ว่ากันว่า “สุรา” และ “มิตรภาพ” ยิ่งนานจะยิ่งทรงคุณค่า หอมจรุงเย้ายวนใจ แต่คงใช้เปรียบกันไม่ได้กับการก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายก ที่ยิ่งปล่อยนานยิ่งเป็นปลาเน่าใน “บ่อใหญ่” ไม่ว่าผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รายใดมาทำหน้าที่ก็ไร้วี่แววว่าจะสะสางได้สักที ชนิดยิ่งนานก็ยิ่งแก้ยาก ครั้นจะปล่อยให้ “กลิ่น” หายไปเองก็คงลำบาก เพราะเกือบ 20 ปีที่ยืดเยื้อมากับ 1,800 ล้านบาทที่สูญไปประหนึ่ง “ค่าโง่” ยังคอยหลอกหลอนคนไทยไม่เลิกรา
การก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์มีขึ้นในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 27 ธ.ค.2532 มีมติให้ก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัยแห่งที่ 2 ของประเทศ ขนาด 10 เมกะวัตต์ไว้ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรและการแพทย์ ต่อมาได้เลือกพื้นที่ 316 ไร่บน ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายก เป็นพื้นที่ก่อสร้าง ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้าน เอ็นจีโอ ตลอดจนรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่จนบัดนี้ยังไม่ชี้ชัดไปได้ว่าจัดทำจนแล้วเสร็จหรือไม่
รายงานบางชิ้นยังอ้างด้วยว่า พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่มีพลัง อีกทั้งยังมีลำคลองเชื่อมสู่กรุงเทพฯ และเป็นพื้นที่เหนือลมสู่เมืองหลวงในบางช่วงเวลา หากเกิดอุบัติเหตุรังสีนิวเคลียร์ก็ยากจะหลีกเลี่ยงความเสียหายร้ายแรงได้ ทว่ารัฐบาลกลับเลือกที่จะไม่ฟังเสียงทักท้วงใดๆ และยืนกรานดำเนินการต่อไปโดยไม่ฟังเสียงประชาชน
แต่สิ่งที่อื้อฉาวที่สุดในโครงการคงไม่เกิดขึ้น หากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เจ้าของโครงการไม่ยืนยันว่าจ้างให้ บ.เจเนอรัล อะตอมมิกส์ (จีเอ) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่มีประสบการณ์ก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ขนาดใหญ่มาก่อน ดำเนินการก่อสร้างแบบเหมาเบ็ดเสร็จในมูลค่า 2,750 ล้านบาท แม้จะมีเสียงคัดค้านภายใน ปส.เองก็ตาม ที่ต่อมากลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตประเมินงบประมาณผูกพันในโครงการไว้ไม่ต่ำกว่า 7,298 ล้านบาท โดยมีหลายจุดที่ส่อเค้าความไม่ชอบมาพากลโผล่ให้เห็นเป็นระยะๆ
โดยเฉพาะหนามชิ้นใหญ่ที่ตำเท้าไม่ให้เมกะโปรเจ็กต์นี้ก้าวไปข้างหน้าได้คือ การที่จีเอไม่มีใบรับรองการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัยจากยูเอส –เอ็นอาร์ซี (US -NRC) ในฐานะหน่วยงานควบคุมด้านนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ มารับรองการก่อสร้างได้ตามสัญญา ซึ่งยากที่ ปส.จะปฏิเสธว่าไม่รับรู้มาก่อน ทั้งที่มีบริษัทอื่นๆ ที่มีความพร้อมมากกว่าเสนอเข้าร่วมโครงการ ทั้งบริษัทจากฝรั่งเศส แคนาดา เยอรมนี จีน และอาร์เจนตินา แต่นอกเหนือจากจีเอแล้ว กลับไม่มีบริษัทรายใดได้รับการพิจารณาร่วมโครงการเลย
