ทีเอ็มซีส่ง "ไอแท็ป" สร้างเครือข่ายวิจัยร่วมมหาวิทยาลัยในเขตภูมิภาค สนับสนุนเอสเอ็มอีไทย ชี้เป็นแรงหนุนสร้างไซน์ปาร์กภูมิภาคลบคำสบประมาท รมต.วิทย์ ยันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้มแข็งได้ไม่ต้องพึ่งพิงตึกอาคาร ผอ.ทีเอ็มซี เชื่อภาคอีสานมีศักยภาพหลายด้าน ทั้งการอาหาร การเกษตร ยานยนต์ ท่องเที่ยว ส่วนรอง ผอ.ชี้ มข.มีลุ้นไซน์ปาร์กแห่งแรกของภาคอีสาน
เพื่อเป็นการปะติดปะต่อภาพ “อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ให้ชัดเจนขึ้น ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับ ม.มหาสารคาม และ ม.อุบลราชธานี จัดพิธีลงนามความเข้าใจเพื่อเพิ่มเครือข่ายบริการของ “โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย” (ไอแท็ป) ขึ้นเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ณ ห้องประชุมกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ “ไอแท็ป” (ITAP) เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยทั่วประเทศ ทั้งที่มีขนาดระดับกลางและระดับย่อม ผ่านการร่วมคิดร่วมสร้างของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการพัฒนากระบวนการการผลิตสินค้าของตัวเองด้วยเทคโนโลยี โดยทีเอ็มซีเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างผู้ประกอบการกับนักวิจัยในสถาบันผู้มีความชำนาญให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการผลิต
ก่อนหน้านี้ ไอแท็ปได้สร้างเครือข่ายหน่วยวิจัยในมหาวิทยาลัยแล้ว 7 แห่ง ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.วลัยลักษณ์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.สงขลานครินทร์ ม.ขอนแก่น และสถาบันไทย-เยอรมัน โดย ม.มหาสารคาม และ ม.อุบลราชธานี จะเป็นเครือข่ายที่ 8 และ 9 ตามลำดับ ที่ผ่านมาไอแท็ปได้ให้บริการแก่ภาคเอกชนแล้วกว่า 5,000 ราย
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ไอแท็ปเป็นโครงการสำคัญในการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ดำเนินการแล้ว และเป็นโครงการที่แสดงให้เห็นว่าการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการจัดซื้ออุปกรณ์หรือการก่อสร้างตึกอาคารอย่างที่มีผู้เข้าใจผิด แต่จะเป็นการพบกันระหว่างผู้ประกอบการที่มีปัญหาด้านการผลิตกับไอแท็ปที่จะหาทางออกของปัญหาให้
ทั้งนี้ การจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเฟสที่ 1 ระยะเวลา 3 ปี จะทำงานโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง คือ ม.ขอนแก่น ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.มหาสารคาม และ ม.อุบลราชธานี ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนล่าง
ด้าน ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผอ.ทีเอ็มซี กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายที่คาดว่าไอแท็ปจะได้รับการตอบรับที่ดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ อุตสาหกรรมสุขภาพ ยา สมุนไพร และสปา รวมถึงอุตสหากรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคนี้
การเก็บข้อมูลของไอแท็ปที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราความสำเร็จอยู่ที่ราว 10% ของโครงการที่ให้การสนับสนุน ส่วนงบประมาณที่ตั้งไว้ 353 ล้านบาทที่จะใช้ในเฟสแรกนั้นจะถูกเฉลี่ยให้กับมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 4 แห่ง เฉลี่ยแห่งละ 30 ล้านบาท/ปี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการให้แก่ภาคเอกชน ตามที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะเสนอขอเข้ามา
ส่วนการดำเนินงานของไอแท็ปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รอง ผอ.ทีเอ็มซี ผู้ดูแลไอแท็ป ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไอแท็ปจะทำงานร่วมกับหน่วยบ่มเพาะเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งแต่เดิมจะให้การสนับสนุนธุรกิจในขอบเขตที่กว้างขวาง ไม่จำกัดเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ทว่า เมื่อไอแท็ปเข้าร่วมโครงการ ในส่วนของไอแท็ปเองก็จะเน้นให้การสนับสนุนด้านธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตเพียงด้านเดียว แต่เชื่อว่าจะทำให้ได้ประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะต่างก็มีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเดียวกัน
“ไอแท็ปจะทำงานกับภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นการพูดคุยกันเป็นรายบริษัทเพื่อให้เขาเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้นกว่าที่เขามีอยู่ ทำให้เขาได้ทำธุรกิจแล้วแข่งขันได้อย่างยั่งยืน" รศ.ดร.สมชายกล่าว
"เมื่อภาคเอกชนมีไอเดียอะไร ไอแท็ปก็เข้าไปช่วย เช่น เขาอาจผลิตสินค้าจำนวนน้อยๆ โดยไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เขาก็อาจอยู่ได้ แต่วันใดที่เขาอยากผลิตสินค้าให้มากขึ้นนับพันนับหมื่นชิ้น และทำให้มีมาตรฐานเดียวกัน ไอแท็ปก็จะไปช่วยเขาในจุดนั้น โดยเราจะทำงานด้านฝึกอบรมหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้น้อยที่สุด เพราะเราไม่ถือว่าเอกชนเขาด้อยกว่าเรา เพราะที่จริงแล้ว เอกชนเขาจะเก่งกว่าเราเสมอ แต่มีเพียงบางจุดที่เขาอยากให้เราเข้าไปช่วย ถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน” รอง ผอ.ทีเอ็มซีอธิบาย
ขณะที่แนวโน้มของการสรรหาสถานที่ก่อสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ขณะนี้ต้องถือว่า ม.ขอนแก่น มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะมีการคมนาคมที่สะดวก มีภาพลักษณ์ที่ดี และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาก โดยเฉพาะด้านอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความไม่แน่นอน เพราะหากจะให้ทราบแน่ชัด จะต้องรอให้เริ่มดำเนินการในเฟส 2 คือช่วงการก่อสร้างตึกและอาคารสถานที่ก่อน โดยหวังว่ารูปแบบการสนับสนุนเอกชนของไอแท็ปและอุทยานวิทยาศาสตร์นี้จะเป็นกลไกทำให้ภาคเอกชนไทยเติบโตอย่างแข็งแรง และเกิดกองทุนที่จะทำให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคอยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว เช่นเดียวกับที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย