาวเทียมธีออส และ 5.การขยายไซน์ปาร์ก
อ่านเพิ่มเติมบทความชุด "หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย"
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" บนทางเลือกแบบไทยๆ
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : องครักษ์ : รอยบากบนทางนิวเคลียร์
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "ธีออส" ดาวเทียมสัญชาติไทยทำไมส่งไม่ได้สักที
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "จีเอ็มโอ" เบิกศักราชใหม่ในไร่นา
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "ไซน์ปาร์ค" คำถามถึงความคุ้มทุน!!?