กระทรวงวิทย์ฯ จับมือญี่ปุ่นยกโขยงกองทัพหุ่นยนต์ร่วมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ 49 หวังเอาใจเด็กไทยชมงาน โชว์หุ่นยนต์เพื่อการบำบัด “พาโร”, หุ่นยนต์พี่เลี้ยงเด็ก “ปาเปโร”, หุ่นยนต์นักประชาสัมพันธ์ “วาคะมารุ” และหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย “มูกิโร ลิกูริโอ” เรียกน้ำย่อยก่อนเข้าชมจริง ด้านแฟนๆ หุ่นยนต์สัญชาติไทยไม่ผิดหวัง เตรียมตัวพบหุ่นยนต์รำไทย-หุ่นยนต์ล้มลุก
หากเอ่ยถึงจ้าวแห่งหุ่นยนต์สมองกล หลายคนคงนึกประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก ซึ่งหุ่นยนต์ของประเทศญี่ปุ่นก็มักจะสร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับเด็กๆ เยาวชนได้เสมอๆ ชนิดดูได้ไม่มีเบื่อ ทั้งนี้ ในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ปีนี้ ในชื่อ “งานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2549” โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ทางฝ่ายดินแดนอาทิตย์อุทัยก็ได้ขนกองทัพหุ่นยนต์มาให้คนไทยได้ชื่นชมอย่างอื่มหนำสำราญกันทุกเพศ-ทุกวัย
เริ่มตั้งแต่หุ่นยนต์แมวน้ำเพื่อการบำบัด “พาโร” (PARO) ซึ่งได้มาเยือนประเทศไทยเป็นปีที่ 2 พร้อมพาพลพรรคมาร่วมงานอีกราว 10 ตัว โดยพาโรจะทำหน้าที่เป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับมนุษย์ได้ดี อาทิ คนชราที่ต้องการการบำบัด และเด็กออทิสติกที่ต้องการของเล่นช่วยกระตุ้นพัฒนาการ ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ตลอดทั้งตัวซึ่งปกคลุมไปด้วยขนปุกปุยนุ่มนิ่ม ทำให้สามารถแยกแยะจุดที่ถูกสัมผัสและความอ่อนหนักของการสัมผัสได้ ตลอดจนสามารถตอบสนองต่อเสียงและผู้คนรอบข้างได้ดีผ่านการกระพริบตา ขยับขาหน้า และการส่งเสียงร้อง
หุ่นยนต์พี่เลี้ยงเด็ก “ปาเปโร” (PaPeRo) ก็เป็นอีกหนึ่งความสนใจในงาน โดยหุ่นยนต์ช่างพูดตัวนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นเพื่อนคลายเหงาและเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ด้วยคุณสมบัติที่ดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการการจดจำใบหน้าและเสียงของเด็กไว้ในหน่วยความจำ สังเกตพฤติกรรมและคอยป้องกันเด็กจากอันตรายรอบตัว นอกจากนั้นแล้ว จากการพัฒนาล่าสุดยังทำให้ปาเปโรสามารถพูดคุยและอ่านนิทานให้เด็กฟังได้ด้วย
สำหรับหุ่นยนต์ตัวที่ 3 ที่นำมาเรียกน้ำย่อยกัน ได้แก่ หุ่นยนต์นักประชาสัมพันธ์ “วาคะมารุ” (Wakamaru) ที่พูดได้ถึง 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาญี่ปุ่น จีนกลาง อังกฤษ และเกาหลี จึงช่วยต้อนรับและพาผู้ร่วมงานชมนิทรรศการได้โดยลำพัง รวมทั้งเทคโนโลยีการจำหน้าคนและการแยกแยะเสียงที่มีความใกล้เคียงกันมากในแต่ละภาษาของวาคะมารุ จึงมั่นใจได้ว่าจะสื่อสารกับคนได้รู้เรื่อง รวมทั้งมันยังมีความสามารถอื่นๆ พ่วงมาด้วยอาทิ ช่วยต่อสายโทรศัพท์ไปยังผู้ที่ต้องการติดต่อ, ให้บริการแนะนำข้อมูลข่าวสาร และทำหน้าที่พยากรณ์อากาศ
หุ่นยนต์ที่นำมาจัดแสดงจากแดนอาทิตย์อุทัยก็ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ยังมีหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย “มูกิโร ลิกูริโอ” “Mugiro Ligurio” ที่ได้รับการออกแบบจากคนๆ เดียวกับที่ออกแบบตัวการ์ตูนยอดนิยมอย่าง “หุ่นยนต์นักรบพิทักษ์โลกกันดั้ม” มาร่วมแสดงด้วย ซึ่งแม้ว่ารูปทรงของมันจะแตกต่างไปจากหุ่นยนต์ทั่วไป คือเมื่อตกอยู่ในภาวะปกติ แขนทั้ง 2 ข้างจะถูกซ่อนไว้ภายในลำตัวเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับบุคคลรอบข้าง แต่เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นมาเมื่อใด แขนทั้ง 2 ก็จะกางออกมาเพื่อเก็บวัตถุต้องสงสัยได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวด้วยโครงสร้างแขน 7 ข้อต่อเหมือนกับแขนของมนุษย์
