xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนเวลาดูของเก่าที่ "บ้านพิพิธภัณฑ์" กับว่าที่ "เด็กอัจฉริยะ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร้านชำร้านนี้มีสินค้าดูคุ้นตาบ้างหรือเปล่า
"เดี๋ยวเราจะหาค่าไซน์ (sin) ให้ดู"
"หาค่าไซน์จากลูกคิดนี่นะ...สุดยอดไปมั้ง" 
"คอมพ์เครื่องนี้มีแรม 4 ไบท์ ซีพียู 10 เฮิร์ตซ์นะ"...

เสียงหยอกล้อของเหล่าวัยรุ่น-วัยเรียนที่หลุดออกมาหลังจากได้เห็นของเก่าๆ ที่หาดูยากเต็มที แม้ไม่ใช่ของมีค่าระดับ "เครื่องลายคราม" แต่ก็มีความหมาย เพราะของเล่นบางชิ้นได้ร่วมอยู่ในชีวิตวัยเด็กของใครหลายคน หากแต่เด็กยุคนี้อาจไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำว่ามีของประเภทนี้อยู่ ทั้งที่เวลาเพิ่งจะผ่านมาได้ 40-50 ปีเท่านั้น

หลังจากผ่านการนำเสนอความก้าวหน้าโครงงานวิทยาศาสตร์อันเคร่งเครียด เมื่อปลายเดือนตุลคาคมที่ผ่านมา นักเรียนทุนระยะสั้นกว่า 50 คนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (เจเอสทีพี) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็มุ่งหน้าสู่ "บ้านพิพิธภัณฑ์" ระแวกถนนพุทธมณฑลสาย 2

ที่หมายซึ่งเป็นตึก 3 ชั้นด้านหน้าขายกาแฟ โอเลี้ยงและเครื่องดื่มอื่นๆ ดูแล้วไม่น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ใดๆ แต่ภายในได้รวบรวมสิ่งของที่บางคนอาจจะลืมว่ามีค่าและตีราคาไว้ที่ถังขยะ ภายในตกแต่งเป็นร้านค้าต่างๆ ทั้งร้านที่ขายจริงและร้านที่เพียงจำลองอดีตไว้

ภายในตู้สินค้ามีบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ที่เคยคุ้นถูกจัดวางไว้อย่างสงบนิ่ง  บางอย่างเพิ่งหายไปจากความคุ้นเคยได้ไม่กี่ปี แต่บางอย่างก็หลายสิบปี เคยตื่นเต้นกับกระป๋องแป้งเด็กที่เปลี่ยนไปใช้ปิโตรเคมีเป็นบรรจุภัณฑ์ พอได้กลับมาเห็นบรรจุภัณฑ์ดีบุกที่เคยชินในวัยเด็กก็คล้ายว่าภาพตรงนั้นได้เปิดประตูเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบัน

สโลแกน "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า" นับว่าเหมาะยิ่งกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งเยาวชนเจเอสทีพีในวัยสิบปลายๆ ต่างก็ชี้ชวนและซักถามกันใครเกิดทันของเล่นชิ้นไหนบ้าง

ประยูร สงวนไทร นักสาธารณสุขที่เอาเวลาว่างในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นเวลาเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มาเป็นอาสาสมัคร ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้ฟังว่ามีวิทยาศาสตร์อะไรบ้างที่ซ่อนอยู่ในของเล่นวัยเด็กของเขา

หลังจากบอกเล่าเรื่องราวของ "เกมนินเทนโด" ในสมัยเมื่อ 20-30 มาแล้ว เขาก็หอบหิ้ว "เรือป๊อกแป๊ก" ลำเล็กที่ผลิตจากสังกะสีไปสาธิตยังธารน้ำเล็กๆ ซึ่งสร้างขึ้นมา เรียกความสนใจแก่เยาวชนผู้มีหัวใจรักวิทยาศาสตร์ได้มาก

แม้รูปร่างเรือใบจิ๋วจะไม่ซับซ้อนแต่ก็อัดแน่นด้วยหลักการทางฟิสิกส์ โดยอาศัยความร้อนจากเทียนไขทำให้อากาศขยายตัวแล้วดันออกจากท่อของเรือ ทำให้เกิดแรงผลักที่ดันให้เรือเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้

"ผมอยากทำปืนอัดลมที่มีแรงดันทำให้ลูกปืนไปได้ไกลขึ้น" สรณ์ เยาวพงศ์ หรือ "โต๊ะกลม" นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยกล่าวหลังเห็น "ปืนอัดลม" ที่มีลูกสูบอัดให้ลูกปืนพุ่งออกมาซึ่งเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ โดยแจงว่ามีแนวคิดในการเพิ่มปัจจัยความร้อนด้วยห้องเผาไหม้บริเวณ "ห้องสูบอัด" ของปืนที่สามารถทำได้เพียงจุดไม้ขีดไฟ

ส่วนจะอันตรายหรือไม่นั้นเขาเผยว่าต้องทำชนวนกันความร้อนด้วย ทั้งนี้ของเล่นในบ้านพิพิธภัณฑ์ที่หนุ่มน้อยวัย 17 ชื่นชอบมากที่สุดเห็นจะเป็นของเล่นที่มีระบบลานและระบบฟันเฟื่อง ซึ่งตอนเด็กๆ นั้นเขาชอบของเล่นที่ต้องประกอบเอง นับเป็นการปูทางไปสู่วิศวกรรมเครื่องกลที่เขามุ่งมั่นจะศึกษาต่อ

