น้อยนิดกับ “หนังสือวิทย์” ในมหกรรมหนังสือ บูธมติชนเปิด 2 ปกใหม่ “เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์-พร้อมรบรับมือหุ่นยนต์ปฏิวัติ” ฟากสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์เปิดตัวหนังสือธรรมชาติวิทยาแห่งหมู่เกาะกาลาปากอส ด้าน “นานมี” ปล่อยการ์ตูนวิทย์ลงแผง พร้อมหนังสือแปลประวัติ “ฮอว์กิง”
ฤดูกาลสำหรับหนอนหนังสือเวียนมาอีกครั้งกับ “มหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 11” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-29 ต.ค.นี้ งานนี้ “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ก็ได้เวลาขยับออกไปตามหาหนังสือวิทย์ๆ ทั้งเพื่อแนะนำคุณๆ และเพื่ออ่านประดับความรู้ทีมงาน ก่อนเดินทางไปถึงเป้าหมายคือ “ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” นั้น เราตั้งใจกันว่าจะหาหนังสือวิทยาศาสตร์ที่อ่านกันแบบนอกเวลาเรียน อ่านง่ายๆ สนุกๆ ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นหนังสือ-ตำราสำหรับเตรียมสอบหรือสารานุกรมจึงไม่อยู่ใน “ลิสต์”
เริ่มต้นสำรวจกันที่โซนเมน ฟอยเยอร์ผ่านไป 10 บูธไม่เจอสิ่งที่ต้องการ จึงตรงต่อไปที่โซนพลาซาถึงบูธ “มติชน” ที่มีหนังสือแนววิทยาศาสตร์ออกมาในงานหนังสือทุกครั้งแต่ครั้งนี้เปิดตัวมาอย่างเงียบๆ และมีหนังสือน่าสนใจมาใหม่ คือ ใครว่าโลกกลม (The World is Flat) เล่ม 1 หนังสือขายดีที่สุดในโลกตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ผลงานของโทมัส ฟรีดแมน (Thomas L. Friedman) ที่แปลโดย รอฮีม ปรามาส
"โครว่าโลกลม" เริ่มด้วยการกล่าวถึงการเชื่อมต่อทั่วโลกแบบไร้พรมแดน ชนิดที่ว่าโอเปอรเรเตอร์สาวในอินเดียอธิบายเส้นทางในนิวยอร์กให้หนุ่มอเมริกันที่กำลังหลงทางได้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ทำให้รูปแบบการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในศตวรรษที่ 21 ถือเป็นการโลกานุวัตรเวอร์ชั่น 3.0 (เวอร์ชั่น 1.0 ปี 2035 เมื่อโคลัมบัสพบอเมริกา-การแสวงหาอาณานิคม ส่วนเวอร์ชั่น 2.0 ปี 2343 บริษัทข้ามชาติหาตลาดและแรงงานในโลกตะวันออก) ตามที่ฟรีดแมนเสนอไว้
ฟรีดแมนชี้จุดเริ่มที่ทำให้โลกแบนนั้น เริ่มตั้งแต่การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในปี พ.ศ.2532 เป็นจุดเริ่มแห่งชัยชนะระบบเสรีประชาธิปไตย และอีก 5 เดือนต่อมาโปรแกรม "วินโดวส์" (Windows 3.0) ก็วางตลาด จากนั้นการเกิดขึ้นของ "เนตสเคป" (Netscape) ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้สะดวกขึ้น จนเกิดกระแส "Dot-Com boom" และการวาง Fiber Optic ทำให้เกิดการสื่อสารได้ทั่วโลก
ไล่เรียงไปถึงการเขียนโปรแกรมให้แก้ไขโดยเสรี (open source) การเอาไปให้คนอื่นทำ (Outsourcing) การย้ายฐานการผลิต (Offshoring) การกระจายสินค้าอย่างเป็นระบบ (Supply-Chaining ) และการเอามาทำเอง (Insourcing ) รวมถึงการเกิดของ "กูเกิล" (Google) "ยาฮู" (Yahoo) และเอ็มเอสเอ็น (MSN) การเข้าถึงข้อมูลโดยเสรีทำให้โลกทรรศน์ของผู้คนนั้นกว้างขวาง
โลกในยุคโลกานุวัตรที่ใครต่อใครติดต่อกันได้โดยไม่ต้องใส่ใจระยะทาง จึงกลายเป็นที่มาของความคิดที่ว่า "โลกเราอาจจะแบนเหมือนที่เคยเชื่อกันก็ได้" แม้จะไม่ใช่หนังสือเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็อดหยิบขึ้นมาแนะนำไม่ได้ เพราะหนังสือเล่มนี้อธิบายถึงผลการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องจากโลกานุวัตร ทำให้เข้าใจลึกซึ้งถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา
ในบูธของมติชนก็มีหนังสือวิทยาศาสตร์เบาๆ ที่น่าสนใจ คือ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์ ที่รวบรวมข่าววิทยาศาสตร์ในหน้าเยาวชนของหนังสือพิมพ์ข่าวสดมาไว้ในพอคเก็ตบุ๊คส์เล่มเหมาะมือ ซึ่งหลายๆ ข่าวก็เป็นเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ อาทิ “ราแห่งเดดซี” กล่าวถึงราที่ชื่อ “ยูเรเทียม เฮอร์บาเรียรัม” ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลแห่งความตาย (Dead Sea) ที่มีความเค็มกว่าทะเลทั่วไปถึง 10 เท่าได้ ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาพันธุกรรมของพืชที่ทนดินเค็มได้ เป็นต้น
อีกเล่มคือ พร้อมรบรับมือหุ่นยนต์ปฏิวัติ (How to survive a robot uprising) หนังสือคู่มือเอาตัวรอดเมื่อมนุษย์ต่องรบกับหุ่นยนต์ เขียนโดย แดเนียล วิลสัน (Daniel H. Wilson) และแปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์ ตัวอย่างการรับมือหุ่นยนต์รับใช้ที่คิดการกบฎ ด้วยการใช้ๆ เพื่อพลาญพลังงานให้หุ่นยนต์หมดแรง แล้วแอบถอดแบตเตอรี (คิดได้ไง!)
