xs
xsm
sm
md
lg

พักข้างเวทีมหกรรมวิทย์ฯ แวะคุยกับ "อาสาหน้าใส" ให้ความรู้ประจำซุ้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมและความรู้วิทยาศาสตร์มากมาย เจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครประจำซุ้มกิจกรรมเป้นปัจจัยที่มีความจำเป็น
ในมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ที่กำลังจัดขึ้น ผู้ที่ไปเยี่ยมชมงานคงมีโอกาสได้สนทนากับผู้ให้ข้อมูลประจำซุ้มกิจกรรมมากหน้าหลายตา ทั้งท่าทางอ่อนวัย และแก่เก๋าประสบการณ์ บ้างก็พูดจาฉะฉานตอบได้ทุกคำถาม บ้างก็ติดๆ ขัดๆ แต่เต็มไปด้วยความพยายามจะไขข้อข้องใจให้กระจ่าง นั่นเพราะบางส่วนเป็นมืออาชีพจริงๆ ขณะที่อีกส่วนเป็นน้องๆ นักศึกษา ที่อาสามาให้ความรู้ประจำงาน

"รู้ไหมครับว่าลมเกิดจากอะไร" เสียงหนุ่มน้อยวัย 20 ต้นๆ เอ่ยถามนักเรียนตัวน้อยและผู้ใหญ่สูงวัย ที่กำลังเก็บข้อมูลเรื่อง "ว่าว" อย่างสนใจ บ้างก็ตอบได้ บ้างก็ตอบไม่ได้ แต่สิ่งที่ได้กลับไปเหมือนๆ กันคือ คำอธิบายเรื่องที่มาที่ไปของ "ลม" แบบกึ่งเล่ากึ่งถามให้คิด

"พี่ๆ หนูอธิบายได้ทั้งหมดเลยนะคะ" สาวน้อยผมดัดหยิกไฮไลต์ทรงทันสมัยพูดอย่างกระตือรือล้น เมื่อมีคนหยุดยืนอ่านข้อมูลผ้าหน่วงไฟที่ติดไว้ในอุโมงค์นาโนเทคโนโลยี แม้เธอจะเล่ากระบวนและส่วนผสมของผ้าเคลือบสารนาโนชนิดต่างๆ อย่างติดๆ ขัดๆ บ้าง เพราะเธอไม่ใช่นักวิจัยมืออาชีพ แต่รับรองว่าสามารถตอบคำถามได้เกือบทุกข้อสงสัย เพียงแค่ให้เวลาทบทวนสักหน่อยก็เท่านั้น

ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2550 ทีกำลังจัดขึ้น ณ ศูนย์การแสดงสินค้าไบเทค บางนา นอกจากแผ่นป้าย บอร์ด นิทรรศการ และอุปกรณ์ที่ให้ความรู้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้มากมายแล้ว ส่วนสำคัญที่เพิ่มพูนความรู้ สร้างความน่าสนใจ และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าชมงานไม่น้อยก็คงหนีไม่พ้น เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครให้ความรู้ประจำซุ้มกิจกรรมต่างๆ

ที่สำคัญพวกเขาเหล่านี้นอกจากจะเป็นเจ้าของผลงานวิจัยเอง หรือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานเจ้าของผลงานแล้ว ยังมีจำนวนมากที่เป็นนักเรียนนักศึกษา ที่ไม่หวั่นว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะยากเกินไปสำหรับพวกเขา

ชญพัต เตชะมนตรีกุล นักศึกษาปีที่ 1 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งในอาสาสมัครประจำซุ้มของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าว่า เขามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยหยุดเรียนประมาณ 1 เดือนจากการจัดกีฬามหาวิทยาลัยโลกที่ มธ. ศูนย์รังสิต จึงเลือกจึงใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ด้วยการรับหน้าที่อาสาสมัครในอัตราเบี้ยเลี้ยงวันละ 500 บาท พร้อมกับเพื่อนๆ อีก 20 คน

สำหรับนิทรรศการของ สวทช. ซึ่งใช้อาสาสมัครทำงาน เป็นจุดที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้วิทยาศาสตร์เชิงลึกมากนัก อย่าง “ว่าวไทย” ที่นำมาโยงกับความรู้วิทยาศาสตร์ และ “ผลงานของเยาวชนในโครงการพัฒนาอัจฉริยะภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (เจเอสทีพี)” เฉพาะวันที่เจ้าของผลงานไม่สะดวกมาร่วมงานเอง หรือแม้แต่การเชิญผู้รู้เฉพาะทางมาให้ความรู้แก่เด็กๆ เช่น ลุงนิยม คำซื่อ ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งยึดอาชีพทำว่าวตั้งแต่อายุ 15 ปี

ผมและเพื่อนเคยเข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ของ สวทช. มาก่อน ทำให้ได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่ของ สวทช. จึงได้รับการชักชวนมาเป็นอาสาสมัครตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละคนจะได้รับแบ่งความรับผิดชอบซุ้มของตัวเอง โดย สวทช.จัดอบรมความรู้ในส่วนนั้นๆ ให้แก่อาสาสมัครเป็นเวลา 1 วันเต็มๆ” ชญพัต เล่า

