xs
xsm
sm
md
lg

วว.โชว์สารสกัดจุลินทรีย์เคลือบผิวมะม่วงป้องกันโรคเน่าหลังการเก็บเกี่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมาก จนหลายๆ ประเทศต้องอิจฉา เพราะความสมบูรณ์เหล่านี้ได้นำมาซึ่งข้าวปลาอาหาร และพืชผลการเกษตรที่สมบูรณ์ยิ่ง ทว่าความที่เป็นเขตอากาศร้อนชื้นนี้เองที่ทำให้มีจุลินทรีย์ สาเหตุของการเน่าเสียในผักและผลไม้ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ปัญหานี้กำลังจะหมดไปด้วยวิธี “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ล่าสุด วว.ได้เผยผลการวิจัยการใช้สารสกัดจากแบคทีเรีย ยีสต์ และรา ผลิตสารเคลือบผิวผลมะม่วงป้องกันโรคเน่าหลังการเก็บเกี่ยวขึ้น โดยใช้ได้ผลดีชัดเจน สามารถเก็บผลมะม่วงที่อุณหภูมิห้องได้นาน 10 วัน

ดร.อนวัช สุวรรณกุล ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เผยผลความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวผลไม้เขตร้อนด้วยชีววิธีว่า ที่ผ่านมา วว.ได้ทำการคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคเน่าของผลไม้เขตร้อนหลังการเก็บเกี่ยว โดยพบจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่สามารถใช้งานได้ดีในกลุ่มของแบคทีเรียและยีสต์จากศูนย์จุลินทรีย์ วว. และราจากแหล่งธรรมชาติรวม 21 สายพันธุ์

ผลการทดลองพบว่า จุลิยทรีย์สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของราที่เป็นสาเหตุของโรคพืช ได้แก่ ยีสต์ Pichia tannicola 5053, P.kudriavzevii 5147, แบคทีเรีย Bacillus subtillis TISTR8, B.amyloliquifaceins PUT14 และ PUT19 และรา Trichoderma harzianum และ T.pseudodonigii ซึ่งจุลินทรีย์ทั้ง 3 กลุ่มจะมีกลไกการควบคุมราสาเหตุโรคแตกต่างกัน ได้แก่ ยีสต์และราจะควบคุมจุลินทรีย์สาเหตุของโรคด้วยการครอบครองพื้นที่ ส่วนแบคทีเรียจะปล่อยสารปฏิชีวนะบางชนิดลงในอาหารเลี้ยงเชื้อทำให้มีผลต่อการเจริญเติบโตของราสาเหตุของโรคเน่า

“ในขั้นต้น วว.ได้ศึกษาการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวด้วยชีววิธีในมะม่วง โดยใช้มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และพันธุ์โชคอนันต์ ซึ่งมักเป็นโรคแอนแทรกโนส ที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Collectotrichum gloeosporioides ซึ่งได้สกัดสารชีวภาพจากอาหารเหลวที่ใช้เลี้ยงแบคทีเรียที่ได้ทำการคัดเลือกไว้ และนำสารที่สกัดได้ผสมกับสารเคลือบผิวแล้วนำไปเคลือบผิวผลมะม่วง จากนั้นนำไปเก็บที่อุณหภูมิห้องนาน 10 วัน พบว่าชุดการทดลองที่ไม่ได้เคลือบผิวเป็นโรคอย่างรุนแรง คล้ายกับชุดทดลองอีกชุดหนึ่งที่เคลือบสารเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ชุดการทดลองที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบผสมกับสารเคมีสังเคราะห์ และสารเคลือบผิวที่ผสมกับสารสกัดจากแบคทีเรีย ให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีกว่า

ดร.อนวัช กล่าวอีกว่า ในระยะต่อไป วว.จะเร่งศึกษาเพิ่มเติมในการผลิตตัวสารชีวภาพและพัฒนากรรมวิธีในการใช้ เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เหล่านี้สามารถเจริญอยู่บนผลผลิตในระดับที่เกิดประสิทธิภาพ และทนต่อกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวต่างๆ เช่น สามารถเจริญเติบโตในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ สามารถทนต่อสภาพการควบคุมบรรยากาศ รวมทั้งพัฒนากรรมวิธีในการผลิตให้ได้ปริมาณมากด้วยอาหารเลี้ยงเชื้อที่มีราคาถูก ซึ่งวิธีการนี้น่าจะนำไปใช้กับการรักษาผลไม้อื่นๆ เช่น มังคุด ทุเรียน และเงาะได้ด้วย

สำหรับผู้สนใจวิทยาการการควบคุมโรคด้วยชีววิธีดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว วว. โทรศัพท์ 0-2577-9000 ในวันและเวลาราชการ


กำลังโหลดความคิดเห็น