xs
xsm
sm
md
lg

แปรรูปสับปะรดส่งออกแบบไม่เหลือทิ้ง แถมได้ก๊าซมีเทนใช้แทนน้ำมันเตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวทช.หนุนเงินกู้ บ.เอกชนไทยแปรรูปสับปะรดเพื่อการส่งออก 100% หลังพัฒนากระบวนการผลิตน้ำผลไม้เข้มข้นจากเนื้อและเปลือกสับปะรด -เปลี่ยนแกนที่เหลือทิ้งทำของขบเคี้ยว รวมทั้งประยุกต์ใช้แนวคิดฝรั่งทำบ่อบัดน้ำเสียที่ไม่ใช้ออกซิเจนแถมยังได้ก๊าซชีวภาพทดแทนการใช้น้ำมันเตา 6.8 ล้านบาทต่อปี ผุดไอเดียสร้างบ่อบำบัดใต้ดินที่เดียวในโลกลดต้นทุนการก่อสร้าง ชี้ภายใน 6 ปีได้คืนทุน ด้านรักษาการ รมว.วิทย์ฯ เสนอใช้เป็นต้นแบบดันโรงงานอื่นๆ เอาอย่าง หมายผลิตเอทานอลเป็นแหล่งพลังงาน

จากปัญหาผลผลิตสับปะรดล้นตลาดที่ถึงขั้นวิกฤติเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนต้องมีมาตรการการรับซื้อจากภาครัฐเพื่อนำไปทิ้ง ซึ่งปัญหาสับปะรดล้นตลาดจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 5-6 ปี สร้างความเดือนร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมาก เนื่องจากผลผลิตสับปะรดจะมีราคาตกต่ำ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 นี้ สับปะรดมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 2.375 บาทเท่านั้น จากในปี 2547 ที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 4.58 บาท

โรงงานกุยบุรีผลไม้กระป๋อง จำกัด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสินค้าแปรรูปจากผลไม้เพื่อการส่งออกไปทั่วโลก 100% ก็ประสบปัญหาสับปะรดล้นตลาดเช่นกัน และแม้ว่าทางบริษัทมีวิทยาหลักๆ เป็นของตัวเอง แต่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)ก็ยังให้คำปรึกษาและคำแนะนำทางด้านเทคนิคจากนักวิจัยของ สวทช.ในบางโครงการด้วย พร้อมด้วยการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใน 4 โครงการด้วยกัน

สำหรับการสนับสนุนทั้ง 4 โครงการได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงขบวนการผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้น 2.โครงการผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้นจากเปลือก 3.โครงการพัฒนากระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพผลไม้อบแห้ง และ 4.โครงการระบบบำบัดน้ำเสียในโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากผลไม้ ซึ่งทั้ง 4 โครงการนี้ถือเป็นการประยุกต์ใช้ของเหลือทิ้งในโรงงานแปรรูปสับปะรดให้มีมูลค่าสูงขึ้น จากแต่เดิมที่ต้องทิ้งเป็นขยะซึ่งเป็นภาระต่อการกำจัดและส่งกลิ่นเหม็นรบกวน หรือแม้แต่การใช้เป็นอาหารสัตว์ที่มีมูลค่าน้อยและไม่คุ้มค่า

ทั้งนี้ นายสมเกียรติ์ ชวลิตวรกุล กรรมการผู้จัดการกุยบุรีผลไม้กระป๋องฯ เปิดเผยว่า ในโครงการผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้นนั้น ทางบริษัทได้รับการอนุมัติวงเงินกู้จาก สวทช. จำนวน 11,199,000 บาท เมื่อวันที่ 14 ม.ค.44 เพื่อการปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้นให้มีความเข้มข้นมากกว่าที่ผลิตอยู่เดิม ซึ่งสามารถผสมน้ำได้อีก 6 เท่าเพื่อให้เป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่ม จึงเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการผลิตน้ำผลไม้เข้มข้นให้มีมากขึ้น ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง โดยได้พัฒนาเครื่องระเหยน้ำ (Evaporator) ขึ้นมาใช้เองในกระบวนการผลิต ซึ่งได้จดอนุสิทธิบัตรไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน

ส่วนโครงการที่ 2 การผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้นจากเปลือกสับปะรดที่แต่เดิมต้องเหลือทิ้งนั้น ทางโรงงานได้รับวงเงินกู้สนับสนุน 13,017,000 บาท เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.44 โดยน้ำสับปะรดที่ได้มีคุณภาพสีและรสชาติที่ด้อยลงไปบ้าง คือมีสีคล้ำและมีรสชาติหวานเฝื่อนๆ แต่เมื่อผ่านการกรองแล้วก็สามารถส่งออกเพื่อนำไปใช้ทดแทนน้ำเชื่อมในกระบวนการผลิตน้ำผลไม้ 100% ได้ และโครงการที่ 3 คือการพัฒนากระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพผลไม้อบแห้ง ซึ่งทางบริษัทได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้ 12,000,000 บาท เมื่อวันที่ 17 ส.ค.44 โดยการนำแกนสับปะรดที่ปกติเหลือทิ้งมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ผลไม้แช่อิ่มอบแห้งในรูปของขนมขบเคี้ยว