อย่างไรก็ดี นอกจากซุ้มกิจกรรมของตัวเองที่ต้องรับผิดชอบแล้ว ชญพัต เล่าว่า อาสาสมัครทุกคนยังต้องแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนอาสาสมัครในซุ้มกิจกรรมข้างเคียงด้วย เผื่อในกรณีที่เพื่อนอาสาสมัครไปเข้าห้องน้ำ หรือพักรับประทานอาหารก็ต้องพร้อมให้ข้อมูลแทน

ก็ทำได้เรื่อยๆ ไม่รู้สึกเหนื่อยอะไร เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รู้สึกดีที่ได้ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่คนอื่น เพื่อนบางคนก็รู้สึกสนุกและเข้าถึงกิจกรรมมากเมื่อมีเด็กๆ เข้ามารุมถาม”ชญพัตเล่า

ส่วน ศิริรัตน์ จรรยาวุฒิ บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อาสาสมัครดูแลกิจกรรมในส่วนของนิทรรศการไบโอนิก (Bionik) เล่าเช่นกันว่า เมื่อมาเป็นอาสาสมัครแล้ว จะมีหนังสือและการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งตัวอาสาสมัครก็ต้องทำการบ้านเองส่วนหนึ่งด้วย

ไม่รู้สึกว่าเบื่ออะไร แต่บางวันจะเหนื่อยมาก เพราะมีเด็กๆ มาทำกิจกรรมกันมาก ซึ่งเราก็จะอธิบายให้เขาฟังก่อน เด็กบางคนที่ไม่เข้าใจ เราก็จะบอกให้เขาลองทำดู แล้วรอให้เขาถาม หรือเราคอยอธิบายแทรก เขาก็จะเข้าใจได้เอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำหน้าที่ให้ความรู้คนอื่นได้รู้แล้ว เราเองยังได้ความรู้ด้วย” อาสาสมัครรายนี้เสริม

ขณะที่บางซุ้มกิจกรรมจะนำเจ้าของผลงานมานำเสนอผลงานด้วยตัวเอง เช่นอีกซุ้มของ สวทช.ในโครงการ “ICT Kid เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งมี 2 หนุ่มคือจตุพร เวชสรรเสริญ ชั้น ม.6 และพุฒิ กอนแสน ชั้น ม.3 โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จันทบุรี จ.จันทบุรี นำเสนอผลงาน “รีโมตคอนโทรลด้วยภาษาโลโก้” ซึ่งเป็นการพัฒนาโปรแกรม และชุดอุปกรณ์ควบคุมการปิดและเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น ดวงไฟ และสปริงเกอร์

รู้สึกภูมิใจที่ได้นำเสนอผลงานของตัวเองในการจัดงานนี้ที่ค่อนข้างครึกครื้น คนเยอะ และมีคนมาให้ความสนใจ ซึ่งเราก็สามารถให้ความรู้หรืออธิบายผลงานที่เราทำให้คนที่มาชมงานได้รู้ด้วย ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กเล็กๆ ที่ดูแล้วอาจไม่เข้าใจ แต่ก็มีผู้ใหญ่หลายคนสนใจและขอซื้อผลงานไปใช้ที่บ้านหรือที่สวนผลไม้ด้วย” 2 หนุ่มว่า

ส่วนอีกด้านหนึ่ง บางซุ้มกิจกรรมผู้อยู่ประจำจะประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่วิชาการของหน่วยงาน และทีมจัดงานเฉพาะกิจจากภายนอก คือ ซุ้มของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ซึ่งว่าจ้างทีมจัดงานจากพิพิธภัณฑ์เด็ก บ.รักลูก ประมาณ 15 คนมารับหน้าที่จัดงาน พร้อมมีทีมสนับสนุนด้านวิชาการเชิงลึกจาก สทอภ.อีก 7-8 คน

ทางเราจะคุ้นเคยกับการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับเยาวชนอยู่แล้ว จึงไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก เช่นการนำความรู้วิทยาศาสตร์มารวมเข้ากับของเล่นเด็ก บางส่วนเราก็จะมีบอร์ดนิทรรศการให้เขาได้อ่านแล้วยกมาเทียบกับสิ่งใกล้ตัวให้เขาได้เข้าใจ ซึ่งมั่นใจว่าเด็กจะเข้าใจได้” ธนพล แก้ววงษ์ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาการจัดการ นันทนาการ การท่องเที่ยว คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมจัดงานจาก บ.รักลูกของ สทอภ. กล่าว

แต่ถ้าเป็นเนื้อหาเชิงลึกซึ่งผู้ปกครองจะถามหรือเด็กที่มีความสนใจจริงๆ ถามเข้ามาก็จะให้ทีมวิชาการของ สทอภ.ด้านหลังซุ้มกิจกรรมช่วยตอบให้” ธนพล ทิ้งท้าย

