xs
xsm
sm
md
lg

โอด “หมวกกันน็อก” รางวัลโลกมาตรฐานกว่า มอก. แต่ภาครัฐไม่แล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยดีเด่นจากสภาวิจัยคว้า 3 รางวัลจากเวทีโลกจากการประกวดที่เบลเยี่ยม ด้วยประสบการณ์งานวิจัยเกือบ 30 ปี และหมวกกันน็อกมาตรฐานที่ปลอดภัยกว่า มอก. เจ้าตัวเผยหมวกที่ใส่ขับขี่กันทุกนี้หลุดง่ายและทำให้ตายมากกว่าไม่ใส่ถึง 2 เท่า แต่ภาครัฐเฉยเมยต่อการปรับเปลี่ยนมาตรฐาน

นับเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนไทย เมื่อ ศ.นพ.วีระ กสานติกุล อาจารย์จากภาควิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและนักวิจัยดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับรางวัลระดับในงาน “บรัสเซลส์ ยูเรกา 2005” (Brussels Eureka) ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงนวัตกรรม งานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ระดับโลก ที่จัดขึ้นเป็นประจำปี ณ ประเทศเบลเยี่ยม โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่าง 16-20 พ.ย.ที่ผ่านมา ทาง วช. จึงได้จัดแถลงข่าวเพื่อแสดงความยินดีเมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.) ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอคองคอร์ด

สำหรับรางวัลที่ ศ.นพ.วีระ ได้รับมีทั้งหมด 3 รางวัลคือ 1.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด Grand Officier ซึ่งได้จากการพิจารณาจากประวัติการวิจัยต่อเนื่องกว่า 27 ปี 2.รางวัล “กรัง ปรีซ์” (Grand Prix) จาก ICEPEC (Institut Communautaire Europeen Pour la Promotion des Entreprises Commerciales) จากผลงาน “หมวกนิรภัยต้นแบบ” และ 3. รางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จากงานดังกล่าวซึ่งมอบให้กับงานวิจัยหัวข้อ “สาเหตุ อุบัติเหตุจักรยานยนต์ในประเทศโดยเน้นบทบาทของแอลกอฮอล์” ที่ส่งเข้าประกวด

พร้อมกันนี้ ศ.นพ.วีระ ซึ่งเป็นหัวหน้าสถาบันหมวกนิรภัยที่ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้แถลงข่าวความคืบหน้าของสถาบันว่าขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการขอทุนสนับสนุนในการผลิตหมวกนิรภัยต้นแบบจากสภาวิจัยแห่งชาติ โดยคาดว่าหากได้รับทุนจะสามารถผลิตได้เสร็จในอีก 9 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะได้ทูลเกล้าฯ ถวายหมวกดังกล่าวแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

เจ้าของรางวัลระดับโลกยังได้เผยอีกว่าหมวกนิรภัยที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ มอก. ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่มีมาตรฐานเพียงพอ และจากการศึกษาพบว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์กว่าครึ่งหนึ่งสวมหมวกนิรภัย ซึ่งเป็นที่มาของการศึกษาสาเหตุว่าทำไมจึงมีผู้เสียชีวิตทั้งที่สวมหมวกนิรภัยแล้ว อีกทั้งยังพบว่าผู้สวมหมวกนิรภัยมีอัตราการตายมากกว่าผู้ไม่สวมที่ประสบอุบัติเหตุถึง 2 เท่า เนื่องจากแรงกระแทกจากหมวกที่หลุดขณะเกิดอุบัติเหตุเพราะสายรัดคางถูกดึงให้หลุดได้ง่าย

สำหรับหมวกนิรภัยที่ ศ.นพ.วีระพัฒนาขึ้นนั้นแตกต่างจากที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตรงที่ความหนาแน่นของโฟมที่ใช้รับแรงกระแทกมีมากกว่า พลาสติกที่ใช้หุ้มก็มีความแข็งแรงกว่า โดยได้พัฒนาให้ใช้ไฟเบอร์กล๊าสแทนพลาสติกแบบเดิมที่ไม่ทนแรงกระแทก อีกทั้งยังมีระบบระบายอากาศที่ช่วยป้องกันความอับชื้น แต่ข้อจำกัดของหมวกมาตรฐานใหม่นี้คือราคาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งหากอัตราการผลิต 1,000 ใบต่อครั้ง หมวกนิรภัยนี้จะมีราคาถึง 2,000 บาท ในขณะที่หมวกนิรภัยที่นิยมใส่กันนั้นมีราคาตั้งแต่ 200-300 บาทขึ้น ซึ่งถูกกว่าหลายเท่า 

นอกจากนี้ ศ.นพ.ยังกล่าวอีกว่ามาตรฐานของหมวกนิรภัยที่ใช้ในการขับขี่นั้นอ้างอิงมาจากหมวกที่ใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งหมวกทั้งสองประเภทไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกันได้ อีกทั้งลักษณะของหมวกยังออกแบบสำหรับสรีระชาวตะวันตกที่มีรูปศีรษะคล้ายมะละกอ ในขณะที่ศีรษะคนไทยมีลักษณะคล้ายลูกแตงโม ส่วนกรณีการบาดเจ็บที่คอนั้นเขาชี้ว่าทั้งกรณีที่สวมและไม่สวมหมวกนิรภัยต่างก็ได้รับอันตรายเท่าๆ กัน เพราะเกิดจากแรงปะทะขณะเกิดอุบัติเหตุ

อย่างไรก็ดีแม้ว่าผลการทดสอบหมวกนิรภัยของสถาบันจะชี้ให้เห็นว่าหมวกที่ใช้กันในปัจจุบันนั้นไม่ช่วยคุ้มครองศีรษะของผู้สวมใส่ แต่ทางภาครัฐก็เฉยเมยต่อข้อเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนมาตรฐานใหม่ ซึ่ง ศ.นพ.วีระหวังว่าจะได้รับความใส่ใจมากกว่านี้ เนื่องจากผู้เสียหายคือผู้พิการหรือผู้เสียชีวิตไปแล้วที่ไม่สามารถออกมาเรียกร้องอะไรได้





กำลังโหลดความคิดเห็น