ดึงนักประดิษฐ์ไทยผลงานโลกปั้นนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ นำร่องนักเรียน 12 โรงเรียนในกรุงเทพ ด้านนายแพท์ผู้ค้นพบหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งจนทั่วโลกยอมรับแนะ “จงใช้ความเพียรอย่างสุรุ่ยสุร่าย อย่าเสียดาย” ด้านนักเรียนอดีตแชมป์หุ่นยนต์โลกเผยจะนำประสบการณ์กลับไปพัฒนาโครงงานที่โรงเรียน ขณะที่ครูสังเกตการณ์จากฉะเชิงเทราเผยจะใช้วิทยาศาสตร์เพิ่มมาตรฐานงานประดิษฐ์ทางด้านศิลปะ
เมื่อวันที่ 26-27 พ.ย.ที่ผ่านมานี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสมาคมนักประดิษฐ์ไทยจัดงาน “โครงการเยาวชนนักประดิษฐ์คิดค้น” ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีนักเรียนระดับ ม.1-ม.3 จากโรงเรียนนำร่อง 12 โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและกรมสามัญศึกษา รวมทั้งครู-อาจารย์เข้าร่วมโครงการประมาณ 150 คน
ทั้งนี้ในวันแรกของการอบรมได้จัดให้นักประดิษฐ์ไทยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลกมาเล่าประสบการณ์เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเยาวชน 3 คนคือ นพ.ดร.วิชัย เอกทักษิณ หัวหน้าหน่วยวิจัยตับจากภาควิชาเวชศาสตร์เขตร้อน มหิดล ผู้ค้นพบหลอดเลือดแดงโดในตับ ซึ่งนอกจากเป็นทางลัดให้เลือดไหลกลับหัวใจได้รวดเร็วกรณีตับได้รับอันตรายแล้ว ยังพบว่าเป็นหลอดเลือดที่เลี้ยงเซลล์มะเร็งในตับด้วยถัดมาคือนายคณศพงษ์ ธงไชย จากบริษัทธงไชยนวัตกรรม ผู้ประดิษฐ์เกมอักษรไขว้ (Cross word) ซึ่งเป็นที่รู้จักมา 53 ปี ให้สามารถเล่นคำ สำนวน และวลีได้ สุดท้ายคือ ภญ.รศ.ดร.ปลื้มจิตต์ โรจนพันธุ์ จากภาควิชาเภสัชศาสตร์ มหิดล ผู้คิดค้นเจลฟ้าทะลายโจรเพื่อใช้เสริมการรักษาโรคปริทันต์ ซึ่งให้ผลดีกว่ายารักษาที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยผู้ทรงคุณวุฒิแนะไปแนวทางเดียวกันว่าการเป็นนักประดิษฐ์ที่ดีต้องสร้างผลงานที่แปลกใหม่ มีประโยฃน์และให้ความคิดสร้างสรรค์
หลังจากนั้น นางสุนี ชัยสนิท กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์วังอักษร ได้นำเยาวชนทั้งหมดทำกิจกรรมฝึกกระบวนการคิดเพื่อการประดิษฐ์คิดค้น โดยแบ่งนักเรียนเป็น 12 กลุ่มๆ ละประมาณ 10 คน แล้วให้สมาชิกทุกคนในแต่ละกลุ่มเล่นเกมปริศนาเพื่อฝึกทักษะการคิด เช่น ให้นักเรียนหาวิธีเรียงก้านไม้ขีดไฟ 6 ก้าน ให้เป็นรูปสามเหลี่มด้านเท่า 4 รูป ซึ่งเป็นการจำลองสถานการณ์ให้คิดค้นโดยไม่ยึดติดในกรอบเดิมๆ เป็นต้น จากนั้นแต่ละกลุ่มจะต้องเสนอแนวคิดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุที่สมมติขึ้นและถูกกำหนดให้เป็นโจทย์ ส่วนวันสุกท้ายจะได้รับฟังประสบการณ์จากนักประดิษฐ์ที่มีผลงานออกสู่ตลาดแล้ว รวมทั้งทดลองเขียนโครงการสิ่งประดิษฐ์
ภญ.รศ.ดร.ปลื้มจิตต์ ผู้มาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับเยาวชนและยังเป็นประธานโครงการจัดตั้งสมาคมนักประดิษฐ์แห่งประเทศไทยด้วยนั้นกล่าวว่าเยาวชนในโครงการนำร่องนี้จะต้องกลับไปคิดโครงงานสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อมาประกวด ซึ่งจะมีระยะให้ส่งร่างโครงการเพื่อขอทุนได้ในวงเงินไม่เกิน 3,000 บาท ภายในปลาย ธ.ค.นี้ และกำหนดให้ส่งผลงานภายในกลาง ม.ค. โดยผลงานที่ได้รับรางวัลจะจัดแสดงในวันนักประดิษฐ์ หรือวันที่ 2 เม.ย. 49
ด้าน นพ.ดร.วิชัยฝากแนวคิดให้กับเยาวชนที่คิดจะทำสิ่งประดิษฐ์ว่า ให้ใช้ความเพียรอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่เสียดายความเพียร พร้อมทั้งยกคำพูดของโทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) นักประดิษฐ์คนสำคัญขอโลกซึ่งไม่เคยตีพิมพ์ผลงานทางวารสารวิชาการว่า ความสำเร็จมาจากปัญญาฉุกคิดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่เหลือเป็นผลมาจากความเพียร และยังให้กำลังใจกับผู้ที่กำลังหาทางออกของปัญหาไม่ได้ว่าความคิดและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลานั้นจะช่วยให้เราแก้ไขในจุดที่เราเคยทำไม่ได้ในอดีต ดังนั้นบางปัญหาที่คนอื่นทิ้งไปแล้วเราอาจนำกลับมาพิจารณาใหม่ซึ่งอาจทำให้เราค้นพบสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกได้
ขณะที่นายกฤช เกียรติพิริยะวงศ์ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล อดีตแชมป์การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ “เวิร์ลด โรบอท โอลิมเพียด” (World Robot Olympiad: WRO 2004) เมื่อปี 2547 กล่าวว่าจะนำประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกอบรมครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้กับโครงงานที่ทำอยู่ที่โรงเรียน พร้มทั้งเล่าว่าตอนนี้ได้ทำเครื่องปลูกผักที่อาศัยหลักการบำบัดน้ำมาใช้ โดยตอนนี้ได้ทดลองกับผักบุ้งและจะพัฒนาต่อไป
ส่วนนางนันทิยา สวนมาลี อาจารย์วิชาศิลปะทางด้านการวาดภาพ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการสุวินทวงศ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมาเดินทางมาสังเกตการณ์กล่าวว่าจะกลับไปเผยแพร่ให้ครูและนักเรียนที่โรงเรียนได้ทราบถึงกิจกรรมนี้ และจะรวมกลุ่มคนที่สนใจการประดิษฐ์มาร่วมทำโครงงาน โดยจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปใช้กับงานประดิษฐ์ทางด้านศิลปะที่เน้นเรื่องการปฏิบัติ เพื่อเพิ่มมาตรฐานให้กับงานและทำให้ดูน่าเชื่อถือขึ้น
คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพเพิ่มเติม
