xs
xsm
sm
md
lg

แจงข้อกำหนดมาตรฐาน "เอสเอ็มอี" รับมือส่ง "สินค้าไอที" เจาะตลาดมะกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนคเทคแจงข้อกำหนดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมส่งออกสหรัฐฯ ส่งสัญญาณ "เอสเอ็มอี" ไทยต้องปรับตัวรับมือเปิดเขตการค้าเสรี เชื่อไทยสามารถเจาะตลาด "มะกัน" ได้มาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทซอฟต์แวร์ เพราะอาศัยความคิดสร้างสรรค์สูง-ต้นทุนต่ำเป็นที่ต้องการของต่างชาติ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ระบบความปลอดภัย

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมนับวันมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดสัมมนามาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจประเมินความสอดคล้องของประเทศสหรัฐฯ ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมขึ้นระหว่างวันที่ 20 -21 มิ.ย. ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ โดยมีผู้ประกอบการร่วมรับฟังราว 100 คน

ดร.กมล เอื้อชินกุล นักวิจัยเนคเทค ผู้รับผิดชอบการจัดสัมมนากล่าวว่า เนื่องจากในอนาคตประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดสินค้ารายใหญ่ของโลก ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความสามารถที่จะเจาะตลาดสินค้ากลุ่มนี้ได้มาก ดังนั้น หากผู้ประกอบการเข้าใจแนวโน้มความต้องการของตลาดสหรัฐฯ และสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานของสหรัฐฯ แล้วก็จะสามารถเจาะตลาดแห่งอื่นๆ ทั่วโลก อย่างตลาดสหภาพยุโรปและตลาดเอเชียได้ไม่ยาก

"มาตรฐานสินค้ากลุ่มนี้ของสหรัฐฯ จะถูกกำหนดโดยรัฐเพียงมาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้น เช่น มาตรฐานด้านความปลอดภัย มาตรฐานความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซึ่งจะใกล้เคียงกับมาตรฐานสากลที่ยุโรปยึดถือและไทยก็ปฏิบัติอยู่แล้วมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เรื่องสิทธิบัตร การทดสอบความเป็นพิษ จึงจะไม่มีการกล่าวถึงมากนัก"

"แต่สิ่งที่ต้องการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าใจคือ มาตรฐานขั้นสูงระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเอง โดยสินค้าที่ยึดครองใจผู้บริโภคได้มากที่สุดก็จะเป็นมาตรฐานของสินค้ากลุ่มนั้นๆ ไป ซึ่งเอกชนอื่นๆ ต้องทำให้ได้ โดยไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัวที่จะสามารถระบุเป็นข้อๆ ได้ แต่หากทราบแนวโน้มของตลาด โอกาสทางการค้าก็มีมาก" ดร.กมล กล่าว

อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยยังไม่ทราบแนวโน้มและทิศทางการส่งสินค้าไปขายยังสหรัฐมากนัก ทำให้อาจสูญเสียโอกาสการค้าได้ จึงจัดประชุมซักซ้อมความเข้าใจครั้งนี้ขึ้น โดยมีวิทยากรจากสหรัฐฯ ร่วมชี้แจงให้ผู้ประกอบการไทยรับทราบ ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายทางวิชาการและทางการค้ากับหน่วยวิจัยและภาครัฐที่มีหน้าที่สนับสนุน ทั้งของไทยและสหรัฐฯ โดยเน้นที่กลุ่มสินค้า 4 ชนิดคือ สินค้าโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซอฟต์แวร์ รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน

"ปกติแล้ว ผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อยจะเข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้มากนัก หากอยากทราบก็มีรายจ่ายค่อนข้างสูง การจัดสัมมนานี้จึงได้เชิญให้ผู้ประกอบมาทำความเข้าใจ ลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูล โดยหวังว่าเอกชนเมื่อได้ฟังแล้วก็จะเข้าใจมากขึ้น อาจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหรือตัดสินใจทำตลาดเลย"ดร.กมล กล่าว โดยแนวโน้มสินค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมในอนาคตทั่วโลกมี 4 ข้อ คือ 1.รักษาสิ่งแวดล้อม 2.มีความเป็นดิจิตอลมากขึ้น 3.พกพาสะดวก เชื่อมต่อเครือข่ายได้ง่าย และ 4.มีความปลอดภัยสูง

ส่วนทิศทางของสินค้าทั้ง 4 กลุ่มข้างต้นของไทยในตลาดสหรัฐฯ หลังจากผู้ประกอบการไทยได้ทราบข้อกำหนดต่างๆ แล้ว ดร.กมล มองว่า แม้ในกลุ่มของโทรคมนาคม เอสเอ็มอีไทยจะไม่มีความสามารถมากนัก แต่หากรับทราบและเข้าใจในข้อกำหนดก็จะเป็นแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย เช่น ให้รับจ้างผลิตสินค้า เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนที่ไทยควรผลิตชิ้นส่วนสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพื่อยกขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมของไทย มีความสามารถในการตรวจสอบสินค้าเองได้ และช่วยดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศได้

ขณะที่กลุ่มสินค้าอีก 2 ชนิดที่เหลือ ดร.กมล มองว่า สินค้าโทรคมนาคมและการสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้ อาทิ โทรศัพท์มือถือสำหรับผู้สูงอายุที่มีความซับซ้อนน้อย มีฟังก์ชั่นไม่มาก เพียงรับสายและโทรออก ซึ่งหากออกแบบให้สวยงามตามความถนัดของคนไทยแล้วก็จะทำตลาดได้ไม่ยากนัก เช่นเดียวกับการนำระบบอาร์เอฟไอดีไปใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับอาหารอย่างกุ้งที่ไทยทำได้ดี

"ส่วนสินค้ากลุ่มซอฟต์แวร์ถือเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสมากที่สุด เพราะอาศัยความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการลงทุนด้านอื่น ซึ่งผู้ประกอบการไทยมักทำได้ดี โดยเฉพาะเวลานี้ที่ตลาดซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยทั่วโลกกำลังเปิดกว้างมากเพราะมีการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กันมาก"

ด้าน ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผอ.เนคเทค เสริมว่า มาตรฐานสินค้าระหว่างประเทศนับเป็นประเด็นที่สำคัญ ซึ่งทั่วโลกได้นำมาใช้เป็นแนวทางการค้าโลก โดยเปลี่ยนจากการตั้งกำแพงภาษีมาเป็นการกำหนดด้านมาตรฐาน ดังตัวอย่างของสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และต้องมีการตรวจวัด ทดสอบ เพื่อยืนยันความสอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐานที่เกี่ยวข้องก่อนจึงจะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทยต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงนี้
ดร.กมล เอื้อชินกุล นักวิจัยเนคเทค

กำลังโหลดความคิดเห็น