xs
xsm
sm
md
lg

ตะลุยป่าฝนจำลอง "ฮาลา-บาลา" พบไม้เถามหัศจรรย์ที่เดียวในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พันธุ์ไม้แปลกตากับเสียงสัตว์ป่านานาชนิดชวนให้เผลอนึกว่ากำลังเดินอยู่ในป่าดงดิบ แต่ที่แท้ก็อยู่ใน "ไบโอจังเกิล" ป่าฝนทางภาคใต้ขนาดย่อส่วนในห้องโถงนิทรรศการของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาตินี่เอง

ซุ้มนิทรรศการชุด “ผจญชีวพงไพร” หรือ "ไบโอจังเกิล" (Biojungle) ที่จำลองมาจากบางส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า "ฮาลา-บาลา" จัดแสดงอยู่ในบริเวณฮอลล์ 106 (HALL 106) ฟังชื่อทีแรกนึกว่าอยู่ใกล้กับกาลาปากอส แต่ถึงบางอ้อเมื่อเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า ฮาลา-บาลา เป็นป่าฝนที่อยู่ในเขตเทือกเขาสันกาลาคีรี จังหวัดยะลาและนราธิวาสนี่เอง

เมื่อเดินผ่านหมู่ไม้ที่อยู่ด้านหน้าเข้าไปก็ต้องประหลาดใจกับภาพเบื้องหน้าที่ไม่ชินตาแลหายากในเมือง มีทั้งต้นไม้ใหญ่ เฟิร์นขนาดยักษ์ ดอกไม้ป่าสีสันสดสวย และเห็ดรูปร่างประหลาด ทั้งยังเสียงก้องกังวาลของมวลหมู่นก กบ และชะนี ที่ฟังแล้วรู้สึกเพลิดเพลินราวกับกำลังเดินชมนกชมไม้อยู่ในป่าใหญ่ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลส่วนนิทรรศการไบโอจังเกิลก็เข้ามาทักทายพร้อมกับให้ความรู้แก่ผู้มาเยือน

"ไบโอจังเกิล เป็นป่าจำลองมาจากป่าฮาลา-บาลา เพื่อนำเสนอในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ซึ่งคนทั่วไปก็มักจะสนใจกับพืชและสัตว์ที่มองเห็นเท่านั้น แต่ในป่ายังเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก พวกเห็ด รา และจุลชีพอื่นๆอีกมากมาย" คำอธิบายของกนกวรรณ สังข์ทอง หรือคุณไก่ เจ้าหน้าที่จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) ที่รับผิดชอบนิทรรศการในส่วนไบโอจังเกิล

ภายในป่าจำลองนี้เจ้าหน้าที่ได้นำเอาพืชและต้นไม้บางส่วนที่พบจริงในป่าฮาลา-บาลา มาแสดง เช่น ดาหลา (กาหลา), กระทือ, เปราะป่า, ยี่โถปีนัง, เฟิร์นมหาสดำ, ปาล์มบังสูรย์ และรากินแมลง เป็นต้น แต่ไฮไลต์ของไบโอจังเกิลอยู่ที่ "ใบสีทอง" หรือในภาษาถิ่นภาคใต้เรียกว่า "ย่านดาโอ๊ะ" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "บัวฮิเนีย ออเรฟอเลีย" (Bauhinia aureifolia) ไม้เถามหัศจรรย์ที่เปลี่ยนสีใบได้ และพบเฉพาะในป่าทางภาคใต้ของไทยเพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้น

ใบสีทองมีลักษณะใบคล้ายรูปหัวใจและเป็นรูปหัวใจกลับตรงปลายใบ ผิวใบมีขนละเอียดอ่อนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ มีใบอยู่ 2 ชนิด คือ กลุ่มของใบสีทองที่พบตรงส่วนปลายยอด และกลุ่มใบสีเขียวในบริเวณอื่นๆ ส่วนที่เป็นใบสีทองเมื่อยังเป็นใบอ่อนจะมีสีม่วงและค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีทองเมื่อใบแก่ขึ้น โดยจะเห็นสีทองชัดเจนในช่วงเดือน มิ.ย. และ ก.ค. จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีทองแดงและสีเงินก่อนที่จะสลัดใบทิ้งไป