นอกจากหนังสือใหม่แล้วหนังสือเก่าอย่าง นาโนเทคโนโลยี ที่พิมพ์มาแล้ว 8 ครั้ง ก็ยังคงได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่แวะมาหาความรู้ เช่นเดียวกับ สเต็มเซลล์ ดีเอ็นเอ และชีวจริยธรรม ที่ถูกหยิบจับขึ้นมาพิจารณาอย่างต่อเนื่อง และยังมีสมุดบันทึก I wish to work miracles… (ฉันปรารถนาจะสร้างปาฏิหารย์) ที่รวบรวมคำคมๆ จาก ลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo Davinci) ปราชญ์ที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และศิลปินเลื่องชื่อ
ถัดจากบูธมติชนเราก็เดินสำรวจหนังสือกันต่อ ผ่านไป 2 โซนก็มาสะดุดที่ผู้ชายร่างท้วม ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กำลังโปรโมทหนังสือเล่มใหม่ สุดขอบฟ้ากาลาปากอส ณ บูธ “สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์” จึงเข้าไปถามไถ่แล้วได้ทราบว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาของหมู่เกาะกาลาปากอส ที่เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์กึ่งไลฟ์สไตล์กึ่งท่องเที่ยว เปิดดูภาพประกอบหนังสือก็เต็มไปด้วยสารพัดสัตว์แปลกๆ ที่หาดูได้เฉพาะในหมู่เกาะกาปากอส งานนี้ ดร.ธรณ์แอบกระซิบมาว่า ซื้อหนังสือภายในงานแถมดีวีดีประกอบหนังสือที่ซื้อที่อื่นไม่ได้ด้วย
จากนั้นเราตามล่าหาหนังสือวิทยาศาสตร์กันต่อ สุดท้ายก็มาถึงบูธ “นานมีบุ๊คส์” ที่มีเด็กๆ แน่นขนัด เนื่องจากต่อคิวรอซื้อชุดการ์ตูนวิทยาศาสตร์แสนสนุกที่ออกเล่มใหม่มา 4 เล่มติด คือ เอาตัวรอดในถ้ำลึก เอาตัวรอดในป่าใหญ่ เอาตัวรอดในแผ่นดินไหว และเอาตัวรอดในขั้วโลกใต้ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยของ “โมโม่” การ์ตูนวิทยาศาสตรือีกเล่มที่น่าสนใจคือ “แพนด้ายอดนักสืบ” เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าแพนด้าที่ใช้วิทยาศาสตร์ไขคดีปริศนา 19 คดีด้วยวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ก็มีหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับผู้ใหญ่อย่าง สตีเฟน ฮอว์กิง หนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของนักฟิสิกส์ร่างพิการผู้อัจฉริยะ เขียนโดย ไมเคิล ไวท์ (Michael White) และแปลโดย ภาณุ ตรัยเวช นักเขียนเจ้าของผลงาน "เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์" ผู้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้
เดินสำรวจหนังสือกันอยู่หลายชั่วโมง สุดท้ายเราจึงได้ตระหนักมีอยู่ 2 สำนักพิมพ์คือ “นานมีบุคส์” และ “มติชน” ที่ยังคงมีหนังสือวิทยาศาสตร์ติดสำรวจของทีมงานเหมือนเช่นทุกครั้งที่มีงานอย่างนี้ จึงอดคิดไม่ได้ว่า “น้อยไปหรือเปล่า” สำหรับหนังสือประเภทนี้ ผิดกับภาพของปีที่ผ่านมาซึ่งเป็น “100 ปีไอน์สไตน์” ที่แผงหนังสือดูจะคึกคักไปด้วยประวัติของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้อง
...คงจะดีกว่านี้หากความสนใจในหนังสือจะมุ่งไปที่ความรู้มากกว่าแค่กระแสในช่วงเวลาเวลาใดเวลาหนึ่ง...