และสุดท้ายโครงการที่ 4 คือระบบบำบัดน้ำเสียในโรงงาน ได้รับการอนุมัติวงเงินกู้ 17,355,000 บาท เมื่อวันที่ 16 ก.ค.46 ซึ่งช่วยลดพื้นที่การบำบัดนำเสียลงได้มาก จากแต่เดิมที่ต้องใช้พื้นที่ถึงกว่า 50 ไร่ อีกทั้งยังช่วยลดกลิ่นเหม็นรุนแรงจากบ่อบัดน้ำเสียลง โดยการประยุกต์ใช้ระบบการบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพด้วยระบบยูเอเอสบี (The Upflow Anaerobic Sludge Blanket: UASB) ควบคู่กับการสร้างบ่อบัดน้ำเสียใต้ดินแทนการสร้างบ่อบำบัดเหนือดินที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียระบบยูเอเอสบีใต้ดินแห่งแรกของโลก

ข้อดีของระบบบำบัดน้ำเสียยูเอเอสบีนั้น นายสมเกียรติ์ เล่าว่า ระบบดังกล่าวเป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ใช้อากาศจึงใช้พลังงานต่ำเนื่องจากไม่ต้องเติมและกวนก๊าซออกซิเจน, สามารถบำบัดน้ำเสียและกำจัดกลิ่นเหม็นได้เร็ว รวมถึงเกิดตะกอนช้า ในปริมาณต่ำ และยังนำไปใช้เป็นปุ๋ยให้แก่พืชได้ นอกจากนี้จุลินทรีย์ที่ใช้ยังเปลี่ยนสารอินทรีย์ในน้ำเสียเพื่อให้ได้ก๊าซมีเทนเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันเตาในโรงงานได้

ระบบดังกล่าว จึงลดค่าใช้จ่ายซื้อน้ำมันเตาได้ปีละประมาณ 6.8 ล้านบาท จากที่บริษัทต้องซื้อน้ำมันเตาปีละ 52 ล้านบาท ซึ่งจากเม็ดเงินที่ลงทุนไปประมาณ 23 ล้านบาทเพื่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย, ระบบคอมพิวเตอร์ และฝึกฝนบุคลากรนี้ จะคืนทุนได้ในเวลาประมาณ 6 ปี

ส่วนคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้นั้น ผลิตภัณฑ์ของทางโรงงานได้ผ่านการรับรองแล้วหลายมาตรฐานด้วยกัน อาทิ ไอเอสโอ (ISO), เอชเอซีซีพี (HACCP) และจีเอ็มพี (GMP) ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตได้ไม่ได้รับการยอมรับระดับสากลแล้ว ก็จะทำให้ไม่สามารถส่งออกได้

ด้าน น.ส.ชมพูนุช อนุศาสน์สิทธิกิจ หัวหน้างานโครงการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวิศวกรรมภาคเอกชน สวทช.เผยว่าก่อนที่บริษัท กุยบุรีผลไม้กระป๋อง จำกัด จะเข้ามาติดต่อขอรับความช่วยเหลือจาก สวทช.ในปี 2542 ทางบริษัทซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2535 มีผลประกอบการขาดทุนสะสมมาก และไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคในโรงงานเลย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่นายสมเกียรติ์ในฐานะผู้บริหารได้เห็นความสำคัญของการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ จึงเข้ามาติดต่อขอรับความช่วยเหลือจาก สวทช. ซึ่งจากการที่เขาเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในโรงงานสับปะรดกระป๋องมาก่อน นายสมเกียรติ์จึงมีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีได้ด้วยตัวเองแต่ยังขาดแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเท่านั้น

ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัท กุยบุรีผลไม้กระป๋อง จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนจาก สวทช.และมีการพัฒนากระบวนการผลิตให้ดีขึ้นแล้ว ผลประกอบการก็ดีขึ้นมาก ในปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ได้ถึงเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท เนื่องมาจากสามารถผลิตสินค้าส่งขายได้ในปริมาณที่มากขึ้น กระบวนการผลิตมีการสูญเสียพลังงานน้อยลง รวมทั้งยังได้ก๊าซชีวภาพมาใช้งาน จึงเป็นการพยายามใช้ประโยชน์จากของเหลือใช้ในโรงงานให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ขณะเดียวกัน ดร.ประวิช รัตนเพียร รักษาการ รมว.วท. กล่าวภายหลังได้เยี่ยมชมโรงงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จากตัวอย่างของโรงงานกุยบุรีผลไม้กระป๋องในการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียและสร้างก๊าซชีวภาพนี้ สมควรที่จะได้รับการถ่ายทอดไปสู่ภาคการผลิตของโรงงานแปรรูปผลิตผลการเกษตรอื่นๆ ต่อไป อาทิ โรงงานมันสำปะหลังกว่า 40 โรงทั่วประเทศ โดยหวังว่าอาจนำไปสู่การผลิตเอทานอลใช้ทดแทนน้ำมันได้ในที่สุด

ปัจจุบัน สวทช.มีโครงการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีแก่ภาคเอกชน ซึ่งเป็นกิจกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการเชิงลึกแบบครบวงจร ด้วยทีมงานที่ปรึกษาเทคโนโลยี หรือไอทีเอ พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคจากทั่วโลกเข้าช่วยปรับปรุงและพัฒนา ฝึกอบรมสัมมนา สืบค้นข้อมูล เสาะหาเทคโนโลยี และการเจราจากับคู่ธุรกิจ เพื่อให้อุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการสามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูง ตลอดจนการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน นอกจากนั้น สวทช.ยังให้บริการเงินทุนแบบให้เปล่า และการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำด้วย






คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพเพิ่มเติม


ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia




กำลังโหลดความคิดเห็น