ข้าราชการ ก.ทรัพยากร มั่นใจไทยพร้อมใช้พลังงานทดแทน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้วิกฤติโลกร้อน แจงแนวทางของไทยสอดคล้องกับไอพีซีซีอยู่แล้ว
ภายหลังคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้แถลงรายงานฉบับที่ 3 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อบ่ายวันที่ 4 พ.ค.นี้ โดยเสนอทางเลือกด้านพลังงานให้ประเทศภาคี 189 ประเทศใช้เป็นมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยนโยบายพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนและลดการใช้พลังงานพลังงานฟอสซิล หนุนการใช้พลังงานสะอาด
นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่าประเทศไทยสามารถพิจารณาใช้ทางเลือกที่มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ตามแนวทางของไอพีซีซี ดังนี้ คือ1.ทางเลือกในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน โดยการลงทุนในภาคพลังงานจะมีส่วนสำคัญต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ภายในปี 2030 ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานทำได้โดยการลงทุนด้านพลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทางเลือกที่สามารถทำได้ในปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคต
“การใช้เทคโนโลยีเพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจก แต่ต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาด้านเทคนิคและความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่น เช่น พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งมีการพูดกันว่าถือเป็นพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคง”
นายเกษมสันต์กล่าวพร้อมเสนอทางเลือกที่ 2 ในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมและขนส่ง ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยใช้เชื้อเพลิงชีวภาพให้เพิ่มขึ้นและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ทางเลือกที่ 3 คือลดก๊าซเรือนกระจกจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร ทางเลือกที่ 4. คือลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทางเลือกที่ 5 คือลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร
“คาดว่าภายในปี 2030 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรน่าจะทำได้โดยการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในดิน ซึ่งประเทศไทยต้องจับตาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าเพราะป่าสำคัญในการจะช่วยดูดซับก๊าซลงดิน” เลขาธิการ สผ.กล่าว
ทางเลือกที่ 6 ในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้นั้น นายเกษมสันต์กล่าวว่าหากลดการตัดไม้ทำลายป่าลงจะช่วยให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้ 50% ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ทำได้โดยเพิ่มโอกาสในการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดด้านป่าไม้ และทางเลือกที่ 7 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการจัดการของเสีย ซึ่งประเทศไทยจะต้องเฝ้าระวังเรื่องการเผาขยะหรือมลพิษจากการเผาไหม้ และการจัดการน้ำเสีย
นายเกษมสันต์ กล่าวอีกว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการนำเสนอสถานการณ์และผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพื่อกระตุ้นให้แต่ละประเทศกำหนดมาตรการและนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศสมาชิกจะให้ความร่วมมือด้านวิชาการแก่กัน ซึ่งนโยบายของประเทศไทยก็อยู่ในหลักเดียวกับไอพีซีซีอยู่แล้ว
ด้านนางอารีย์ วัฒนา ทุมมาเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์มาตรการ สผ. กล่าวว่าที่ประชุมมีการพูดถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่าประเทศสหรัฐมีการปล่อยมากที่สุด 33% และประเทศพัฒนาแล้วที่ถูกจับตามองให้ลดการปลดปล่อย ซึ่งที่ประชุมได้พยายามจะนำประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากรองลงมาคือ จีน อินเดีย บราซิล เข้ามาอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่จะต้องลดการปล่อยตามเป้าหมายด้วย สำหรับประเทศไทยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 0.6% ถือว่าน้อยมาก และประเทศไทยมีแนวทางการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนที่สอดคล้องกับนโยบายของไอพีซีซี
ทั้งนี้นายราเชนทรา ปาจาอุรี (Rajendra Pachauri) ประธานไอพีซีซีได้กล่าวถึงแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแผนระยะสั้นและกลางในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี ค.ศ.2030 และแผนระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลังจากนั้น รวมทั้งนโยบายมาตรการและกลไกในการดำเนินงานและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พร้อมกันนี้ประธานไอพีซีซีได้ให้ข้อมูลจากรายงานการศึกษาว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ทศวรรษหน้า หากไม่มีการกำหนดนโยบายเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือมีนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 25-90% ในปี ค.ศ.2030 เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยในปีค.ศ.2000 และหากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลยังดำเนินต่อไปหลังปี ค.ศ.2030 มีการคาดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 40-110%