พูนศักดิ์ ไม้โภคทรัพย์ หนึ่งในนักวิจัยที่ได้ไปศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในป่าฮาลา-บาลา อธิบายว่า ทีมงานได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ในป่าจริงๆโดยใช้จีพีเอส (Geographic Positionning System:GPS) ช่วยในเรื่องการกำหนดพิกัดของสิ่งมีชีวิตต่างๆที่พบในป่า จากนั้นก็นำข้อมูลที่สำรวจได้มาจัดทำเป็นฐานข้อมูลที่เรียกว่า จีไอเอส (Geographical Information System: GIS) ซึ่งมีประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ในการดูแลและตรวจพื้นที่ป่า ส่วนไบโอจังเกิลนี้ก็จำลองมาจากพื้นที่บางส่วนของป่าฮาลา-บาลา โดยใช้ข้อมูลจากจีไอเอส

ผู้ที่เข้าชมไบโอจังเกิลจะได้ศึกษาธรรมชาติในป่าจำลองอย่างเพลิดเพลินจากเกมค้นหาขุมทรัพย์จุลินทรีย์ที่ซ่อนอยู่ในป่าซึ่งเป็นเห็ด 15 ชนิด โดยใช้แผนที่จีพีเอสช่วยค้นหา ซึ่งได้บอกระดับความสูงจากน้ำทะเลของพื้นที่บริเวณต่างๆในป่า ระบุพิกัดของเห็ดที่ซ่อนอยู่ และคำใบ้เป็นพืชพันธุ์ในสภาพแวดล้อมที่เห็ดชนิดนั้นสามารถเจริญเติบโตได้

ขณะค้นหาเห็ดในไบโอจังเกิล ทำให้รู้สึกราวกับเป็นนักสำรวจกำลังเดินอยู่ในป่าฮาลา-บาลา ได้ฝึกสังเกตพันธุ์ไม้ในป่าจากคำใบ้ในแผนที่ เรียนรู้ว่าพืชชนิดใดพบที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลเท่าไหร่ แต่ขอบอกก่อนนะว่าเห็ดทั้ง 15 ชนิดนั้นเป็นแบบจำลอง ไม่ใช่ของจริงจากป่าฮาลา-บาลา เพราะหากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมจริงๆ ก็ยากที่เห็ดเหล่านั้นจะเจริญอยู่ได้

เมื่อนักสำรวจมือสมัครเล่นพบขุมทรัพย์จุลชีพที่ตามหาและรับรางวัลกันเรียบร้อยแล้ว ทีนี้ก็เข้าสู่กระบวนการศึกษาว่าเจ้าสิ่งที่พบนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใดอย่างที่นักวิจัยตัวจริงต้องทำต่อไป นั่นคือเก็บตัวอย่างเอามาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ แม้จุลชีพในเกมจะเป็นแค่แบบจำลอง แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็เตรียมของจริงไว้ให้ทุกคนได้ศึกษากันแบบไม่หวงวิชาอยู่แล้ว

ตรงสุดปลายทางของป่าไบโอจังเกิลถูกจำลองเป็นห้องปฏิบัติการขนาดย่อม 2 ส่วน คือ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์จุลินทรีย์ และ ห้องปฏิบัติการสำรวจและเก็บรักษา ที่มีอุปกรณ์ต่างๆเหมือนในห้องปฏิบัติการจริงที่นักวิจัยใช้วิเคราะห์จุลชีพใหม่ๆที่สำรวจพบในป่า เพื่อเก็บรักษาจุลชีพนั้นๆสำหรับศึกษาและใช้ประโยชน์ต่อไป