ทางด้านหนุ่มเหนือ โรจนกร เชิงปัญญา หรือ "พฤกษ์" นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง เผยความรู้สึกทึ่งที่ได้เห็นของเล่นที่ผสมผสานระหว่างฟิล์มและอุปกรณ์ไขลาน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะรวมกันได้ โดยเขาได้เห็นจอภาพในสมัยก่อนที่ใช้ฟิล์มตัดเป็นรูปร่างต่างๆ เพื่อแสดงผลและมีกลไกไขลานควบคุมให้เกิดภาพเคลื่อนไหว และเครื่องเล่นที่อาศัยหลักการ "ภาพติดตา" คล้ายฟิล์มภาพยนตร์โดยเครื่องจะหมุนเป็นวงกลมทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหว

นอกจากนี้เขายังได้รับทราบว่าคำต่างๆ นั้นมีการเปลี่ยนแปลง เช่น คำว่าพฤษภาคมนั้นเมื่อ 80 ปีก่อนเขียนว่า "พรึสพาคม" และกระทรวงในอดีตก็เขียนว่า "กะซวง" เป็นต้น

"ของเล่นเดิมไม่มีเทคโนโลยีซับซ้อนแต่เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ไปเยือนบ้านพิพิธภัณฑ์ก็ได้เห็นของที่หายไป ได้เจอของที่เคยเห็นในวัยเด็ก และได้รู้ว่าโลกเปลี่ยนไปขนาดไหนแล้ว" พฤกษ์ผู้รักการอ่านและสนใจวิชาชีววิทยาเป็นพิเศษเผยถึงสิ่งที่ได้รับจากการเยี่ยมชมสิ่งของที่เคยเห็นได้ทั่วไปสมัยคุณแม่ยังสาว

ส่วนสาวเมืองรถม้าอย่าง ปานหทัย ยาดิบ หรือ "ปาน" นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแม่พริก จ.ลำปาง เผยว่ารู้สึกแปลกใจกับความสามารถของคนสมัยก่อน ซึ่งแม้จะมีเทคโนโลยีที่ไม่ก้าวหน้าและแพร่หลายมากนักแต่ก็สามารถสร้างสรรค์ของเล่นต่างๆ ออกมาได้

อย่างปัจจุบันเรามีกล้องดิจิทัลแต่ในอดีตก็มีกล้องถ่ายรูปที่ใช้มือหมุนปั่นไฟแล้วถ่ายรูปออกมาได้ หรือของเล่นอย่าง "เรือป๊อกแป๊ก" ที่มีแรงดันไอน้ำทำให้เรือแล่นได้ก็เป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์

และที่เธอสนใจมากอีกอย่างคือ "ปฏิทิน" แม่เหล็กที่มีแผ่นโลหะสีส้มเลื่อนไปตามวันที่ต่างๆ ได้โดยใช้แม่เหล็กดูดซึ่งเธอก็ทดลองเล่นอยู่ครู่หนึ่ง

"ของเล่นเหล่านี้ทำให้เกิดมุมมองว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวและวิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปในการเรียน เราสามารถเรียนรู้ได้ว่ารอบตัวล้วนเป็นวิทยาศาสตร์" ปานกล่าว พร้อมเผยว่ามีของเล่นพื้นเมืองที่เรียก "บ่ถบ" เป็นแรงบันดาลให้สนใจวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นของเล่นที่ใช้หลักการเดียวกับแรงดันในฟิสิกส์

"บ่ถบ" มีลักษณะเป็นปล้องไม้ที่มีรูสำหรับบรรจุเศษหนังสือพิมพ์เปียกน้ำชิ้นเล็กๆ แล้วใช้แท่งไม้ที่ขนาดพอดีรูดันให้เกิดช่องอากาศระหว่างปลายไม้และเศษหนังสือพิมพ์ จากนั้นเล็งไปทางเป้าหมายแล้ว "ยิง" ซึ่งจะเกิดแรงดันมากพอที่จะทำให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเจ็บตัวได้

สำหรับบ้านพิพิธภัณฑ์นั้นได้รับบริจาคที่ดินจาก รอ.อาลักษณ์ อนุมาศซึ่งอาศัยอยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์ ส่วนตัวอาคารและเงินทุนในการดำเนินงานนั้นได้รับการบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. โดยเสียค่าเข้าชมในอัตรา ผู้ใหญ่ 30 บาทและเด็ก 10 บาท ส่วนเด็กเล็กเข้าชมฟรี

กาลเวลาต้องเดินไปข้างหน้าพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง หากทุกอย่างย่ำอยู่ที่เดิมเราเองที่จะดิ้นรนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นับเป็นสัจธรรมของทุกสิ่ง

หากแต่การเก็บรักษาสิ่งเก่าๆ ไว้ในพิพิธภัณฑ์ก็นับเป็นการเติมเต็มของว่างทางกาลเวลาให้คนแต่ละช่วงวัยเข้าใจกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งต่อวิวัฒนาการทางความรู้รุ่นต่อรุ่นไม่ให้ขาดช่วง
ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ ของเล่นที่ครูเคยห้ามกำลังจะหายไปในที่สุดเพราะมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อเด็กๆ

หนังสือและโปสการ์ดบอกเล่าเรื่องราวเก่าๆ
ของเล่นคุณแม่ยังสาว
บริเวณหน้พิพิธภัณฑ์มีที่นั่งให้พักดื่มน้ำชา-กาแฟ
ทุกคนต่างจับจ้องเรือป๊อกแป๊กลำจิ๋วที่ลำลอยอยู่บนน้ำ
เจ้าชายแห่งอียิปต์องค์นี้มองตามทุกคน
โต๊ะกลม หรือสรณ์ เยาวพงศ์ศิริ

กำลังโหลดความคิดเห็น