xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์-อุตฯ ระดมสมองวิพากษ์ร่างแผนแม่บททางปัญญาพัฒนาการผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
ก.วิทย์-อุตสาหกรรมระดมนักวิทยาศาสตร์ ผู้ประกอบการและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยร่วมกันพิจารณาร่างแผนแม่บททางปัญญา หวังยกระดับภาคการผลิตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ยงยุทธยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น-อินเดีย ที่ก้าวหน้าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แนะไทยต้องหาจุดสมดุลของเองจากบทเรียนของ 2 ประเทศ

วันที่ 24 พ.ย. ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา “(ร่าง) กรอบแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ โดยร่างแผนแม่บทดังกล่าวเกิดจากการประชุมหารือของผู้บริหารของ วท. และกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบให้ทั้ง 2 กระทรวงร่วมร่างแม่บท และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล

ศ.ดร.ยงยุทธกล่าวระหว่างการเปิดสัมมนาว่า อนาคตของภาคอุตสาหกรรมนั้นต้องพึงความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะองค์ความรู้จากงานวิจัย ซึ่งจะนำไปประยุกต์เป็นพื้นฐานภาคอุตสาหกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไทยได้ ซึ่งที่เห็นภาพชัดเจนว่าเป็นจุดแข็งของไทยคือเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุ เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ได้อย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตามช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานั้นเกิดจากการมุ่งใช้ทรัพยากรและแรงงานอย่างเดียว ซึ่ง ศ.ดร.ยงยุทธกล่าวว่าเป็นเรื่องเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศ หากต้องพึ่งพาการจัดการเทคโนโลยีจากต่างประเทศโดยที่เราไม่เข้าใจและสร้างเองได้ จากนั้นได้ยกตัวอย่าง 2 ประเทศในโลกคือ ญี่ปุ่นและอินเดียที่มีความสำเร็จในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนาการพัฒนาประเทศ

สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้นเริ่มมีการพัฒนามาจากสมัยเมจิหรือตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย และมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วไปสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจ แล้วมาสะดุดช่วงสงครามโลก แต่ก็พัฒนาขึ้นมาได้ ทั้งนี้ญี่ปุ่นเน้นเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่ต่อมาญี่ปุ่นก็เห็นว่าเพียงเทคโนโลยีอาจจะไม่เพียงพอ จึงได้ตั้งกฎหมายพื้นฐานสำหรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งบังคับให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนวิทยาการขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลขึ้น

ส่วนประเทศอินเดียนั้น ศ.ดร.ยงยุทธเล่าว่า ในระยะ 5-10 ปีนี้ อินเดียมีความก้าวหน้ารวดเร็วมากซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะเป็นม้ามืดที่มาเป็นที่หนึ่ง ของโลก ก่อนหน้านี้อินเดียไม่ได้อยู่สายตาของชาวโลก เพราะเป็นประเทศที่ยากจน แต่วิสัยทัศน์ของผู้นำในอดีตมุ่งเน้นทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นแนวทางที่ผิดเพราะไม่สามารถใช้งานได้ แต่ก็ต้องแปลกใจที่อินเดียสามารถพุ่งไปอย่างรวดเร็ว หลายประเทศเข้ามาทำวิจัยพื้นฐานในอินเดียเพราะค่าแรงถูกแต่นักวิจัยมีคุณภาพ และอินเดียก็สามารถใช้คณิตศาสตร์ที่เป็นเบื้องหลังของประเทศในการพัฒนาไอที

รมว.วิทยาศาสตร์ตั้งคำถามว่าประเทศไทยจะได้บทเรียนอะไรจาก 2 ประเทศนี้ โดยขณะนี้ไทยกำลังอยู่ระหว่างอินเดียและญี่ปุ่น เราจึงน่าจะใช้องค์ความรู้ที่มีสร้างความสมดุลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น และเพื่อให้มีโครงสร้างทางปัญญาที่เข้มแข็ง จึงต้องมีร่างแผนแม่บททางปัญญาขึ้น และแผนนี้จะไม่สัมฤทธิ์ผลหากขาดความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างนักวิจัย ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และการสร้างปัญญาก็ไม่ใช่ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงทุกภาคส่วน ทั้งการจัดการ พาณิชย์ กฎหมายและการเมือง

ทางด้านนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความต้องการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมการผลิตต้องเน้นไปถึงความพึงพอใจของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เมื่อเราพัฒนาเทคโนโลยีจนถึงจุดที่ผู้บริโภคอิ่มตัวและเริ่มตระหนักว่าไม่ต้องการสินค้าที่เป็นแมส (mass) แต่อยากได้สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ (niche) มากกว่า ดังนั้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างฐานทางการตลาดให้เพิ่มมากขึ้นได้

"ทุก 20 ปีจะมีบริษัทครึ่งหนึ่งหายไป ขณะที่อีกครึ่งยังอยู่ได้ นั่นก็เพราะพวกเขาสร้างนวัตกรรมขึ้นมา" นายปิยะบุตรกล่าว โดยได้ยกตัวอย่าง 3เอ็ม ที่ค้นพบ "โพสต์อิท" (post-it) ที่เป็นความต้องการใช้งานมาจากฝ่ายเลขานุการในบริษัท จนกลายเป็นสินค้าหลักและสร้างชื่อเสียงให้แก่บริษัท ซึ่งนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องมาจากการคิดที่ซับซ้อนและไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทว่าการมุ่งสร้างนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ไม่รู้จักจัดการก็ไม่สามารถนำมาพัฒนาได้

ขณะที่ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัด วท. ได้กล่าวถึงขีดความสามารถและการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีการจัดการด้านทรัพยากรบุคคล และกระทรวงพร้อมทุกส่วนการร่วมมือพัฒนาทั้งบุคคลากร การวิจัยเพื่อพัฒนา รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ทั้งนี้แนวคิดการสร้างแผนแม่บททางปัญญาเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลชุดนี้เล็งเห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยพัฒนาแต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่ได้มุ่งเน้นโครงสร้างทางปัญญา ทั้งนี้ ศ.ดร.ยงยุทธแสดงความเห็นว่าแผนแม่บทฯ นี้อาจต้องใช้เวลานานถึงจะสำเร็จ แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ แต่ก็ได้แสดงทิศทางและวางรากฐานในอนาคตให้รัฐบาลต่อไปนำไปใช้ได้
การสัมมนา ร่างแผนแม่บททางปัญญา

กำลังโหลดความคิดเห็น