การรณรงค์ของทางการให้คนไทยหันมาบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนนั้นมีมากว่า 10 ปี ทั้งนี้ไอโอดีนเป็นสารอาหารที่ช่วยป้องกันโรคคอพอกและที่สำคัญช่วยป้องกันโรค “เอ๋อ” ในเด็ก นับเป็นการช่วยเหลือสติปัญญาของเยาวชนไทยได้อีกทางหนึ่ง แต่การหาปริมาณไอโอดีนนั้นต้องวัดจากปริมาณ “ไอโอเดท” ซึ่งเป็นรูปเกลือของไอโอดีน
กลุ่มนักเรียนชั้น ม.6 จาก ร.ร.ปากท่อพิทยาคม จ.ราชบุรี 6 คนคือ น.ส.สิริภรณ์ เตาฉะอ้อน น.ส.จิรพรรณ ทองทา น.ส.ยุพิน พุ่มรัตน์ น.ส.สมบูรณ์ ไชยลาภ น.ส.ศิวาพร เทียนแก้ว และนายณัฐภพ จันเทพ จึงได้ร่วมกันทำโครงงานโดยใช้ไมโครคอลโทรลเลอร์ซึ่งเป็นไมโครคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่ง พร้อมเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สำหรับใช้ตรวจวัดค่าไอโอเดทในเกลือเสริมไอโอดีนขึ้น เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดเดิมให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและสะดวกกว่าที่เคยทำ และโครงงานนี้ยังได้รับรางวัลที่ 3 จากการประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์ระดับประเทศปี 2548 จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
นักเรียนทั้ง 6 เผยถึงการทำงานว่าเริ่มจากวางแผนการทำงานโดยแบ่งหน้าที่งานตามความถนัด ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจะต้องออกไปรวบรวมเกลือทุกยี่ห้อที่มีตามท้องตลาดมาทำการตรวจสอบ และนำน้ำยาชุดตรวจสอบปริมาณไอโอดีนในเกลือมาทำการตรวจสอบโดยใช้การอ่านค่าไอโอเดทจากการเทียบสี และรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการเทียบสีมาวัดค่าสีด้วยอุปกรณ์กล่องสมองกล ผลการทดสอบพบว่า เครื่องมือที่พัฒนาขึ้น สามารถวัดค่าปริมาณของไอโอเดทในเกลือได้อย่างมีข้อผิดพลาดน้อย และเมื่อนำมาเทียบกับการวัดแบบเปรียบเทียบค่าสีพบว่าได้ผลใกล้เคียงกัน
“ตอนแรกเห็นเพื่อนๆ ทำโครงการ อ.ย.น้อย ไปทดสอบสารไอโอดีนโดยใช้ชุดอุปกรณ์ทั่วไปแล้วใช้ตาเปล่าเทียบค่าสี ซึ่งต้องใช้คนหลายคนดูสีว่าอยู่ช่วงไหน จึงคิดที่จะทำโครงงานนี้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาในการวัดค่าไอโอเดทในเกลือ” สิริภรณ์กล่าว
ด้านจิรพรรณเสริมว่า ปัญหาอุปสรรคที่พบก็คือถ้าแสงมากเกินไปอาจทำให้เซนเซอร์เพี้ยน เครื่องมือนี้จึงต้องอยู่ในบริเวณที่แสงพอประมาณ มีแสงไม่จ้ามากเกินไป ตอนนี้ก็นำเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นไปใช้งานในหมวดวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน และหากคนในชุมชนต้องการนำเครื่องนี้ไปใช้งานก็มาขอตรวจสอบค่าไอโอเดทที่โรงเรียนได้ หรืออาจนำไปบริการชุมชนนอกโรงเรียน
สำหรับไมโครคอลโทรลเลอร์นั้นเป็นอุปกรณ์สำคัญในการสั่งการให้เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ทำงานได้อย่างอัตโนมัติตามใจสั่ง เครื่องมือดังกล่าวนี้ถูกนำมาใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ มากมาย เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์ ซึ่ง สสวท. ได้ส่งเสริมให้โรงเรียนนำเครื่องมือนี้ไปจัดการเรียนการสอนเพื่อฝึกการคิด การแก้ปัญหาและนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ดังเช่นนักเรียนกลุ่มนี้ที่ได้นำความรู้จากชั้นเรียนคอมพิวเตอร์มาต่อยอดประยุกต์ใช้งานได้จริงจนเกิดผลงานนี้ขึ้นมา