หากตีความจากจุดนี้เพียงจุดเดียวจึงหมายความว่า จีเอจะไม่สามารถก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัยให้แก่รัฐบาลไทยตามสัญญาได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม และแม้จะยืนยันก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ในฐานะหน่วยงานกลางระหว่างประเทศด้านการใช้ประโยชน์จากนิวเคลียร์ ก็อาจเข้าขัดขวางไม่ให้เดินเครื่องได้ เพราะสุ่มเสี่ยงเกินกว่าจะให้ประชาชนไทยตลอดจนประชาชนในประเทศข้างเคียงต้องเป็นหนูลองยา การดื้อดึงก่อสร้างจึงรังแต่จะสิ้นเปลืองงบประมาณเปล่าๆ
ซ้ำร้ายโครงการที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จใน มิ.ย.2544 จนบัดนี้จึงมีเพียงอาคารว่างเปล่า 18 หลังที่ยังขาดหัวใจสำคัญคือเตาปฏิกรณ์วิจัย แถมยังต้องสูญเงินอีก 247 ล้านบาทให้แก่ บ.อิเล็กทรอวัตต์ คอนซัลติ้ง เซอร์วิสเซส (อีดับเบิลยูอี) บริษัทที่ปรึกษาโครงการ ด้วยวิธีการตรวจงานและรับเงินแบบพิสดารทั้งที่ไม่มีความคืบหน้าจริง นอกจากนั้นแล้ว ปส.ยังถูกจีเอฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอีกถึง 2,000 ล้านบาทในข้อหาทำผิดสัญญา จนเกิดการฟ้องร้องกันไปมาอย่างไม่อาจหาข้อยุติ
โอกาสของประเทศไทยที่จะมีพลังงานรังสีนิวเคลียร์ไว้ใช้ประโยชน์ดังใจหวังไว้แต่แรกตลอดหลายปีที่ผ่านมา จึงพลอยสูญสลายไปกับการบริหารงานแบบนักมายากลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ไปโดยปริยาย และจะให้รู้สึกยิ่งช้ำใจกันมากขึ้นไปอีกเมื่อได้ทราบต่อไปด้วยว่า “ปลาเน่า” ตัวนี้ ยังขัดขวางไม่ให้เศรษฐกิจไทยก้าวหน้าอย่างที่ควร
ดร.สมพร จองคำ ผอ.สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติฯ (สทน.) ลูกหม้อเก่าของ ปส. และหนึ่งในคณะกรรมการที่เคยทักท้วงการดำเนินโครงการด้วยเห็นว่า จะนำความเสียหายมาให้ในที่สุด เล่าว่า ปัจจุบัน สทน.ซึ่งรับช่วง “เตาปฏิกรณ์วิจัย” เครื่องปัจจุบันมาจาก ปส.หลังการแยกหน่วยงาน สามารถผลิตรังสีและไอโซโทปป้อนสู่สายการผลิตต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมพลอย รวมถึงใช้ในด้านการแพทย์ ได้เพียง 10% ของความต้องการทั้งหมดในประเทศ ส่วนอีก 90% คือการพึ่งพิงต่างชาติล้วนๆ
แต่หากการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัย 10 เมกะวัตต์ในครั้งนั้นดำเนินไปด้วยความโปร่งใสจนแล้วเสร็จแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่มีมากวนใจเลย !!!