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ปีนี้จะมีแต่การแสดงของหุ่นยนต์จากต่างประเทศเท่านั้นหรือไม่ ซึ่งแฟนๆ หุ่นยนต์สัญชาติไทยก็สามารถสบายใจได้ เนื่องจากภายในงานยังมีการแสดงจากกองทัพหุ่นยนต์ไทยจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ด้วย เช่น หุ่นยนต์รำไทย, หุ่นยนต์ล้มลุก, หุ่นยนต์สามขา, หุ่นยนต์ที่ควบคุมได้โดยใช้สัญญาณไฟฟ้าทางชีวภาพ และหุ่นยนต์รู้จำภาษาไทย เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้ว ภายในงานยังมีการแสดงนิทรรศการและการแสดงที่น่าสนใจอีกหลายรายการด้วยกัน เช่น การแสดงตราสัญลักษณ์การครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ขนาดจิ๋ว 3 มิติ ของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ, การแสดง “แอโรเจล” วัสดุกันความร้อนที่เบาที่สุดในโลก, การแสดงนิทรรศการ “7,000 ปี นวัตกรรมจีน” และการจำลองเสมือนจริงการเกิดภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น
สำหรับผู้สนใจต้องการเห็นและสัมผัสกับกองทัพหุ่นยนต์ด้วยตัวเอง ก็สามารถไปเยี่ยมชมได้ในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2549 ระหว่างวันที่ 11- 22 ส.ค. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งการจัดงานวันแรกจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมงานตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.เวลา 14.00-21.00 น., วันเสาร์ที่ 12 และ 21 ส.ค. เวลา 09.00-21.00 น. และวันอื่นๆ เวลา 09.00 -18.00 น.
หากผู้ที่มาร่วมงานรายใดโดยสารรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีอ่อนนุชแล้ว ก็สามารถต่อรถโดยสารรับส่งฟรีที่ได้จัดไว้เพื่อมาร่วมงานได้ทันที รวมทั้งยังมีบริการรับส่งฟรีจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อไปร่วมงาน หรือหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายจัดงานที่เบอร์โทรศัพท์ 02577-9999 ต่อ 1829, 1830
::: อ่านข่าวอื่นๆ เกี่ยวกับสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 2549 :::
- เข้าห้องแล็บไบโอเทค “ระเบิดเซลล์-แยกดีเอ็นเอ” ในสัปดาห์วิทย์ 49
- “คลื่นครื้นเครง” ในนครแห่งพลังงานไร้รูป
- เผย 5 วันยอดผู้ชมงานสัปดาห์วิทย์ 49 ทะลุ 5 แสน
- “คาโปะจัง” ตุ๊กตานาโนดูดกลิ่น ดึงเรื่องไฮเทคลงสิ่งใกล้ตัว
- 8 นักผจญเพลิงสอนวิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้แบบเสมือนจริงในสัปดาห์วิทย์ 49
- ก.วิทย์แก้ปัญหารถฟรี "สัปดาห์วิทย์" จัดเพิ่มเป็น 6 คันออกทุก 15 นาที
- หลายครอบครัวชื่นมื่นทยอยร่วมงานสัปดาห์วิทย์ 49 ครึกครื้น
- ชมภาพประชาชนแห่ร่วมงานสัปดาห์วิทย์ล้นหลาม
- สัปดาห์วิทย์วันที่ 3 คนทะลุ 8 หมื่น - ชัทเทิลบัสรับส่งไม่ดีสมอ้าง
- “พล เดอะสตาร์” เชื่อเปลี่ยนวิทยาศาสตร์น่าเบื่อให้สนุกด้วยวิธีนำเสนอ
- ร่วมตอบปัญหา “เมก้าเคลฟเวอร์” ฉบับไทยที่ฉลาดสุดสุด
- “คุณหญิงสุมณฑา” เผยแม้อยู่ในวงการนานก็ยังตื่นเต้นกับ “สัปดาห์วิทย์”
- นักบินอวกาศคนแรกของญี่ปุ่น เผยประสบการณ์นอกโลกในงานสัปดาห์วิทย์
- ไบเทคพร้อมรับคนเข้าชมสัปดาห์วิทย์วันละ 1 แสน
- สมเด็จพระเทพฯ ตรัสสัปดาห์วิทย์ช่วยเปิดโลกทัศน์ประชาชน
-เผยภูมิปัญญามังกรโบราณ "โอ่งวัดแผ่นดินไหว" ในงานสัปดาห์วิทย์ 49
-โชว์ “ตราฉลอง 60 ปี” ขนาดจิ๋วแบบสามมิติในสัปดาห์วิทย์ 49
-"พี่มอส-บัวชมพู" ชวนเที่ยวสัปดาห์วิทย์ อยากให้น้องเป็นนักวิทยาศาสตร์กันเยอะๆ