xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ผิดหวัง! นับฝนดาวตก “เจมินิดส์” ที่เมืองกาญจน์ได้ 500 ดวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครที่พลาดชม “ฝนดาวตกคนคู่” เมื่อคืนที่ผ่านมาอาจจะเสียดาย เพราะครู-นักเรียนเกือบ 30 คน นำโดย “นอ.ฐากูร” ได้ไปนอนนับฝนดาวตกที่ “หอดูดาวเกิดแก้ว” ใต้ฟ้าเมืองกาญจน์ และเห็นดาวตกกว่า 500 ดวง เป็น “ไฟร์บอล” เกือบ 50 ดวง พร้อมเก็บเป็นข้อมูลวิจัย

ช่วงคืนวันที่ 14 ธ.ค. ต่อถึงตี 2 ของวันที่ 15 ธ.ค. นอ.ฐากูร เกิดแก้ว หัวหน้าโครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์หรือลีซา (Learning center for Earth Science and Astronomy: LESA) ได้นำทีมครู-นักเรียนในเครือข่ายเกือบ 30 คนไปสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกคนคู่ หรือ "เจมินิดส์" (Geminids) ณ หอดูดาวเกิดแก้ว อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี

ใช้เวลาสังเกตทั้งหมด 6 ชั่วโมง นับดาวตกได้ประมาณ 500 ดวง ในจำนวนนั้นมีฝนดาวตกลูกไฟหรือ “ไฟร์บอล” (Fireball) ราว 50 ดวง ซึ่งช่วงเวลาที่เห็นฝนดาวตกสูงสุดอยู่ที่ช่วงตี 1 และสิ้นสุดการสังเกตเวลาตี 2 เนื่องจากเป็นช่วงที่พระจันทร์ขึ้น ทำให้มีแสงรบกวน และยังมีเมฆเข้ามาบดบังทางซีกฟ้าตะวันออกในช่วงเวลาดังกล่าวอีกด้วย

อย่างไรก็ดีแม้ครั้งนี้จะมีโอกาสเห็นดาวตกจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถบันทึกภาพได้ เนื่องจากดาวตกมีความเร็วสูง และตกกระจายอยู่ทั่วฟ้า ขณะที่การตั้งกล้องถ่ายภาพจะเลือกบางมุมเพื่อเปิดหน้ากล้องรอภาพดาวตกวิ่งผ่านหน้ากล้องเท่านั้น

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำวิจัยเล็กๆ ในโครงการลีซา โดยนักเรียนและอาจารย์จะถูกแบ่งเป็นกลุ่มละ 4 คน เพื่อรับผิดชอบในการนับดาวตกใน 4 ขอบเขต คือ ทิศเหนือ-ตะวันออก ทิศตะวันออก-ใต้ ทิศใต้-ตะวันตก และทิศตะวันตก-เหนือ และทุกคนต้องระบุเวลาที่เห็นดาวตก รวมทั้งสีและความสว่าง โดยความสว่างจะเทียบกับดาวบนท้องฟ้าและประมาณเป็นค่าความสว่าง หรือ “แมกนิจูด” (Magnitude) ด้วยสายตา เช่น ดาวซิริอุส (Sirius) หรือดาวโจรมีความสว่าง -1 แต่ไฟร์บอลบางลูกมีความสว่างถึง -2 เป็นต้น

กิจกรรมครั้งนี้ต้องการฝึกให้นักเรียนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เราไม่ปลูกฝังให้เด็กเชื่อแต่จะให้ลงมือจริง อย่างโลกร้อนเราก็จะบอกให้เชื่อว่าโลกร้อน แต่จะให้เด็กลงมือวัดจริงๆ และก็ได้ผลว่าร้อนจริง ให้เด็กได้รู้จักคิด โดยอาศัยปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นตัวสอน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนและครูทำแล้วได้ผล” นอ.ฐากูรกล่าว และงานวิจัยเกี่ยวกับฝนดาวตกครั้งนี้จะนำไปเสนอในการผลงานของโครงการลีซาประมาณกลางเดือน ก.พ.นี้

“ที่ผมทำอยู่คือต่อต้านการออกข่าวส่งเดช คนก็ไปฮือฮา พอไม่เห็นก็ผิดหวัง” นอ.ฐากูร กล่าวว่าปรากฏการณ์ฝนดาวตกครั้งนี้มีโอกาสเห็นได้มากกว่าฝนดาวตก “ลีโอนิดส์” (Leonids) ในเดือนที่ผ่านมา แต่คนไม่สนใจเพราะมีการออกข่าวครึกโครมทำให้คนออกไปดู แต่เมื่อไม่เห็นก็ผิดหวังและไม่ดูฝนดาวครั้งนี้ทั้งที่มีโอกาสเห็นมากกว่า

