เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ - นักวิจัยอังกฤษระบุว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าสเปิร์มเทียมและไข่เทียมที่ได้จากการพัฒนาสเตมเซลล์อาจจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการสืบพันธุ์ โดยเฉพาะการผสมเทียมได้
เบห์รูซ อะฟลาทูเนียน (Behrouz Aflatoonian) และแฮร์รี มัวร์ (Harry Moore) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (the University of Sheffield) ทางภาคกลางของอังกฤษ เปิดเผยผลการศึกษาของพวกเขาในการสัมมนาที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก วานนี้ (20 มิ.ย.) โดยระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่นักวิจัยจะสร้างเซลล์สืบพันธุ์เริ่มแรก อันเป็นเซลล์ตั้งต้นของสเปิร์มและไข่จากสเตมเซลล์ (stem cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากเอ็มบริโอ (embryo)
"เมื่อได้เซลล์มาแล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือปลูกถ่ายเซลล์ไปที่ลูกอัณฑะของบุรุษ หรือรังไข่ของสตรีโดยตรง เนื่องจากภาวะแวดล้อมและระดับฮอร์โมนในบริเวณดังกล่าวจะมีความเหมาะสมที่จะเปลี่ยนเซลล์เป็นสเปิร์มหรือไข่ได้" มัวร์กล่าว พร้อมทั้งชี้ว่ากระบวนการนี้อาจต้องใช้เวลาอีก 10 ปี พวกเขายังต้องทำอะไรอีกเยอะ และต้องพิสูจน์ด้วยว่ามันปลอดภัย
การศึกษานี้ดำเนินการตามแนวทางวิจัยที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งนักวิจัยในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น พบความเป็นไปได้ที่จะสร้างเซลล์สืบพันธุ์เริ่มแรกจากสเตมเซลล์ของหนู โดยรายงานอ้างว่าทีมวิจัยทีมหนึ่งเคยสร้างเอ็มบริโอหนูได้โดยใช้สเปิร์มเทียมที่ได้มาจากวิธีนี้ด้วย
ทางด้านแอนนา สมาจดอร์ (Anna Smajdor) นักจริยศาสตร์การแพทย์ ที่อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) กล่าวว่าการค้นพบนี้ช่วยเปิดความเป็นไปได้ทางใหม่ที่ท้าทาย ผู้ชายโสดอาจจะมีลูกได้โดยใช้สเปิร์มของตัวเอง (ผสมกับไข่เทียม) และเปิดหนทางสู่รูปแบบใหม่ของการโคลนนิ่ง อีกทั้งการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงไม่ได้ถูกจำกัดถึงวัยทองอีกต่อไป
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่าผลการวิจัยชิ้นนี้จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนไข่และสเปิร์ม ซึ่งกำลังเป็นอุปสรรคในการผสมเทียมได้ด้วย ปกติแล้วธนาคารสเปิร์มจะพึ่งพาการบริจาคจากหนุ่มๆ วัย 20 ต้นๆ ขณะที่กระบวนการบริจาคไข่มีความยุ่งยากและอันตรายกว่า ทำให้ผู้หญิงนิยมบริจาคกันน้อยกว่า อย่างไรก็ตามจำนวนผู้บริจาคทั้งไข่และสเปิร์มก็ลดลงอย่างมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี การขาดแคลนไข่และสเปิร์มจากผู้บริจาคทำให้เกิดแนวโน้มหรือเทรนด์ใหม่ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งคู่รักที่มีปัญหาด้านการสืบพันธุ์เดินทางไปต่างประเทศเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาของตัวเอง