“แพน” เปิดบ้านให้ชมศูนย์วิจัยค้นคว้าเครื่องสำอางหลังใหม่ที่ลำลูกกา พร้อมอิงกระแสนาโนเปิดตัวครีมหน้าเด้งตัวใหม่ ผสานสมุนไพรไทยเข้ากับนาโนเทคโนโลยี ชี้จุดแข็งคืองานวิจัยและพัฒนาที่จับนาโนมากว่า 10 ปี รวมทั้งเผย “นาโนแคป” อนุภาค “ไลโปโซม” สำหรับบรรจุสารบำรุงที่จิ๋วและแจ๋วกว่าเดิม
วานนี้ (24 ก.พ.) บริษัท แพน ราชเทวีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เปิดให้สื่อมวลชนเยี่ยมชม “ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์” ที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี พร้อมกันนี้ นายอนุสิกส์ ลิมอักษร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เปิดโอกาสให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ “เจาะลึกนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด สำหรับเครื่องสำอาง”
นายอนุสิกส์ กล่าวว่าเพิ่งจะมีกระแสตื่นตัวทางนาโนเทคโนโลยี ทั้งที่มีมานานแล้วซึ่งบางคนอาจรู้หรือไม่รู้ก็ได้ นอกจากจะใช้กับเครื่องสำอางแล้ว ยังนำไปใช้กับด้านอื่นๆ เช่น กันชนรถยนต์ ที่นำโครงสร้างอะตอมของคาร์บอนมาเรียงตัวใหม่ให้มีความแข็งแรงเหมือนเหล็กแต่เบา เรียกกันว่านาโนทิวบ์ (nanotube) หรือไม้เทนนิสที่นักกีฬาระดับโลกใช้แข่งกัน แม้แต่ภาพวาดของโบสถ์ในศาสนาคริสต์ก็เป็นตัวอย่างของการใช้นาโนเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว และปัจจุบันก็นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในเกือบทุกวงการ
“ในเครื่องสำอางเขาก็จะนำสารเคมีหรืออะไรก็ตามที่ใช้ในอุตสาหกรรมครีมมาผสานกับนาโนเทคโนโลยี ทำให้อนุภาคของสารเล็กลง เรียกว่าจิ๋วแต่แจ๋ว เพราะเมื่ออนุภาคของสารเคมีเล็ก ประสิทธิภาพในการทำงานก็มากขึ้น กุญแจสำคัญคือทำให้สารเล็กลงและมีโครงสร้างตามที่เราต้องการ ในวงการเครื่องสำอางก็อาจจะเรียงอะตอมใหม่ ที่ใช้กันมากคือบรรจุสารบำรุงลงอนุภาคเล็กๆ (ไลโปโซม) เพื่อให้ทำงานกับเซลล์ผิวที่มีขนาดเล็กเช่นกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอนุสิกส์กล่าว
นายอนุสิกส์อธิบายถึงขั้นตอนการทำไลโปโซมซึ่งเป็นอนุภาคที่นำสารบำรุงเข้าสู่ผิวว่าจะนำเลซิติน (Lecithin) สารจำพวกไขมันจากถั่วเหลือง มาเรียงตัวใหม่ และด้วยแรงตึงผิวของสารเองจะทำให้ได้ออกมาเป็นรูปลูกบอลกลมๆ ซึ่งมีทั้งที่เป็น 1 ชั้นและหลายๆ ชั้น ที่เกิดจากการเรียงตัวของไขมันสลับกับอนุภาคของน้ำกลายเป็นชั้นๆคล้ายหัวหอม เขากล่าวว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1940 แต่ไม่ได้เป็นที่ฮือฮามากนัก จนกระทั่งเครื่องสำอางยี่ห้อ “ลังโคม” (Lancôme) ได้ต่อยอดเป็น “นีโอโซม”
ส่วน “แพน คอสเมติกส์” ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้นาโนเทคโนโลยีผสมผสานกับสารบำรุงที่ได้จากการสังเคราะห์สารซึ่งสกัดจาก “ขมิ้นชันไทย” เป็นเครื่องสำอางชื่อ “มิราเคิล ไวเทนนิง” (Miracle Whitening) โดยสารดังกล่าวคือ “ทีเอชซี” (THC) หรือ “เตตระไฮดรอกซี เคอร์คิวมิน” (Tetrahydroxy Curcumin) สารชนิดเดียวที่ใช้ในเครื่องสำอาง “จีพีโอ เคอร์มิน” ขององค์การเภสัชกรรม ที่มีคุณสมบัติในการบำรุงผิวให้เนียนใสและสามารถปรับเซลล์สีผิวที่ดำคล้ำให้ขาวขึ้น และมีส่วนผสมของสารสกัดจากว่านหางจระเข้ และบลูคาร์โมมายล์ (ดอกไม้ชนิดหนึ่ง)
ในการผลิตสารสังเคราะห์จากสารสกัดขมิ้นชันนั้น นายอนุสิกส์กล่าวว่าทำได้โดยการเติมไฮโดรเจน (H) จำนวน 4 อะตอม ลงในสารสกัดดังกล่าว และจะทำให้สีเหลืองจากขมิ้นชันหายไป แต่ทำให้ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทางบริษัทเพียงรับวัตถุดิบจากที่อื่นมาผลิตด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทสามารถผลิตไลโปโซมที่มีขนาดเล็กลงและมีความเสถียรมากขึ้นเรียกว่า “นาโนแคป” (nanocap) มีขนาด 50-200 นาโนเมตรทำจากเลซิตินและสารละลายที่ไม่ใช่น้ำทำให้สามารถใส่สารที่ละลายน้ำได้มากขึ้น เช่น วิตามินซี เป็นต้น และเก็บได้ที่อุณหภูมิห้อง (25-37 องศาเซลเซียส)
นายอนุสิกส์กล่าวถึงจุดแข็งของบริษัทว่าอยู่ที่การทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เรียกกันทั่วไปว่า “อาร์แอนด์ดี” (R&D: Research and development) เขากล่าวว่า “แพน”ทำวิจัยมาเกือบ 20 ปีและได้วิจัยในด้านนาโนเทคโนโลยีมากว่า 10 ปีแล้ว เพียงแต่เทคโนโลยีเพิ่งได้รับความสนใจ จึงได้เปิดตัวเครื่องสำอางตัวนี้ขึ้น ทุกวันนี้มีบุคลากรในศูนย์วิจัยประมาณ 100 คน จากหลากหลายอาชีพ อาทิ แพทย์ พยาบาล นักเคมี นักฟิสิกส์ นักชีวเคมี วิศวกร เป็นต้น
นอกจากนี้ทางศูนย์วิจัยยังมีเครื่องมือในการวัดขนาดอนุภาคของเครื่องสำอางว่ามีขนาดจิ๋วอยู่ในระดับที่เป็นนาโนเทคโนโลยีจริง และมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องสำอางภายในบริษัท (in house testing) เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ที่สำคัญต้องมีรายงานว่าไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้โดยมีนัยสำคัญทางสถิติ (มีสถิติเพียงพอให้เชื่อถือได้)