ส่วนเสียงสะท้อนจากผู้เข้าชมงาน ส่วนใหญ่ตอบว่าพึงพอใจค่อนข้างมากกับผู้อยู่ประจำซุ้ม ซึ่งฝ่ายจัดงานได้อบรมข้อมูลให้แก่เจ้าหน้าที่ได้ดี –ดีมาก สามารถตอบคำถามได้ดี แต่มีเจ้าหน้าที่ประจำกิจกรรมน้อยเกินไป ทำให้เหนื่อยล้า และไม่สามารถให้ข้อมูลแก่ผู้มาชมงานได้เต็มที่ตลอดทั้งวัน


ทั้งนี้ ผู้เข้าชมงานอย่าง สมบูรณ์ โกวพัฒนกิจ อาชีพค้าขาย จากกรุงเทพฯ ซึ่งพาลูกชายมาร่วมกิจกรรมเป็นวันที่ 2 สะท้อนว่า เขาพยายามเลี่ยงช่วงเวลาที่มีคนมาร่วมงานมากอย่างช่วงเช้าและเที่ยง แต่จะพยายามเลือกมาช่วงเย็น เพราะคนน้อยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้เต็มที่ เมื่อไม่เข้าใจสิ่งใดก็สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ได้ทันที

ก็เห็นใจเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่มาทำงานเพราะคนเยอะ โดยเฉพาะจุดที่เป็นไฮไลต์ของงาน ซึ่งเขาก็ให้ข้อมูลได้ดี ส่วนตัวแล้วรู้สึกพอใจ แต่โดยมากมักถามหรือให้อธิบายอะไรจนเข้าใจไม่ได้เต็มที่ คนอธิบายก็อธิบายของเขาไป ถ้าเราไม่เข้าใจก็จะผ่านไป บางคนก็ถามคำตอบคำ ก็เห็นใจว่าอาจจะเหนื่อยเพราะทำหน้าที่มาตลอดทั้งวัน จึงไม่ติดใจว่าอะไร” ผู้มาร่วมงานตอบ

ท้ายนี้ เขาเสนอด้วยว่า ทางหนึ่งที่อาจแก้ปัญหานี้ได้คือ ฝ่ายจัดงานอาจพิจารณาเปลี่ยนจากการใช้แรงงานคนมาคอยอธิบายเนื้อหาเดิมซ้ำไปซ้ำมา ไปเป็นการอัดเสียงด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ช่วย หรือการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครให้เปลี่ยนกะกันทำงาน ทำให้ผู้ที่ทำงานเหนื่อยแล้วสามารถพักผ่อนได้



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับมหกรรมวิทย์ฯ เพิ่มเติม

- "ตอบปัญหาวิทยาศาสตร์" เวทีที่ขาดไม่ได้สำหรับเด็กเก่งวิทย์
- ข่าววิทย์ใน "นสพ.ยักษ์" ฟ้องเด็กอยากได้สื่อเสนอสาระใกล้ตัว-ไฮเทค
- มหกรรมวิทย์ 7 วันแรกยอดผู้ชมทะลุ 6 แสน 30% ชอบนิทรรศการโลกร้อน
- 3 ม.ตั้งสถานีตรวจนิวตรอนสิรินธร วัดรังสีคอสมิกเตือนภัยล่วงหน้า
- นาซาชวนคนไทยรู้จักปีสุริยะฟิสิกส์
- เปิดตัวนิทานดาวเวอร์ชันใหม่ “ดวงอาทิตย์ที่รัก”
- ตะลุยป่าฝนจำลอง "ฮาลา-บาลา" พบไม้เถามหัศจรรย์ที่เดียวในโลก
- หยุดยาววันแรกมหกรรมวิทย์คนบางตา-ตจว.พ้ออย่ารวมศูนย์แต่ กทม.
- "หุ่นยนต์ต้อนรับ" ฝีมือคนไทย
- สมเด็จพระเทพเสด็จฯ เปิดมหกรรมวิทย์ ทรงแนะใช้วิทยาศาสตร์แก้วิกฤติโลก
- "มูราตะ" และกองทัพหุ่นยนต์ญี่ปุ่นถึงสัปดาห์วิทย์แล้ว
- นำเที่ยว "มหกรรมวิทย์ 50"
- “มหกรรมวิทย์ 50” เปิดประตูเข้าชมงานแล้ว
- ชวนชมหุ่นยนต์ปั่นจักรยานในงานสัปดาห์วิทย์ 50
- สมาคมวิทย์ฯ จัดเวทีหาเด็กเก่งวิทย์เขตภาคกลางในสัปดาห์วิทย์ปี 50
- สัปดาห์วิทย์ปี 50 ชู “โลกร้อน” ผ่านโรงหนัง “4 มิติ”
- ชวนน้องๆ "จิตรลดา" เล่น "ว่าวไทย" ชิมลางสัปดาห์วิทย์ 50








กำลังโหลดความคิดเห็น