น้องๆหนูๆจะได้ทดลองเขี่ยเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในอาหารเลี้ยงเชื้อลงบนแผ่นกระจกแล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ตื่นเต้นไปกับสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่มีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมแต่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ทดลองเตรียมอาหารสำหรับใช้เลี้ยงจุลินทรีย์ในห้องปฏิบัติการ ฝึกทำลายพิมพ์สปอร์ของเห็ด (Spore print) แล้วส่องกล้องจุลทรรศน์ เขี่ยสปอร์เห็ดลงบนอาหารเลี้ยงเชื้อที่เตรียมไว้ เป็นต้น เราจะได้จานเลี้ยงเชื้อที่เขี่ยสปอร์เห็ดลงไปแล้วกลับบ้านด้วยเพื่อนำไปสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่อ และไม่ต้องกังวลเลยว่าจะติดโรคจากเชื้อจุลินทรีย์ เพราะเขาได้เลือกจุลชีพที่ไม่เป็นอันตรายมาไว้ให้ศึกษากัน ทั้งยังจะได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากจุลชีพเหล่านี้ด้วย เช่น ยีสต์ใช้ทำให้ขนมปังฟูนุ่ม แบคทีเรียบางชนิดใช้หมักนมเปรี้ยว ราบางชนิดให้ประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นต้น

ตื่นตาไปกับป่าจำลองและอิ่มเอมความรู้จากจุลชีพกันแล้ว ก็อย่าลืมช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมให้คงความหลากหลายและอยู่ในสมดุลของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตต่างๆได้เกื้อกูลประโยชน์ต่อกันโดยที่เบียดเบียนกันน้อยที่สุด เพียงเท่านี้ธรรมชาติก็จะยังคงความมหัศจรรย์ให้เราได้ค้นหากันต่อไปไม่มีสิ้นสุด



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับมหกรรมวิทย์ฯ เพิ่มเติม

-พักข้างเวทีมหกรรมวิทย์ฯ แวะคุยกับ "อาสาหน้าใส" ให้ความรู้ประจำซุ้ม
- "ตอบปัญหาวิทยาศาสตร์" เวทีที่ขาดไม่ได้สำหรับเด็กเก่งวิทย์
- ข่าววิทย์ใน "นสพ.ยักษ์" ฟ้องเด็กอยากได้สื่อเสนอสาระใกล้ตัว-ไฮเทค
- มหกรรมวิทย์ 7 วันแรกยอดผู้ชมทะลุ 6 แสน 30% ชอบนิทรรศการโลกร้อน
- 3 ม.ตั้งสถานีตรวจนิวตรอนสิรินธร วัดรังสีคอสมิกเตือนภัยล่วงหน้า
- นาซาชวนคนไทยรู้จักปีสุริยะฟิสิกส์
- เปิดตัวนิทานดาวเวอร์ชันใหม่ “ดวงอาทิตย์ที่รัก”
- หยุดยาววันแรกมหกรรมวิทย์คนบางตา-ตจว.พ้ออย่ารวมศูนย์แต่ กทม.
- "หุ่นยนต์ต้อนรับ" ฝีมือคนไทย
- สมเด็จพระเทพเสด็จฯ เปิดมหกรรมวิทย์ ทรงแนะใช้วิทยาศาสตร์แก้วิกฤติโลก
- "มูราตะ" และกองทัพหุ่นยนต์ญี่ปุ่นถึงสัปดาห์วิทย์แล้ว
- นำเที่ยว "มหกรรมวิทย์ 50"
- “มหกรรมวิทย์ 50” เปิดประตูเข้าชมงานแล้ว
- ชวนชมหุ่นยนต์ปั่นจักรยานในงานสัปดาห์วิทย์ 50
- สมาคมวิทย์ฯ จัดเวทีหาเด็กเก่งวิทย์เขตภาคกลางในสัปดาห์วิทย์ปี 50
- สัปดาห์วิทย์ปี 50 ชู “โลกร้อน” ผ่านโรงหนัง “4 มิติ”
- ชวนน้องๆ "จิตรลดา" เล่น "ว่าวไทย" ชิมลางสัปดาห์วิทย์ 50




แบบจำลองเห็ดขุยไผ่ มีตาข่ายดักแมลง




กำลังโหลดความคิดเห็น