สทอภ. - หลายคนยัง "งงๆ" เพราะเริ่มไม่แน่ใจกับการส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของประเทศไทยนาม "ธีออส" (THEOS) ขึ้นสู่วงโคจร หลังจากที่ได้เลื่อนปล่อยมาแล้ว 3 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน จนสิ่งที่ผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ย้ำว่าทุกอย่างลงตัว ชักจะไม่ลงตัวอย่างที่คิด
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ดาวเทียมธีออสเท่านั้นที่ประเทศไทยจะได้จากโครงการมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท แต่ยังรวมไปถึงการฝึกอบรมวิศวกรไทยรุ่นใหม่ประมาณ 20 คนให้รู้จักการสร้างดาวเทียมเองในอนาคต การได้สิทธิใช้ข้อมูลดาวเทียมสปอต 2,4 และ 5 เป็นเวลา 5 ปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะที่อีกสิ่งหนึ่งที่รวมอยู่ในโครงการด้วยคือ สถานีควบคุมภาคพื้นดิน ดาวเทียมธีออส อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ล่าสุด ดร.พิธาน สิงห์เสน่ห์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์โครงการดาวเทียมธีออส สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ.ได้เผยภาพความคืบหน้าของการก่อสร้างสถานีควบคุมดาวเทียมธีออส อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งบันทึกภาพเมื่อวันที่ 19 และ 31 ต.ค.50 ถึงทีมงาน "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์"
ทั้งนี้ พลโท ดร.วิชิต สารทรานนท์ ประธานกรรมการบริหาร สทอภ.เคยกล่าวเมื่อกลางเดือน ม.ค.50 ว่า ทางโครงการได้เริ่มก่อสร้างสถานีควบคุมดาวเทียมธีออสที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งจะหลีกเลี่ยงการรบกวนสัญญาณควบคุมของสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว
ประธานกรรมการบริหาร สทอภ.แจกแจงอีกว่า การสร้างสถานีควบคุมดาวเทียมธีออสแบ่งเป็น 2 ระยะ คือการก่อสร้างตัวควบคุมคำสั่งไปยังดาวเทียมธีออสซึ่งน่าจะเสร็จทันการส่งธีออสขึ้นสู่วงโคจร และการก่อสร้างอาคารรับสัญญาณธีออส ที่เบื้องต้นจะใช้ศูนย์ดาวเทียมที่ลาดกระบังที่มีอยู่เดิมแล้วทำหน้าที่รับสัญญาณไปก่อน พร้อมกันนี้จะก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ดาวเทียมที่สถานีศรีราชาด้วย