ทั้งนี้ฝนดาวตกให้อะไรมากกว่าความสวยงามและความเพลินตาเท่านั้น นอ.ฐากูรเล่าว่า นักวิจัยอาศัยข้อมูลฝนดาวตกในการศึกษาวงโคจรของดาวหาง เพื่อจับตาวัตถุใกล้โลก (Near Earth Object: NEO) ที่มีโอกาสพุ่งชนโลก เนื่องจากยอมรับกันว่าครั้งหนึ่งดาวหางเคยพุ่งชนโลกและทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์โดยฉับพลันกว่า 70% ซึ่งตอนนี้ก็มีการค้นพบวัตถุที่โคจรเข้าใกล้โลกมากกว่าดวงจันทร์ประมาณ 2-3 ดวง

นอกจากการศึกษาปรากฏการณ์ฝนดาวตกจะทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้จับตาวัตถุที่เคลื่อนมาใกล้โลกแล้ว วิภู รุโจปการ นักศึกษาปริญญาเอกด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์อยู่ที่หอดูดาวสตีวาร์ด (Steward Observatory) ภาควิชาดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มาร่วมกิจกรรมนี้ด้วย กล่าวว่าลักษณะของดาวตกยังช่วยให้นักวิทาศาสตร์ศึกษาที่มาของระบบสุริยะได้ โดยสีของดาวตกจะบ่งบอกถึงธาตุที่เป็นองค์ประกอบ และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ “แกะรอย” ไปถึงกำเนิดระบบสุริยะได้

วิภูได้ยกตัวอย่างว่า สีเขียวของดาวตกบ่งว่ามีเป็นสีออกไซด์ของทองแดง ซึ่งเป็นธาตุหนักและไม่สามารถเกิดได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (Fusion) ภายในดวงดาวเอง แต่จะเกิดจากซูเปอร์โนวา (Supernova) เท่านั้น และการที่ดาวดวงหนึ่งตายลงและเกิดเป็นซูเปอร์โนวานั้นอาจส่งผลให้เกิดดาวได้ เช่น ดวงอาทิตย์ เป็นต้น เพราะกำเนิดสุริยะนั้นมาจากการยุบตัวของกลุ่มก๊าซ แต่กลุ่มก๊าซจะไม่ยุบตัวลงเองนอกจากมีแรงผลักจากภายนอก และแรงระบิดของซูเปอร์โนวาก็อาจส่งผลให้กลุ่มก๊าซยุบตัวได้

ด้านนางภัทริน รัตนโกเศศ ครูชำนาญการจากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดลำปาง กล่าวถึงการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า ประทับใจเทคนิคนับฝนดาวตกเพราะไม่เคยทำมาก่อน และนำเทคนิคดังกล่าวไปเผยแพร่ในการจัดค่ายของศูนย์ต่อไป โดยในส่วนของดาราศาสตร์นั้นก็ทั้งที่จัดกิจกรรมขึ้นภายในศูนย์รวมทั้งจัดกิจกรรมแบบเคลื่อนที่

ส่วนนายเอกและนางแจ่มศรี การะเกตุ อาจารย์วิทยาศาสตร์ โรงเรียนบรรหาร-แจ่มใสวิทยา 6 จ.สุพรรณบุรี ได้กล่าวถึงกิจกรรมดูฝนดาวตกว่า อยากให้นักเรียนของพวกเขาได้มีโอกาสเข้าร่วม โดยนักเรียนส่วนใหญ่มีความสนใจแต่ไม่สามารถออกค่าจ่ายเองได้ ทั้งนี้อาจจะจัดกิจกรรมนับฝนดาวตกเจมินิดส์ขึ้นในโรงเรียน เนื่องจากยังมีโอกาสสังเกตไปจนถึงวันที่ 19 ธ.ค.

สำหรับใครที่พลาดชมฝนดาวตกเจมินิดส์ครั้งนี้ยังคงมีหวัง เพราะยังมีเวลาให้นอนนับดาวตกได้จนถึงคืนวันที่ 19 ธ.ค. ซึ่ง นอ.ฐากูรก็ยืนยันว่ายังโอกาสเห็น แต่ปริมาณฝนดาวตกอาจจะไม่มากเหมือนคืนวันที่ 14 ธ.ค. โดยคาดว่าคืนวันที่ 15 ธ.ค.นี้น่าจะเห็นฝนดาวตกได้ประมาณ 50 ดวงต่อชั่วโมง







กำลังโหลดความคิดเห็น