ประกวดโครงงานวิทย์สืบเนื่องปีไอน์สไตน์แนวคิดใช้รังสีฉายภาพวงปีคว้ารางวัลสูงสุด ปิ๊งไอเดียจากเทคนิคสแกนสมอง คาดใช้วิธีคล้ายกันได้ นักเรียนเผยตื่นเต้นเพราะเป็นการประกวดครั้งแรก และกลัวกรรมการซึ่งมีตำแหน่งถึงด็อกเตอร์ ด้านอาจารย์ที่ปรึกษาเผยดีใจที่ลูกศิษย์ได้ออกมาหาประสบการณ์นอกห้อง และอยากให้เข้าใจว่าเราไม่ผิดที่จะคิด ส่วนผู้ใหญ่ควรรับฟังความเห็นเด็กด้วย
ปี 2548 ที่ผ่านมาเป็นวาระ 100 ปีฟิสิกส์สากลที่ทางหรือยูเนสโกได้กำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงผลงานที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์สร้างขึ้น ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จึงได้จัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนมัธยมปลายและครูทั่วประเทศขึ้น โดยเริ่มรับสมัครตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว จนกระทั่งมีโครงงานผ่านเข้ารอบทั้งหมด 26 โครงงานและถึงกำหนดตัดสินในวันเด็กแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีคณะกรรมการจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐานร่วมตัดสิน
ผลการประกวดโครงงานครั้งนี้ทางคณะกรรมการเห็นว่ายังไม่มีผลงานใดควรได้รางวัลชนะเลิศ ดังนั้นรางวัลสูงสุดจึงเป็นรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ซึ่งทีมนักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนวัดราชโอรส 3 คนคือนายปฏิกร ทิพย์เลอเลิศหรือ “เอ” น.ส.ประภัสสร บุญญาวรกุลหรือ “แคร์” และ น.ส.สิริลักษณ์ พจนพรพันธุ์หรือ “มิ้น” ได้รับไป
นักเรียน ม.ปลายจากวัดราชโอรสทั้ง 3 คนได้เสนอแนวคิด “การศึกษาวงปีจากการฉายรังสี” ซึ่งเป็นลักษณะการประกวดครั้งนี้ที่นักเรียนไม่ต้องลงปฏิบัติจริง แค่เพียงแสดงจินตนาการในการนำความรู้ทางนิวเคลียร์ไปสร้างโครงงานวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเยาวชนที่ส่งโครงงานเข้าประกวดยังไม่มีคุณสมบัติพอที่จะทดลองเครื่องมือทางด้านรังสี รวมถึงขาดอุปกรณ์ในการทดลอง
เอกล่าวถึงโครงงานว่าได้แนวคิดจากการเทคนิคการสแกนสมองที่ทำการตรวจวัดรังสีซึ่งแผ่ออกมาจากศีรษะของคนไข้ และการใช้รังสีฉายภาพวงปีของต้นไม้จะช่วยให้ไม่ต้องตัดต้นไม้ในการศึกษาวงปีของต้นไม้ ทั้งนี้พวกเขาเสนอให้ใช้ซีเซียม-137 ซึ่งเป็นสารกัมมันรังสีฉายภาพต้นไม้ โดยฉายทำมุม 90 องศา และ 45 องศา ซึ่งจะทำให้ได้ภาพที่เป็นทั้งวงกลมและวงรี อีกทั้งคาดว่าผลงานดังกล่าวจะช่วยบอกข้อมูลย้อนหลังได้ว่าปีใดมีความแห้งแล้งมากน้อยแค่ไหน
ส่วนแคร์อธิบายถึงเหตุที่น่าจะบันทึกภาพได้ว่าเนื่องจากลักษณะของวงปีนั้นเกิดจากการเปลี่ยนของท่อลำเลียงน้ำในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งต่างกัน โดยท่อลำเลียงจะผลิตสารลิกนินซึ่งมีสีน้ำตาลออกมา ในช่วงหน้าฝนจะเจือจางจึงเห็นเป็นวงจางๆ ส่วนช่วงหน้าแล้งสารลิกนินจะมีความเข้มข้นมากทำให้วงปีมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม
ทั้ง 3 คนเปิดเผยความรู้สึกว่าตื่นเต้นกับการประกวดครั้งนี้มากเพราะเป็นการประกวดครั้งแรก และแม้ไม่ได้รางวัลชนะเลิศก็ไม่เสียใจ “ได้แค่นี้ก็ดีมากแล้ว” แคร์กล่าวพร้อมทั้งเผยความรู้สึกขณะตอบคำถามกรรมการว่าทั้งตื่นเต้นและกลัวว่าจะตอบคำถามกรรมการได้ไม่ดีเพราะส่วนใหญ่เป็นกรรมการที่ทรงคุณวุฒิทั้งนั้น
“ตื่นเต้นมาก เพราะกรรมการก็เป็นดอกเตอร์ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความรู้ทั้งนั้น ก็กลัว กลัวว่าตอบคำถามได้ไม่ดี”
ส่วนอุปสรรคในการทำโครงงานน้องแคร์เผยว่าเป็นเรื่องของการขัดแย้งทางความคิดของแต่ละคน เนื่องจากเป็นการเสนอโครงงานที่เป็นจินตนาการซึ่งไม่ได้ลงมือปฏิบัติ จึงไม่ทราบว่าผลควรจะเป็นอย่างไร แต่ก็หาข้อสรุปร่วมกันได้
อย่างไรก็ดีพวกเขาทราบถึงข้อจำกัดในโครงงานเนื่องจากเป็นเพียงการเสนอความคิดแต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง จึงแนะว่าควรมีการศึกษาวิธีอื่นที่เป็นไปได้อีก และหากได้รับการสนับสนุนก็จะทำต่อ ส่วนโครงงานนี้เกี่ยวข้องกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์อย่างไรนั้น น้องเอเผยว่าเกี่ยวเนื่องจากการใช้กระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกัน
ทางด้านนางอุไร อุโฆษณาการ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการกล่าวว่านักเรียนทั้ง 3 คนไม่ค่อยกล้าแสดงออก และด้วยอยากให้พวกเขาได้มีประสบการณ์ว่านอกห้องเรียนก้าวไปไกลแค่ไหนแล้ว จึงสนับสนุนให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมนี้ โดยทราบว่ามีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์จากการร่วมกิจกรรม “เปิดบ้านปรมาณู” ของ ปส.เมื่อ ปีที่แล้ว อีกทั้งในการสอนปกติก็กำหนดให้นักเรียนทำโครงงานส่งอยู่แล้ว
“ดีใจที่อย่างน้อยพวกเขาได้รู้จักการเขียนโครงงานและนี่ก็เป็นครั้งแรกในการประกวดของพวกเขา เด็กทั้ง 3 ยังไม่เคยออกมาสู่โลกข้างนอก ก็อยากให้พวกเขารู้ว่าไม่ผิดที่จะคิด ไม่จำเป็นต้องกลัวว่าสิ่งที่คิดจะผิด และอยากให้ผู้ใหญ่รับฟังความคิดของเด็กๆ” อ.ที่ปรึกษาโครงงานกล่าว