xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์ดันมาตรฐานอาหารไทยเข้ามาตรฐานสากลป้อนตลาดอินเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วศ.จับมือไบโอเทคขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยมาตรฐานอินเตอร์ ในระบบ “จีเอ็มพี/เอชเอซีซีพี” พบ 26 อุตสาหกรรมจาก 30 แห่ง ผ่านมาตรฐานรับรองมาตรฐานหลังรับคำปรึกษาและการสนับสนุน เจ้าของโรงงานน้ำปลาเผยผลประกอบการดีขึ้นหลังได้การรับรองคุณภาพส่งสินค้าโกอินเตอร์

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จัดงานแถลงข่าวผลการดำเนินงาน “โครงการสนับสนุนและให้คำปรึกษาในการผลิตเพื่อเป็นไปตามมาตรฐานโคเด็กซ์และเอชเอซีซีพีเพื่อพัฒนาระบบจีเอ็มพี/เอชเอซีซีพี” พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ประกอบการในโครงการที่ผ่านการรับรองคุณภาพขึ้น วันที่ 19 ธ.ค. ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธาน

นายชัยวุฒิ เลาวเลิศ อธิบดี วศ. เล่าว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมลำดับต้นๆ ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารจึงต้องพัฒนาระบบคุณภาพและมาตรฐานต่างๆ ให้เกิดการยอมรับแก่ประเทศคู่ค้า
 
ดังนั้น วศ.และไบโอเทคจึงจัดทำโครงการสนับสนุนและให้คำปรึกษาในการผลิตเพื่อเป็นไปตามมาตรฐานโคเด็กซ์ (Codex) และเอชเอซีซีพี (HACCP) เพื่อพัฒนาระบบจีเอ็มพี (GMP) หรือข้อปฏิบัติในการผลิตอาหารตามมาตรฐานสากล และเอชเอซีซีพี (HACCP) หรือการวิเคราะห์อันตรายและควบคุมจุดวิกฤติ ขึ้นตั้งแต่ปี 48 เป็นต้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับการที่องค์การอนามัยโลกและองค์การการค้าโลกได้ให้การรับรอง 2 มาตรฐานดังกล่าว

สำหรับผลการดำเนินการของความร่วมมือในรอบปีที่ผ่านมา นายชัยวุฒิ เผยว่า ได้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารเข้าร่วมโครงการจำนวนแล้วทั้งสิ้น 30 ราย แบ่งเป็นอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ อุตสาหกรรมเบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม น้ำปลา น้ำกะทิ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารที่เข้าร่วมโครงการด้วย ได้แก่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษและวัตถุดิบอาหารสัตว์

ด้านเป้าหมายของโครงการ อธิบดี วศ. บอกว่า จะมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับการรับรองระบบจีเอ็มพี/เอชเอซีซีพี หรือสามารถผ่านการตรวจประเมินจากหน่วยงานที่ให้การรับรองได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการที่มีความพร้อมขอใบรับรองหรือผ่านการรับรองคุณภาพแล้วจำนวน 26 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 85.7 ตัวอย่างเช่น บริษัท จุลไหมไทย จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิริเรืองอำไพ และบริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด เป็นต้น

ขณะที่ นายปราโมทย์ ล้อทอง จากโรงงานน้ำปลาจักรสุวรรณ เล่าว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้วได้มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานและกระบวนการผลิตในโรงงานหลายอย่างด้วยกัน อาทิ การควบคุมจุดวิกฤติในกระบวนการผลิต เช่น การกำหนดหลักวิธีการทำงานของพนักงาน การทำความสะอาดร่างกายก่อนเข้าสู่ห้องการผลิต สุขอนามัยในห้องน้ำ อ่างล้างมือ และในห้องการผลิต

จากมาตรการดังกล่าว นายปราโมทย์ เล่าว่าได้ส่งผลให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มีคุณภาพดีขึ้น และเป็นที่ยอมรับของลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น โดยมีตลาดหลักคือ สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป เนื่องจากคู่ค้าในเวทีโลกต่างต้องการให้ผู้ส่งออกมีมาตรฐานการผลิตที่รับรองได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ทางด้าน ดร.ดรุณี เอ็ดเวิร์ดส รองผอ.ไบโอเทค กล่าวเสริมว่า ส่วนก้าวต่อไปของโครงการ จะพยายามทำให้ระบบมาตรฐานอาหารเหล่านี้เป็นที่รู้จักในอีกไม่น้อยกว่า 100 บริษัทภายใน 1 ปี และจะเพิ่มเติมระบบมาตรฐานบีอาร์ซี ไอเอสโอ 22000 (BRC ISO 22000) ซึ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศอังกฤษภายในปี 50 นี้ด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น