วิทยาศาสตร์มีอะไรให้ค้นหามากกว่าที่คุณคิด "คุณหญิงหมอพรทิพย์" พาน้องๆ นักเรียนหญิง 300 คนไปเปิดโลกอันน่าอัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ที่ช่วยแกะรอยคดีต่างๆ พร้อมเผยเคล็ดลับการเป็นนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะ “เพศหญิง” ที่ดูเหมือนจะมีสัดส่วนในวงวิทยาการของโลกน้อยเหลือเกิน
นักเรียนหญิงกว่า 300 คนในจังหวัดสมุทรปราการ นครราชสีมาและปทุมธานี อันเป็นที่ตั้งโรงงานของบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัดได้รวมตัวกัน ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกิจกรรมในโครงการอีวายเอช (EYH: Expanding Your Horizons Conference)
โครงการดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่ซีเกทได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนหญิงระดับ ม.3 มีความสนใจในวิทยาศาสตร์และเรียนต่อในสายวิทยาศาสตร์มากขึ้น
โอกาสนี้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมบรรยายพิเศษ "Open up Your Science by หมอพรทิพย์" ด้วย ซึ่งหากใครสนใจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้น คุณหญิงหมอแนะนำว่าต้องพัฒนาทักษาการเรียนต่อไปนี้ คือการสังเกต คิด ค้น วิเคราะห์และสรุปสิ่งที่ได้
พร้อมทั้งยกตัวอย่างคดีอาชญากรรมหลายตัวอย่าง อาทิ กรณีผู้หญิงถูกฆาตกรรมโดยมีหน้าตาบวมปูด ซึ่งจากการสังเกตก็พบหมอนซึ่งตกอยู่ข้างๆ ผู้ตายนั้นมีคราบเลือดอยู่ด้านล่างของหมอน ซึ่งหากไม่พลิกขึ้นมาก็จะไม่เห็นและยังมีรอยฝามือจางๆ อยู่อีกด้านของหมอน จึงทำให้ทราบว่าคืออาวุธที่ใช้ก่อเหตุ
"ไม่ว่าจะทำอะไรต้องตั้งประเด็นเป็น เด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ตั้งประเด็นไม่เป็นเพราะการประเมินที่ง่ายในระบบการศึกษาไทย ที่ออกแต่ข้อสอบปรนัย กลายเป็นมนุษย์ปรนัย ถ้าตั้งประเด็นเป็นจะทำให้วางแผนได้ว่าจะตรวจอะไรในที่เกิดเหตุ" พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าว พร้อมทั้งเพิ่มเติมว่าการเข้าตรวจที่เกิดเหตุนั้นเป็นการสังเกตพฤติกรรมของคนและไม่เชิงเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งหมด
การเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิง พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่าเป็นเรื่องยาก โดยตัววิทยาศาสตร์เองก็ยากอยู่แล้ว และต้องมาเจอปัญหาเกี่ยวกับงานบริหารที่เธอเองไม่เก่งทำให้เกิดปัญหามากมาย และที่ผ่านมาก็โดนกลั่นแกล้งตลอด หากแต่ไม่สนใจจึงผ่านพ้นมาได้
อย่างไรก็ดีใช่ว่าผู้หญิงจะไม่เหมาะกับการวิทยาศาสตร์หากแต่ความอ่อนโยนของผู้หญิงทำให้เกิดความละเอียดตามมา จึงมีสมาธิและความทุ่มเทที่จะทำงานทางด้านนิติวิทยาศาสตรืที่ต้องใช้ความละเอียด ส่วนผู้ชายนั้นมีความแข็งกระด้างจึงมักชอบทางด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่เป็นศาสตร์ที่ตรงไปตรงมา
"เรื่องนิติวิทยาศาสตร์นั้นเป็นงานที่ผู้หญิงถนัดเพราะชอบคิดลงรายละเอียด แต่ผู้หญิงมักลงรายละเอียดในสิ่งผิดๆ จึงไม่ค่อยได้เรื่องได้ราว" พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวถึงข้อดีของผู้หญิงที่หากใช้ให้ถูกก็เกิดประโยชน์
ส่วนนักเรียนที่สนใจจะศึกษาวิทยาศาสตร์ต่อในอนาคตนั้น พญ.คุณหญิงพรทิพย์แนะว่าต้องถามตัวเองว่ามีความเป็นวิทยาศาสตร์จริงหรือไม่ หากเป็น "มนุษย์ปรนัย" ก็เป็นเรื่องยากที่จะเรียน
แต่หากจะเลือกนิติวิทยาศาสตร์ก็ต้องคำนึงถึงคุณธรรมมากกว่าวัตถุ รวมทั้งต้องมีความสุขที่จะทำดี ทั้งเสริมว่าวิทยาศาสตร์นั้นทำให้เป็นอิสระและไม่เป็นทาสใคร แม้จะเป็นอาชีพที่ไม่ทำเงินแต่ก็เป็นอาชีพที่ไม่ "โง่" เพราะได้คิดตลอดเวลา
สำหรับคุณหญิงหมอเองนั้น เลือกเป็นนักนิติวิทยาศาสตร์จากการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นลำดับขั้น โดยในวัยเด็กได้ถามตัวเองว่าเรียนไปเพื่ออะไรเมื่อได้คำตอบก็ถามตัวเองต่อว่าจะเรียนอะไร ซึ่งส่วนตัวแล้วชอบทั้งด้านสายวิทย์และสายศิลป์แต่ด้วยไม่มีทักษะใช้มือในงานศิลปะจึงเลือกเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ จนที่สุดเลือกเรียนแพทย์
"เลือกมาเป็นหมอผ่าศพไม่ใช่ความคิดจากอุดมการณ์อันสูงส่ง แต่เพราะอยากเป็นตัวของตัวเอง ทั้งนี้อาชีพวิทยาศาสตร์มีหลากแบบ แบบที่ลึกมากๆ ก็ทำงานอยู่บนหอคอย เป้นพวกที่ได้รางวัลโนเบล แต่หมอพรทิพย์ชอบวิทยาศาสตร์แต่ไม่ได้สนใจลึกขนาดนั้น"
"แม้ว่างานที่ทำจะยากเพราะเป็นสาขาที่ไม่มีการสนับสนุนแต่ก็สนุก สุขที่ได้คิด ที่สำคัญได้ทำงานที่ช่วยเหลือแผ่นดินทางอ้อม" พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าว พร้อมทั้งทิ้งท้ายให้เด็กๆ ที่สนใจงานทางด้านวิทยาศาสตร์นั้นต้องพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทั้ง 5 ที่ได้กล่าวไปแล้ว