"สมัย ใจอินทร์" แจงแก้ปัญหา "เอทานอล" ล้นตลาดสอดรับ "โรดแมพ" เชื้อเพลิงชีวภาพ 10 ปี แนะสร้างตลาดรองรับมากขึ้น ยกแนวทางปรับระบบหัวฉีดให้รองรับความเข้มข้นเอทานอลหลายระดับ ชี้ค่ายรถยนต์บราซิล สหรัฐ สวีเดน มีเทคโนโลยีอยู่แล้ว และญี่ปุ่นกำลังทำ ส่วนไทยปรับเครื่อง "มอเตอร์ไซต์" ได้
กลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เสนอ (ร่าง) แผนที่นำทางเทคโนโลยีเชื้อเพลิงชีวภาพระยะ 10 ปี (2551-2560) โดยกำหนดเชื้อเพลิงชีวภาพใน 2 กลุ่ม ได้แก่ ไบโอดีเซลและไบโอเอทานอล ทั้งนี้ได้มีการระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากสถาบันวิจัยภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 49 และ 13 ต.ค.49
นาวาเอกสมัย ใจอินทร์ รองประธานคณะทำงานร่างแผนที่นำทางฯ กล่าวว่าในปี 2554 จะให้มีการใช้เอทานอลทดแทนเบนซิน 10% และใช้ไบโอดีเซลทดแทนดีเซล 10% และในอีกปี 10 ปีข้างหน้าจะผลักดันให้ไทยเป็นประเทศอันดับ 1 ในการผลิตเอทานอลของเอเชีย โดยปัจจุบันถือว่าไทยมีศักยภาพในการผลิตเอทานอลมาก
อย่างไรก็ดีปัญหาของเชื้อเพลิงเอทานอลคือผลิตออกมาล้นตลาด จึงต้องหาทางแก้ไขให้มีตลาดรองรับมากขึ้นซึ่งเชื่อว่าภาครัฐและภาคอุตสาหรรมกำลังแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ เช่น อาจให้รถแท็กซี่ใช้เอทานอล E80 แทนเบนซิน หรือพัฒนาเครื่องยนต์ที่ปรับหัวฉีดให้เข้ากับความเข้มข้นของเอทานอลได้ โดยสามารถปรับใช้เอทานอลที่ความเข้มข้น 10% (E10) หากไม่มีเอทานอลความเข้มข้น 80% (E80)
"ต้องช่วยอุตสาหกรรมพัฒนาเครื่องยนต์ "เฟลกซ์ฟิวล์" (Flex Fuel) ซึ่งค่ายรถยนต์บราซิล สหรัฐ สวีเดนเขามีเทคโนโลยีอยู่แล้ว ส่วนค่ายทางญี่ปุ่นก็กำลังทำ แต่ที่ไทยทำได้คือพัฒนามอเตอร์ไซต์ โดยหัวฉีดของเครื่องยนต์จะมีเซ็นเซอร์บอกว่ามีเอทานอลอยู่กี่เปอร์เซ็นต์และจะปรับเครื่องยนต์ให้เหมาะสม" นาวาเอกสมัยกล่าว พร้อมทั้งแจงทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์จะได้นำร่างดังกล่าวเข้าไปพิจารณาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ด้วย
สำหรับแผนที่นำทางเทคโนโลยีสำหรับเชื้อเพลิงจากไบโอเอทานอลนั้นเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยี การผลิตวัตถุดิบและกระบวนการผลิตเอทานอล โดยตั้งเป้าหมายปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไปว่าต้องผลิตเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ 100 % และคาดว่าจะมีการใช้ไบโอเอทานอล E20 ในยานยนต์ โดยมีเป้าของกำลังผลิตเอทานอลอยู่ที่ 2-5 ล้านลิตรในช่วงปี 2550-2554 และในปี 2560 คาดการณ์ว่าจะมีการผลิตเอทานอล 10 ล้านลิตรต่อวัน และมียานยนต์ที่ใช้เอทานอล E85 ด้วย
ในส่วนของแผนที่นำทางเทคโนโลยีสำหรับเชื้อเพลิงจากไบโอดีเซลนั้นส่วนหนึ่งได้ตั้งเป้าผลิตในปี 2550 ไว้ 3 ลิตรต่อวันและเพิ่มเป็น 12 ล้านลิตรในปี 2560 และได้เสนอให้ขยายต่อโครงการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซล 60 ชุมชนให้เป็น 180 ชุมชนในปี 2554 และเป็น 500 ชุมชนในปี 2560 แต่ทั้งนี้รัฐควรส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานซึ่งเป็นวัตถุดิบให้ชัดเจนและมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามในปี 2549 มีปริมาณการผลิตไบโอดีเซลเพียง 1.8 ล้านลิตรต่อวัน โดยในจำนวนนั้น 8 แสนลิตรยังไม่ได้มาตรฐาน ขณะที่ในปี 2550 นี้ ดร.กิตตินันท์ อันนานนท์ หนึ่งในคณะทำงานร่างแผนที่นำทางฯ จากศูนย์เอ็มเทคคาดการณ์ว่าน่าจะผลิตได้ประมาณ 2 ล้านลิตรต่อวันซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ ดร.กิตตินันท์ให้ความเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของนโยบายที่ยังไม่ชัดเจนจากสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่ไม่แน่ชัดว่าจะส่งเสริมหรือไม่ส่งการผลิตเอทานอล ทำให้ผู้ลงทุนไม่แน่ใจ แต่ก็มีความคืบหน้าของการผลิตในระดับล่าง และคงต้องดูความชัดเจนในช่วงปลายปีที่คาดว่าน่าจะมีความแน่นอนทางการเมืองมากขึ้น
"ตอนนี้คงต้องดูในแง่เทคโนโลยีไปก่อน เพราะไม่ว่าจะต้องการ (เอทานอล) ในปริมาณเท่าใดก็จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีอยู่แล้ว ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกสนับสนุนหรือไม่ก็ตาม โดยมี 2 แนวในการปรับเทคโนโลยี อย่างแรกคือนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วซึ่งเหมาะสมกับประเทศไปถ่ายทอดให้กับผู้ที่พร้อมลงทุน อีกแนวทางคือเพิ่มความสามารถของเทคโนโลยีใหม่ๆ" ดร.กิตตินันท์กล่าว
ขณะที่การส่งเสริมให้ผลิตไบโอดีเซลระดับชุมชนนั้น ดร.กิตตินันท์กล่าวว่าทางกระทรวงพลังงานได้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว โดยในแง่ของปริมาณนั้นมีชุมชนผลิตไบโอดีเซลประมาณ 80 ชุมชนแล้ว แต่ในด้านคุณภาพนั้นยังคงไม่ได้ตามมาตรฐาน พร้อมกันนี้ได้แจงว่าจำเป็นต้องปรับแผนที่นำทางให้เข้ากับความเป็นจริงซึ่งคิดว่าควรจะปรับทุกๆ 6 เดือน