xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยดีเด่น 49 ลั่นไม่อยากเห็น “ข้าวหอมจีเอ็ม” นอกตีข้าวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยดีเด่น 49 สาขาเกษตร ลั่นไม่อยากเห็น “ข้าวจีเอ็มโอ” นอกที่มียีนความหอมมาทำลายตลาดข้าวไทย กลัวจีนผลิตได้ทั้งหอมและมากกว่า 2-3 เท่า เผยกำลังเร่งขอสิทธิบัตรยีนความหอม แจงได้แล้ว 8 ประเทศ สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอังกฤษ ขณะที่ออสเตรเลียก็แข่งจดสิทธิบัตรได้ยุโรปทั้งทวีปแล้ว

รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2549 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เผยว่าไม่อยากเห็นข้าวที่มียีนความหอมมาทำลายตลาดข้าวของไทย เพราะจีนสามารถข้าวที่ตัดต่อพันธุกรรมได้มากกว่าไทยถึง 2-3 เท่า แล้วถ้าเขาสามารถใส่ยีนความหอมเข้าไปก็จะกระทบกับไทยอย่างมาก

สิ่งที่ รศ.ดร.อภิชาติทำได้ขณะนี้คือการต่อสู้ทางกฎหมาย โดยพยายามจดสิทธิบัตรยีนความหอมของข้าว ซึ่งขอได้ใน 8 ประเทศแล้วคือ ประเทศ สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอังกฤษ ขณะเดียวกันทางประเทศออสเตรเลียก็กำลังขอสิทธิบัตรยีนความหอมเช่นกัน โดยขอในประเทศออสเตรเลียและยุโรปได้แล้ว แต่ทั้งนี้ไม่น่ากลัวเพราะสหรัฐเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าอียู

นอกจากนี้รศ.ดร.อภิชาติยังเปิดเผยอีกว่าไทยรู้หน้าที่ยีนความหอมได้ดีกว่าประเทศอื่น แม้นักวิจัยจากสหรัฐจะเป็นผู้ค้นตำแหน่งยีนความหอมได้เป็นคนแรก และนักวิจัยไทยค้นพบเป็นลำดับที่ 2 พร้อมทั้งอธิบายอีกว่าการโคลนหรือทำสำเนายีนความหอมนั้นค่อนข้างยาก เพราะตามหากลิ่นได้ยาก ในเมืองไทยมีคนที่ทำได้เพียง 3 คน แต่บางครั้งก็คลาดเคลื่อนไปตามประสาทสัมผัส ซึ่งทางที่ดีควรจะมีเครื่องมือเฉพาะสำหรับความหอมของข้าว

ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยในพิธีประกาศรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2549 ณ โรงแรม ดิ เอ็มเมอรัลด์ รัชฎา วันที่ 12 ธ.ค.นี้ โดยมีผู้ได้รับรางวัลดังกล่าว 7 คน ใน 7 สาขา คือ

1.ศ.ดร.ทวี ตันฆศิริ จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากผลงานในการค้นคว้าทางด้านฟิสิกส์ของวัสดุ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษางานวิจัยทางด้านการประยุกต์ใช้เซรามิกเฟียโซอิเล็กทริกในอุปกรณ์การแพทย์

2.ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์ มุทิรากูร จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ของการเกิดมะเร็ง ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากผลงานการค้นคว้าวิจัยลักษณะพันธุกรรมในระดับโมเลกุลของมะเร็งและโรคอื่นๆ ที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน อันไปสู่การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยต่อไป

3.ศ.ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลในสาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานวิจัยเรื่องโปรตีน “ฮิสโตนส์” (Histones) และทำการหาวิธีจำแนกโปรตีนนี้ออกเป็น 5 ชนิด โดยใช้กระแสไฟฟ้าในการแยก จากนั้นได้ค้นพบยีนฆ่าลูกน้ำยุงและสร้างแบคทีเรียลูกน้ำยุง รวมถึงการใช้เทคนิคทางพันธุกรรมตรวจหาเชื้อมาลาเรีย รวมถึงการศึกษาที่อาจนำไปสู่การป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้ในอนาคต

4.รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รับรางวัลในสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากการค้นพบยีนความหอมของข้าวไทยและยีนทนน้ำท่วมที่สามารถนำมาปรับปรุงข้าวหอมมะลิ 105 ให้ทนน้ำท่วมได้นาน 2 สัปดาห์ รวมถึงค้นพบพันธุ์ข้าวหอมนิลที่มีธาตุเหล็กสูง

5.ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ได้รับรางวัลในสาขาปรัชญา จากการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งนี้เน้นการศึกษาภาษาโดยบูรณาการเข้ากับศาสตร์อื่นๆ ผ่านวิธีคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยปัจจุบันกำลังศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติเพื่อพัฒนาชุมชนใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มมอญและกลุ่มละเวือะ รวมถึงศึกษาการใช้ภาษาเพื่อการศึกษาและสื่อสารที่มีประสิทธิภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งคาดหวังว่างานวิจัยดังกล่าวจะมีประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่าเป็นแค่หนังสือกองโต

6.ศ.ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลในสาขานิติศาสตร์ โดยมีผลงานด้านกฎหมาย 3 ลักษณะ คือ 1.ผลกระทบการเปิดการค้าเสรีด้านการค้าบริการที่มีต่อไทยในอนาคต 2.งานวิจัยด้านกฎหมายทะเลโดยเฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศ และ 3.งานวิจัยด้านกฎหมายท่องเที่ยว

7.รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สภาอานันท์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลในสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ จากผลงานวิจัยด้านปรัชญาการเมืองที่ศึกษาถึงความรุนแรงในสังคมไทย โดยเฉพาะงานวิจัยเกี่ยวกรณี “ย่างศพทารก” ที่สะท้อนให้เห็นว่าแม้สังคมไทยจะเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา แต่บางเสี้ยวของวัฒนธรรมถูกนำไปใช้ให้เกิดความชอบธรรมในการทารุณต่อเด็กในสังคม

ทั้งนี้นักวิจัยดีเด่นประจำปี 2549 ทั้ง 7 คนจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 300,000 บาท และเหรียญนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พร้อมทั้งประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรี ในงานวันประดิษฐ์ ประจำปี 2550 ที่จะมีขึ้น ในวันที่ 2 ก.พ.2550 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา-ตราด

กำลังโหลดความคิดเห็น