12 วันมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ รมต.วิทย์เผยประสบความสำเร็จด้วยดี พร้อมเดินหน้าพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ต่างจังหวัด –คาราวานวิทยาศาสตร์ในจังหวัดห่างไกล พ้ออยากเห็นผู้ใหญ่มางานมากกว่านี้ ส่วนยอดผู้ชมงานทะลุล้าน แต่ยอมรับเนื้อหาบางจุดยากไป ผุดไอเดียโซนนิ่ง -เรทติ้งนิทรรศการให้ความรู้เด็กเล็ก
มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2550 สิ้นสุดลงในวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค.นี้ ท่ามกลางบรรยากาศที่ค่อนข้างคึกคักและหนาแน่นไปด้วยผู้ร่วมงานเรือนแสน
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยถึงผลการจัดมหกรรมฯ ว่าจากการสังเกตการณ์ก็ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดีและพอใจมาก อย่างไรก็ตาม ก็เห็นความสำคัญของการขยายกิจกรรมวิทยาศาสตร์สู่ต่างจังหวัดมากขึ้นด้วย เพื่อขยายโอกาสแก่เด็กๆ ในส่วนภูมิภาค ซึ่งเวลานี้มีหลายจังหวัด อาทิ สุราษฎร์ธานี และตรัง ที่เห็นความสำคัญของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในท้องถิ่น
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยังชี้ด้วยว่า จะมอบหมายไปยังองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หน่วยงานในสังกัดให้ขยายการจัดคาราวานวิทยาศาสตร์สู่จังหวัดห่างไกลมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่เด็กและเยาวชนจากส่วนภูมิภาคต้องเดินทางไกลมาเยี่ยมชมงานถึงกรุงเทพฯ และอาจเข้าชมกิจกรรมไม่ทั่วถึงเพราะแต่ละวันมีเยาวชนจากโรงเรียนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศมาร่วมงานมาก
“ขณะเดียวกันผมยังมีความเห็นว่างานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ควรจะมีผู้ใหญ่มาร่วมงานมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็กที่เป็นการสร้างกำลังคนในระยะยาว ขณะที่การทำให้ผู้ใหญ่ตระหนักในวิทยาศาสตร์ได้ ก็จะทำให้เขาเข้ามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศได้ในเร็ววันกว่า” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
ขณะที่นายสาคร ชนะไพฑูรย์ ผอ.สำนักบริหาร อพวช.หน่วยงานซึ่งรับหน้าที่จัดมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยถึงยอดผู้ชมงานตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.- 18 ส.ค.ว่ามียอดสุทธิแล้ว 1,136,194 คน ส่วนยอดผู้เข้าชมงานในวันที่ 19 ส.ค.คร่าวๆ มีทั้งหมด 78,000 คน
“เวลานี้ ผมพอใจกับการจัดงานมาก หลังจากก่อนหน้านี้ยังกังวลว่าอาจไม่ได้ยอดผู้ชมงานตามเป้าหมายเดิมที่ 1,200,000 คนตลอด 12 วันของการจัดงาน แต่ช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์นี้มีผู้มาชมงานมาก จนทะลุยอดที่ตั้งไว้แต่แรกก็ได้” ผอ.สำนักบริหาร อพวช.กล่าว ซึ่งในจำนวนผู้มาชมงาน 85% เป็นเยาวชน และอีก 15% เป็นผู้ใหญ่
อย่างไรก็ดี นายสาคร บอกอีกว่า ปัญหาที่พบในงานยังเป็นเรื่องเนื้อหาวิชาการบางจุดที่ยากเกินกว่าเด็กเล็กในชั้นอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้นจะเข้าใจได้ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชมงานประมาณ 15% ของเยาวชนที่มาร่วมงานทั้งหมด โดยปีต่อๆ ไปของการจัดงานจะได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น เช่นอาจมีการจัดโซนนิ่ง หรือการจัดเรทติ้งความรู้สำหรับผู้ชมงานในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้แต่ละคนสามารถแสวงหาความรู้ได้อย่างเต็มที่
ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ยังคิดว่าการพาเยาวชนมาร่วมงานเป็นหน้าที่ของครูซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก ทำให้เด็กๆ คิดว่าเป็นเพียงการเรียนนอกห้องเรียนเท่านั้น
“วัตถุประสงค์ของงานอยู่ที่การสร้างความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ให้แก่คนทุกวัย ซึ่งไทยเรายังมีน้อยมาก โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กๆ โดยการที่งานมหกรรมฯ ปีนี้มีนิทรรศการแห้งอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้เด็กเล็กมากๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออก แทบจะไม่ได้อะไรจากการมางานเลย สังเกตได้จากการเข้าไปซักถามและคำถามที่เด็กๆ สะท้อนออกมา การจัดงานต่อไปจึงต้องเน้นไปที่กิจกรรมซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ลงมือทำมากขึ้น” ฝ่ายจัดงานกล่าวในที่สุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับมหกรรมวิทย์ฯ เพิ่มเติม
-พักข้างเวทีมหกรรมวิทย์ฯ แวะคุยกับ "อาสาหน้าใส" ให้ความรู้ประจำซุ้ม
- "ตอบปัญหาวิทยาศาสตร์" เวทีที่ขาดไม่ได้สำหรับเด็กเก่งวิทย์
- ข่าววิทย์ใน "นสพ.ยักษ์" ฟ้องเด็กอยากได้สื่อเสนอสาระใกล้ตัว-ไฮเทค
- มหกรรมวิทย์ 7 วันแรกยอดผู้ชมทะลุ 6 แสน 30% ชอบนิทรรศการโลกร้อน
- 3 ม.ตั้งสถานีตรวจนิวตรอนสิรินธร วัดรังสีคอสมิกเตือนภัยล่วงหน้า
- นาซาชวนคนไทยรู้จักปีสุริยะฟิสิกส์
- เปิดตัวนิทานดาวเวอร์ชันใหม่ “ดวงอาทิตย์ที่รัก”
- ตะลุยป่าฝนจำลอง "ฮาลา-บาลา" พบไม้เถามหัศจรรย์ที่เดียวในโลก
- หยุดยาววันแรกมหกรรมวิทย์คนบางตา-ตจว.พ้ออย่ารวมศูนย์แต่ กทม.
- "หุ่นยนต์ต้อนรับ" ฝีมือคนไทย
- สมเด็จพระเทพเสด็จฯ เปิดมหกรรมวิทย์ ทรงแนะใช้วิทยาศาสตร์แก้วิกฤติโลก
- "มูราตะ" และกองทัพหุ่นยนต์ญี่ปุ่นถึงสัปดาห์วิทย์แล้ว
- นำเที่ยว "มหกรรมวิทย์ 50"
- “มหกรรมวิทย์ 50” เปิดประตูเข้าชมงานแล้ว
- ชวนชมหุ่นยนต์ปั่นจักรยานในงานสัปดาห์วิทย์ 50
- สมาคมวิทย์ฯ จัดเวทีหาเด็กเก่งวิทย์เขตภาคกลางในสัปดาห์วิทย์ปี 50
- สัปดาห์วิทย์ปี 50 ชู “โลกร้อน” ผ่านโรงหนัง “4 มิติ”
- ชวนน้องๆ "จิตรลดา" เล่น "ว่าวไทย" ชิมลางสัปดาห์วิทย์ 50