xs
xsm
sm
md
lg

ไอแท็ปช่วยเอกชนพัฒนา “มีดตัดอ้อย” เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีเอ็มซี- ไอแท็ป กระทรวงวิทย์ จับมือเอกชนพัฒนา ‘มีดตัดอ้อยประสิทธิภาพสูง’ เพิ่มคุณภาพการเก็บเกี่ยว ลดความเหนื่อยล้าจากการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมป้อนอ้อยคุณภาพดีเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำตาล

จากปัญหาในกระบวนการผลิตอ้อย ซึ่งมีดตัดอ้อยธรรมดามักตัดอ้อยได้คุณภาพไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้ได้น้ำตาลที่มีคุณภาพด้อยลงไปด้วย จนเป็นเหตุให้มีเอกชนผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยเข้าติดต่อขอความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)

ล่าสุด โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ไอแท็ป) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า จากปัญหาดังกล่าว ขณะนี้ไอแท็ปได้เข้าสนับสนุนทางเทคโนโลยีให้แก่เอกชนดังกล่าวแล้วใน 2 โครงการด้วยกัน

ทั้ง 2 โครงการคือ “โครงการพัฒนาต้นแบบมีดตัดอ้อยด้วยการปรับเปลี่ยนชนิดวัสดุ” โดยมีนายธนาภรณ์ โกราษฎ์ วิศวกรโปรแกรมเทคโนโลยีโลหะ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เป็นที่ปรึกษาโครงการ และ “โครงการพัฒนาสูตรของชิ้นส่วนยางด้ามมีดตัดอ้อย” โดยมี ดร.ชูเดช ดีประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยเทคโนโลยียาง สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ปรึกษาโครงการ

สำหรับการพัฒนาต้นแบบมีดตัดอ้อยนั้น ทีมวิจัยได้ทำการปรับเปลี่ยนชนิดวัสดุจากเนื้อเหล็กแบบเดิม มาเป็นเหล็กแบบใหม่ที่มีคุณสมบัติและคุณภาพที่ดีขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติเบื้องต้นที่ควบคุมได้ โดยสามารถกำหนดเปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนและโลหะผสมได้ จึงเหมาะในการขึ้นรูปและชุบแข็งในขบวนการแบบปัจจุบัน โดยลดเวลาในการลับมีดลง ทำให้ได้มีดตัดอ้อยที่มีความแข็งแรง ทนทาน และมีระยะเวลาในการใช้งานนานขึ้น ลดเวลาในการลับมีดลง ทำให้แรงงานมีรายได้จากการตัดอ้อยเพิ่มขึ้น

ส่วนโครงการพัฒนาสูตรยางในด้ามมีดตัดอ้อย พบว่า ทีมวิจัยสามารถพัฒนาได้สูตรยางใหม่ที่มีคุณสมบัติและคุณภาพสูงกว่าเดิม โดยนำเอาเทคโนโลยียางเข้ามาช่วย ทำให้ยางที่ใช้ทำด้ามมีดทนต่อสภาวะอากาศและการใช้งาน และมีอายุการใช้งานนานกว่าด้ามจับมีดตัดอ้อยที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังมีการปรับเปลี่ยนสีและสูตรยางจากยางสีดำมาเป็นยางที่มีสีสันตามต้องการโดยใช้ “ซิลิก้า” เข้ามาเป็นตัวเสริมในยางด้ามจับมีด ซึ่งนอกจากจะทำให้ยางด้ามมีดสีสันสวยงามแล้ว ยังทำให้มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งในเรื่องของความคงทนต่อสภาวะอากาศ และลดรอยแตก โดยคาดว่า เมื่อได้สูตรยางที่พัฒนาขึ้นใหม่มาใช้ทดแทนสูตรยางเดิมจะทำให้การใช้งานได้นานขึ้นถึง 50-100%

ทั้งนี้ จากความสำเร็จข้างต้น ปัจจุบัน เอกชนที่ได้รับการสนับสนุนทางเทคโนโลยีดังกล่าวได้นำ “มีดตัดอ้อย” ที่พัฒนาขึ้นใหม่ไปทดลองกับสถานที่จริงในฤดูการเก็บเกี่ยวอ้อยแล้วตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. 2549 ถึงเดือน เม.ย.2550 ที่ผ่านมา

ด้าน ดร. นันทิยา วิริยบัณฑร ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี ไอแท็ป กล่าวว่า โครงการสนับสนุนเทคโนโลยีทั้ง 2 โครงการถือเป็นโครงการที่ดี ซึ่งริเริ่มมาจากความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาเครื่องมือสำคัญในการตัดอ้อยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเมื่อชาวไร่อ้อย และคนตัดอ้อยได้ใช้มีดตัดอ้อยที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันก็จะเป็นการช่วยเพิ่มรายได้และลดความเหนื่อยล้าให้กับคนตัดอ้อยและชาวไร่อ้อยได้ทางหนึ่ง

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนจากไอแท็ป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2564-8000 หรือ www.tmc.nstda.or.th/itap


กำลังโหลดความคิดเห็น