xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจมหกรรมหนังสือ เรื่อง "วิทยาศาสตร์" ยังมีแต่หน้าเก่าแถมถูก "คุณไสย" เบียด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนังสือวิทย์ยังไม่หลุดจากแผงแต่ก็ไม่มีหนังสือหน้าใหม่มาให้ยล
ความจริงการอ่านหนังสือเป็นกิจวัตรที่ควรทำทุกวัน แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากคนไทยจะรักการอ่านอย่างล้นหลาม ในแค่ 2 เทศกาล คือ "สัปดาห์หนังสือ" และ "มหกรรมหนังสือ" เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีหนังสือออกใหม่มากมาย อีกทั้งยังเต็มไปด้วยกลยุทธ์ลด แลก แจก และแถม จึงไม่แปลกใจที่หนอนหนังสือส่วนหนึ่งจะไปออกันในช่วงนี้

วันแรกของการเริ่มงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 12 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 17-28 ต.ค.นี้ ก็เป็นเวลาที่ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" จะออกตามหาหนังสือวิทยาศาสตร์ออกใหม่มาแนะนำให้ท่านผู้อ่าน รู้จักตามประเพณีที่มีงานลักษณะนี้เช่นเคย โดยจุดมุ่งหมายที่สถานรวมพลคนรักการอ่านในทุกเทศกาลนั่นคือ "ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์" เดินวนอยู่หลายรอบกว่าจะมาถึงโซนที่ระบุชัดเจนว่ามีหนังสือวิทยาศาสตร์ให้คนตามหาไม่ผิดหวังแต่ก็แทบหมดแรงเพราะหนังสือที่วางอยู่ในชั้นส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือหน้าเก่าทั้งนั้น

ที่สุดเราก็สะดุดกับหนังสือแปลที่คล้ายจะเอ่ยถึงคนคุ้นเคย Einstein's Violin หรือ "ไวโอลินของไอน์สไตน์" หากแต่โจเซฟ อีเกอร์ (Joseph Eger) ผู้เขียนเรื่องนี้ ตั้งใจจะเอ่ยถึงเรื่องดนตรีเป็นหลัก พร้อมทั้งแนบเอาเรื่องราวของนักฟิสิกส์และวาทะบุคคลสำคัญๆ เพื่อเรียงร้อยดนตรี วิทยาศาสตร์และสังคมมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน หนังสือเล่มนี้เปิดตัวที่บูธสำนักพิมพ์มติชน

ถัดไปในบูธเดียวกันมีหนังสือวิทยาศาสตร์แฟนตาซีสุดล้ำของ "ดร.ป๊อป" ที่ออกใหม่รับงานมหกรรมหนังสือนั่นคือ เดอะซีรีส์ ออฟ ไซออน (The series of Sion : SOS) หนังสือไตรภาคที่ออกภาคแรก The Guardian Rising มาเอาใจแฟนๆ "เดอะไวท์โรด" ส่วนอีก 2 ภาคคือ The Last Guardian และ The Key of Sion จะตามมาในภายหลัง

ก่อนจะผละไปยังบูธของสำนักพิมพ์อื่น เราก็ได้เห็นหนังสือชื่อคุ้นตาซึ่งไม่ใช่ของใครที่ไหนเป็นของอัล กอร์ (Al Gore) ที่เราต้องเรียกเขาใหม่ว่า "เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ" ปีล่าสุดนี่เอง พิศดูคล้ายจะเป็นหนังสือเก่าแต่ An Inconvenient Truth - the crisis of global warming หรือในชื่อไทยว่า "โลกร้อน" ที่แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ ต่างจากเล่มที่คุณากร วาณิชย์วิรุฬแปลไว้ ตรงที่เป็นหนังสือเน้นเนื้อหาที่สรุปใจความสำคัญของ An Inconvenient Truth - ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง นั่นเอง

นอกจากนี้ มติชนยังมีหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องโลกร้อนอีก 3 เล่ม นั่นคือ "ดับโลกร้อนด้วยมือเรา" ของกองบรรณาธิการมติชน "รุก-รับโลกร้อนก่อนโลกหายนะ" โดย บัณฑิต คงอินทร์ และ "มหัศจรรย์พลังงานทดแทนกู้วิกฤติโลกร้อน" โดยกองบรรณาธิการมติชน-ประชาชาติธุรกิจ เรียกได้ว่ารับกระแสความห่วงใยสิ่งแวดล้อมพอดิบพอดี หากแต่ในวันแรกของงานมหกรรมหนังสือยังไม่มีหนังสือทั้ง 3 มาให้ยล

ผ่านไปยังบูธสำนักพิมพ์อนิเมทเห็นหนังสือ "เหยียบดาวอังคาร" (First Landing) ที่พิมพ์ชื่อหน้าปกตัวเป้ง จึงหยิบขึ้นมาดูก็พบว่าได้พลาดหนังสือเล่มนี้ไปหลายปีทีเดียวเพราะหนังสือ พิมพ์ตั้งแต่ปี 2547 เป็นเรื่องราวของดาวอังคารผสานกับจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราไปเหยียบดาวแดงได้จริง แต่งโดยโรเบิร์ต ซูบริน (Robert Zubrin) นักเขียนและวิศวกรอากาศยานชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวของดาวอังคาร

ไม่น่าเชื่อว่าถัดไปจากหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องดาวเคราะห์ของระบบสุริยะจะเป็นหนังสือ "เครื่องรางกับคุณไสย" และหนังสืออีกหลายกองก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ ทั้งไสยศาสตร์เขมร ดวงชะตา พระเครื่อง ดูแล้วช่างต่างกันลิบลับกับหนังสือวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่น้อยนิด

บางทีหนังสือมากมายที่นำเสนอในงานมหกรรมหนังสือเล่านี้ก็อาจจะสะท้อนทั้งความเชื่อและค่านิยมของคนไทยได้เป็นอย่างดี ก็สุดแล้วแต่ว่าใครอยากเลือกอ่าน เลือกรับรู้ในด้านไหนๆ แต่ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" หวังว่าหนังสือเล่มต่อไปที่คุณจะหยิบอ่าน น่าจะเป็นเล่มที่เพิ่มพูนปัญญา สร้างเสริมตรรกะทางความคิด ในศาสตร์ต่างๆ ...แม้จะมีอยู่น้อยนิดในเทศกาลหนังสือแต่ละครั้ง
วันแรกของงานคนยังดูบางตา แต่คาดว่าวันหยุดคนคงจะแน่นขนัด



กำลังโหลดความคิดเห็น