ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกไทยรวมตัวก่อตั้งสมาคมพลาสติกชีวภาพ รับกระแสโลกร้อน หวังผลักดันคนไทยหันมาใช้พลาสติกย่อยได้ เน้นที่บรรจุภัณฑ์อาหารและถุงซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมหนุนงานวิจัยต้นน้ำ ผลิตเม็ดพลาสติกใช้เอง และเตรียมตั้งแล็บตรวจสอบคุณภาพในอีก 2 ปีหน้า
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยจัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย” และเสวนาในหัวข้อเรื่อง “แนวโน้มของตลาดผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ” เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพฯโดยมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมจำนวนมาก พร้อมจัดแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของสมาคม
นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมพลาสติกไทยจำกัด กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับปัญหาภาวะโลกร้อนและปริมาณขยะพลาสติก ส่วนพลาสติกชีวภาพก็นับวันจะมีบทบาทต่อการบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และหลายประเทศในยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ต่างก็ลดการใช้พลาสติกและหันมาใช้พลาสติกชีวภาพแทน จึงได้เริ่มก่อตั้งชมรมพลาสติกชีวภาพไทยขึ้นเมื่อปี 2548 และจดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกทั้งสิ้น 17 บริษัท
จุดประสงค์ก็เพื่อ ผลักดันอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ของไทย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไปพร้อมกัน
“ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้พลาสติกราว 200 ล้านตันต่อปี เป็นพลาสติกชีวภาพเพียง 7 แสนตันต่อปี และคาดว่าปีหน้าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านตัน ซึ่งประเทศไทยเองมีวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกชีวภาพมากมาย แต่ยังขาดเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติก ทางสมาคมจะทำหน้าที่สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้งานวิจัยและอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไปในทิศทางเดียวกัน” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทางจีทีแซด (Thai-German Partnership Programme for Enterprise Competitiveness German Technical Cooperation: GTZ) ยังสนับสนุนเงินทุนวิจัยและความร่วมมือด้านบุคลากรและเทคโนโลยีแก่ไทย โดยขณะนี้กำลังวางแผนจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพของพลาสติกชีวภาพที่ผลิตในไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกับทั่วโลก เพื่อออกตรารับรองคุณภาพให้แตกต่างจากพลาสติกทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในปี 2552
ทั้งนี้ บริษัท อุตสาหกรรมพลาสติกไทยจำกัด ผลิตถุงหิ้วพลาสติกชีวภาพส่งออกเป็นหลัก ซึ่งนายสมศักดิ์มองว่าต้นทุนการผลิตอาจจะยังสูงอยู่ เพราะต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกจากต่างประเทศ แต่ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเป็นสิ่งใหม่ที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก ธุรกิจนี้จึงมีโอกาสเติบโตสูง
ด้านนายพิชัย ชูเอกวงศ์ จากบริษัท วัลย์ดีพาณิชย์อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัททำพลาสติกที่ใช้ในการเกษตรอยู่แล้ว เช่น เกษตรกรปลูกแตงโมจะใช้พลาสติกคลุมแปลงเพื่อป้องกันวัชพืช ทำให้ผลผลิตมากขึ้น แต่พลาสติกเหล่านั้นเมื่อถูกแดดเผานานวันเข้าก็แห้งกรอบและแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กลายเป็นขยะปนเปื้อนในดิน จึงอยากมีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านนี้
“หากเกษตรกรหันมาใช้พลาสติกชีวภาพร่วมกับจัดการแปลงอย่างเป็นระบบ ก็จะได้ผลผลิตเพิ่มหลายเท่าตัว พร้อมทั้งลดการปนเปื้อนในดิน ซึ่งเห็นผลของต่างประเทศที่ใช้วิธีนี้ ในไร่มันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 5 ตันต่อไร่เป็น 20 ตันต่อไร่ แต่ในไทยยังไม่มีใครทำ และเชื่อว่าพลาสติกชีวภาพด้านการเกษตรก็เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเช่นกัน” นายพิชัยกล่าว
นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล บริษัท เรืองวาแสตนดาร์ด อินดัสตรี้ จำกัด กล่าวว่า บริษัทตนผลิตของใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน เช่น ภาชนะใส่อาหาร ถังขยะ เป็นต้น หลายประเทศในยุโรปเริ่มมีนโยบายเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก หรือที่นำเข้าไปแล้วกลายเป็นขยะในประเทศเขา และเมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์อาหาร บางครั้งพบว่า 28% เป็นน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สุดท้ายต้องทิ้งเป็นขยะไป
“ตลาดพลาสติกชีวภาพส่วนใหญ่อยู่กับอุตสาหกรรมอาหารและห้างสรรพสินค้า จึงคิดว่าจะเริ่มบุกเบิกที่บรรจุภัณฑ์อาหารชนิดที่ให้แล้วทิ้ง จะช่วยลดปริมาณขยะได้มาก ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์และอุปกรณ์ไฟฟ้าก็น่าจะเติบโตเร็ว แต่ทุกวันนี้ไทยเรายังขาดเม็ดพลาสติกทั้งที่มีวัตถุดิบเหลือเฟือ ฉะนั้นต้องเร่งผลักดันงานวิจัยด้านนี้ ไม่ให้ต่างประเทศมาซื้อวัตถุดิบราคาถูกของเราไป แล้วผลิตเม็ดพลาสติกขายเราในราคาแพง” นายอภิภพ แจง
สุดท้าย นายสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามศรี บริษัท เอ็ม.ดี.ซินเนอร์ยี จำกัด ซึ่งผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยเป็นหลัก ให้ความเห็นว่า อีกไม่เกิน 5 ปี พลาสติกชีวภาพจะมีบทบาทในตลาดโลกมากขึ้น และขณะนี้ที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกทั่วไปแล้ว ให้หันมาใช้ถุงพลาสติกชีวภาพแทน ส่วนฝรั่งเศสก็จะทำในลักษณะเดียวกันในปี 2553
“อยากให้คนไทยเปลี่ยนทัศนคติ และหันมาใช้พลาสติกชีวภาพโดยไม่คิดว่าแพง ซึ่งราคาที่จ่ายแพงกว่าเพียงไม่กี่บาทก็เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเราและลูกหลานเราในอนาคต อย่าคิดแต่เพียงว่า เราคงอยู่ไม่ถึงวันที่โลกย่อยยับ แต่คนที่อยู่ก็คือลูกหลานเราเอง และเมื่อใช้กันมากขึ้นก็จะผลักดันให้ราคาถูกลงอย่างแน่นอน” นายสุรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย