xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ท.แข่งหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศ ส่งผู้ชนะสร้าง "เปโตรนัส" จำลองที่มาเลฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.กฤษดา วิศวธีรานนท์
สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เตรียมจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย เปิดโอกาสให้นักเรียน-นักศึกษาประลองทักษะประดิษฐ์หุ่นยนต์ ก่อนล่องใต้ชิงชัยสร้างตึกแฝดคู่ “เปโตรนัส” ในการแข่งขัน เอบียู โรบอท คอนเทส ที่ประเทศมาเลเซีย

วันนี้ (11 พ.ค.) สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) (ส.ส.ท.) โดย รศ.กฤษดา วิศวธีรานนท์ จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสินหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย เปิดเผยถึงการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20-21 พ.ค. ณ ห้องเอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ ว่า การแข่งขันในครั้งนี้จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน

การแข่งขันประเภทที่ 1. การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย
เป็นการแข่งขันระดับอุดมศึกษา ทีมที่ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันนานาชาติ เอบียู โรบอท คอนเทส (Asia- Pacific Broadcasting Union Robot Contest/ ABU Robot Contest) ในวันที่ 10 ก.ย. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทางประเทศเจ้าภาพ คือ มาเลเซียได้ตั้งชื่อการแข่งขันว่า “ตึกแฝดเสียดฟ้า ท้าพิชิต” (Building the World’s Tallest Twin Tower) ผู้เข้าร่วมการแข่งขันประเภททีม 3 คนจะต้องร่วมกันประดิษฐ์หุ่นยนต์แบบใช้คนบังคับ และแบบอัตโนมัติให้ร่วมกันสร้างแบบจำลองตึกแฝดเปโตรนัสของประเทศมาเลเซียภายในเวลา 3 นาที ทีมที่สามารถทำได้สำเร็จจะถือว่า “เซียบ” (Siap) ในภาษามาเลย์ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ไชโย”

ประเภทที่ 2. การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. กรังด์ปรีซ์ ยุวชน เป็นการแข่งขันสำหรับเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งการแข่งขันจะแบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภทย่อยคือ การประดิษฐ์หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ (Humanoid) และหุ่นยนต์โรโบ ไฟร์ ไฟต์ติง (Robo Fire Fighting) ประเภทที่ 3. การแข่งขันพีแอลซี คอมพีติชั่น (PLC Competition) เป็นการแข่งขันสำหรับเยาวชนระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เยาวชนประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมมาประดิษฐ์เครื่องจักรกลที่มีความแม่นยำสูง โดยปีนี้ได้กำหนดโจทย์ให้สร้างหุ่นยนต์ที่มีความสามารถพัดลูกกอลฟ์ให้ลูกลงหลุมด้วยไม้จริง และประเภทที่ 4. การประกวดกองเชียร์ที่มาให้กำลังใจแก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับประกาศนียบัตรเข้าร่วมการแข่งขัน ผู้ที่ผ่านเข้ารอบจะได้รับเหรียญรางวัล และมีการมอบทุนการศึกษาให้แก่ผู้ชนะการแข่งขัน โดยการแข่งขันดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาในห้องเรียน เป็นการนำความรู้ทฤษฎีจากในห้องเรียนมาฝึกทำในภาคปฏิบัติ เปิดโอกาสให้เยาวชนทั้งชายและหญิงได้กล้าคิด กล้าทำ และกล้าทดลอง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องประมาณ 10 ปี โดยการแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งขันครั้งที่ 13 ของประเทศไทย ได้รับความสนใจจากเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันอย่างคับคั่ง แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษา 107 ทีม และระดับอุดมศึกษาอีก 94 ทีม

ด้านความสำเร็จที่ผ่านมาของเยาวชนไทยในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ตัวแทนประเทศไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่นมาได้ 2 ครั้งต่อเนื่องกันคือ ในปี พ.ศ.2542 โดยทีม “บียู แม็กซ์สปีด” (BU Maxspeed) นักศึกษาไทยจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ด้วยการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล (Robosoccer) และในปีถัดมาคือปี พ.ศ.2543 ทีม "โทมาฮ็อก" นักศึกษาไทยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือก็สามารถคว้ารางวัลมาได้เพิ่มจากการแข่งขันหุ่นยนต์โรโบชูตเตอร์ (Roboshooter) หรือ สโนว์ ไฟต์เตอร์ (Snow fighter)


กำลังโหลดความคิดเห็น