“ยกตัวอย่างการผลิตไอโซโทปใช้ในโรงพยาบาลที่เขาต้องการให้เราผลิตมากขึ้น จะได้ไม่ต้องนำเข้า แต่เราผลิตได้น้อยเพราะเตาเราเล็ก แต่มีคนมารุมซื้อเยอะแยะ เหมือนเราผลิตของขายให้กับคนได้แค่ 10 คนแต่มีคนมารุมซื้อ 100 คน หรือการฉายรังสีพลอยที่เราฉายได้เพียงปีละ 200 กก. แต่ผู้ประกอบการถามว่าคุณสามารถฉายรังสีให้ปีละ 10,000 กิโลฯ ได้ไหม เราก็บอกว่าทำไม่ได้ เลยต้องส่งพลอยไปฉายรังสีต่างประเทศ ส่งไปที่สหรัฐอเมริกา ส่งไปฉายรังสีแล้วก็ยังต้องส่งกลับมาประเทศไทย ค่าใช้จ่ายมันก็แพง”
ทว่าเมื่ออะไรๆ ออกมาเป็นเช่นนี้ จึงต้องก้มหน้าอดทนและถนอมใช้เตาปฏิกรณ์วิจัยขนาด 2 เมกะวัตต์ที่มีอายุอานาม 45 ปี ซึ่งใครๆ ก็ลงความเห็นว่า “อภิมหาเก่า” ต่อไป ด้วยการใช้งานที่ ดร.สมพร บอกว่า “เขียมๆ” คือเดินเครื่องที่ 1.2 -1.5 เมกะวัตต์จากศักยภาพจริง 2 เมกะวัตต์ หรือลดขนาดการใช้งานลง 25 -40% เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น เผลอๆ อาจถึง 60 ปีหรือมากกว่านั้น ขณะที่ยอดลูกค้าที่มาขอใช้งานมีมากขึ้น “หลักหมื่น” ราย/ปี
ขณะที่การเริ่มโครงการก่อสร้างใหม่แทนโครงการเก่าก็ไม่อาจทำได้ เพราะจะเกิดความซ้ำซ้อน อย่างน้อยๆ ก็ต้องรอจนคดีความต่างๆ นานาชัดเจนมากขึ้นก่อน ค่อยตัดสินใจ
ที่แม้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะตามดมกลิ่นความไม่ชอบมาพากลและกระทุ้งเพื่อเตือนให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะต้นสังกัดของ ปส. เร่งสะสางเรื่องราวโดยไวมาตั้งแต่ปลายปี 2549 แล้วก็ตาม แต่ตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาของ 2 รัฐมนตรี คือ ดร.ประวิช รัตนเพียร และ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ความคืบหน้าของการสืบสวนสอบสวนก็ยังไม่อาจจับต้องเป็นชิ้นเป็นอันได้มากพอจะชดเชยกับค่าโง่ที่สูญเสียได้
ดังนั้นแล้ว!!! อย่าแปลกใจไปเลยที่ตราบใด สิ่งที่รัฐควรทำโดยเร็วที่สุดคือ ตามจับคนผิดที่ยังคงลอยนวล และไขความจริงสู่สังคมอย่างอย่างหมดเปลือก ยังไม่แล้วเสร็จ “รังสี นิวเคลียร์ ปรมาณู” คำเหล่านี้ก็ยังจะวนเวียนเป็น “ผี” และเป็น “มหันตภัย” ในสายตาประชาชนเรื่อยไป ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจล่าสุดของ ปส.เจ้าของโครงการฉาวเอง
ปัญหานานัปการจึงฝังรากลึกเป็นความไม่เชื่อมั่น –ไม่ไว้วางใจต่อระบบการบริหารราชการบนฐานของวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่แยกไม่ออกจากการฉ้อฉล –คอรัปชั่นไปแล้ว ปลาเน่าเพียงตัวเดียวจึงพลอยทำให้ปลาตัวอื่นๆ ต้องพลอยเน่าและล้มตายไปด้วย
มิพักต้องพูดถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศไทยที่จะต้องมีการตัดสินใจในอีก 3 ปีข้างหน้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2007) ที่นานาชาติตลอดจนประชาชนคนไทยเองจะเฝ้าติดตามและมองด้วยสายตาดูแคลนว่า “ไม่เจียม”
คำเตือน : บทความนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะเห็นตอนจบ
=============================
*ทีมข่าว "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ขอนำเสนอรายงานส่งท้ายปี ในชื่อชุด "หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย" โดยนำประเด็นเด่นในวงการวิทยาศาสตร์ที่ยังหาคำตอบแห่งความลงตัวไม่ได้ ใน 5 เรื่องสำคัญคือ 1.การเตรียมสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์, 2.การสอบสวนกรณีองครักษ์, 3.จีเอ็มโอ, 4การส่งดาวเทียมธีออส และ 5.การขยายไซน์ปาร์ก
อ่านเพิ่มเติมบทความชุด "หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย"
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" บนทางเลือกแบบไทยๆ
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : องครักษ์ : รอยบากบนทางนิวเคลียร์
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "ธีออส" ดาวเทียมสัญชาติไทยทำไมส่งไม่ได้สักที
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "จีเอ็มโอ" เบิกศักราชใหม่ในไร่นา
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "ไซน์ปาร์ค" คำถามถึงความคุ้มทุน!!?