สถาบันนิวเคลียร์ฯ ส่งต่องานวิจัยให้ บ.สามารถฯ ขยายไลน์ธุรกิจสู่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ เดินหน้าสร้างโรงฉายรังสีเครื่องมือแพทย์มูลค่า 450 ล้านภายใน 1 ปี ก่อนขยายเฟส 2 สู่ธุรกิจผลไม้ฉายรังสีเพื่อส่งออก และการฉายรังสีอัญมณีเพื่อมูลค่า ผู้บริหารระบุเป็นการปูทางสู่สายธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคต
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.จัดพิธีลงนามความร่วมมือการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนิวเคลียร์ กับ บ.สามารถคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.50 ณ ห้องโถงสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กรุงเทพฯ
ดร.สมพร จองคำ ผอ.สทน.เปิดเผยรายละเอียดว่า ความร่วมมือระยะเวลา 1 ปีดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ การพัฒนากำลังคน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งสถาบันมีงานวิจัยและผลงานความสำเร็จแล้วกว่า 20 ชิ้นให้แก่ บ.สามารถฯ ได้นำไปใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ ในลักษณะการต่อยอดงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง เพื่อเป็นการเผยแพร่เทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ
ทั้งนี้ บ.สามารถฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษาดูงานที่สถาบันฯ เป็นเวลาประมาณ 6 เดือนก่อนตัดสินใจลงนามความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดความร่วมมือที่ชัดเจนตอนนี้ แต่จะมีการหารือจนได้บทสรุปใน ม.ค.2551 โดยก่อนหน้านี้ สทน.ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการขยายอาคารวิจัยเพิ่มเติมจากงบประมาณประจำปี 2551 ทั้งหมด 500 ล้านบาท ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีแก่เอกชนผู้ส่งออกอาหาร พืชผลการเกษตร อัญมณี ตลอดจนการฉายรังสีเครื่องมือแพทย์ตามโรงพยาบาลรวมแล้วกว่าร้อยราย แต่การลงนามครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก
ด้านนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.สามารถฯ เผยว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการขยายธุรกิจของบริษัทให้กว้างขวางขึ้น คือไม่เพียงแต่ธุรกิจโทรคมนาคมเท่านั้น ซึ่งทางบริษัทวางเป้าหมายการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนิวเคลียร์ไว้ 3 ด้านคือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมการส่งออกผลไม้ และอุตสาหกรรมอัญมณี ซึ่งทั้ง 3 มีตลาดต่างประเทศเป็นกลุ่มลูกค้าหลักเพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศ
สำหรับสถานการณ์การใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนิวเคลียร์ของไทยในปัจจุบัน มีผู้ให้บริการฉายรังสีเพื่อฆ่าเชื้อในเวชภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ และเนื้อเยื่อร่างกาย เป็นบริษัทของต่างชาติทั้งหมด ส่วนการฉายรังสีเพื่อยืดอายุสินค้าและทำอาหารปลอดเชื้อมีผู้ให้บริการเพียง 1-2 รายจากความต้องการของตลาด 100 ตัน/วัน ขณะที่การฉายรังสีอัญมณีซึ่งจะทำให้มีมูลค่าเพิ่ม 10 -30 เท่า มี สทน.ให้บริการเพียงรายเดียวจากความต้องการของตลาดปีละ 15,000 ก.ก. หรือ 75 ล้านกะรัต/ปี
ขณะนี้ บริษัทกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างกำลังคนที่มีความรู้ความชำนาญในเชิงเทคนิค พร้อมๆ กับมีแผนการตั้งโรงงานฉายรังสีมูลค่า 450 ล้านบาทภายในเวลา 1 ปี ซึ่งจะเปิดทำการได้ในปี 2552 คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ 150 -200 ล้านบาท/ปีในระยะแรก โดยจะเริ่มต้นที่ธุรกิจการฉายรังสีเครื่องมือแพทย์เป็นอันดับแรก เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง อีกทั้งมีความพร้อมแล้วทั้งด้านเทคโนโลยีและบุคลากร โดยจะคืนทุนได้ใน 4 ปี แต่ บ.สามารถฯ จะต้องได้รับมาตรฐานการผลิตไอเอสโอก่อนจึงจะเปิดดำเนินการได้
"สิ่งที่ได้จากโครงการนี้ นอกเหนือจากรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวแล้ว ยังรวมถึงการสั่งสมประสบการณ์ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่แข็งแรงในการขยายธุรกิจของพลังงานของกลุ่มบริษัทสามารถฯ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะก้าวไปสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบอื่นในอนาคต โดยต้องอาศัยความช่วยเหลือและสนับสนุนจาก สทน." นายวัฒน์ชัย กล่าว