xs
xsm
sm
md
lg

กัมมันตภาพรังสีในอาร์กติกลดลงแล้ว แต่ยังคงวิกฤติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี - หน่วยสำรวจอาร์กติกในความร่วมมือของ 8 ประเทศ พบระดับกัมมันตภาพรังสีลดลงแล้ว หลังจากการปนเปื้อนเนื่องจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของหมีขาว และการระเบิดของเชอร์โนบิล แต่สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงเพราะมีแหล่งรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีอยู่เพียบ และบริเวณเก็บอาวุธของอดีตแดนหมีขาวติดอันดับการปนเปื้อนสูงสุด

จากการศึกษาและติดตามสารกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนในแถบขั้วโลกเหนือหรืออาร์กติกของนักวิทยาศาสตร์จากหน่วยปฏิบัติการสำรวจและประเมินสถานการณ์อาร์กติกสากลหรืออาแมป (the international Arctic Mornitoring and Assessment Program)ในปี 1991-2002 ของ พบว่าระดับกัมมันตภาพรังสีเริ่มลดลงแล้ว หลังจากการปนเปื้อนอันเนื่องจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของอดีตสหภาพโซเวียต และการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) ที่ปล่อยฝุ่นกัมมันตรังสีสู่สิ่งแวดล้อมปกคลุมในแถบอาร์กติก


“ระดับกัมมันตภาพรังสีในแถบขั้วโลกเหนือกำลังลดลง นับว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็กินเวลายาวนานกว่าพื้นอื่นในโลกที่มีการปนเปื้อน” เปอร์ สแตรนด์ (Per Strand) เจ้าหน้าที่ปกป้องชาวนอร์เวย์จากผลกระทบของนิวเคลียร์ (the Norwegian Nuclear Protection Authority) ผู้นำสำรวจในความร่วมมือของหน่วยงานสิ่งแวดล้อมและอุตุนิยมวิทยารัสเซียโรสไฮโดรเมท (Roshydromet) กล่าว และกล่าวต่อไปอีกว่าที่การลดลงของกัมมันตภาพรังสีต้องใช้เวลานานนั้น เนื่องจากการเติบโตของพืชในเขตทุนดรา (tundra) อย่างมอส เห็ดและหญ้าดูดกลืนกัมมันตภาพรังสีมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ


นอกจากนี้สแตรนด์ยังกล่าวว่าด้วยความเปราะบางของระบบนิเวศน์ของทางเหนืออันไกลโพ้นของแถบอาร์กติกนั้น ทำให้มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากคลังสรรพาวุธอันใหญ่ของอดีตสหภาพโซเวียตที่เต็มไปด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เรือดำน้ำ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และกากกัมมันตรังสี โดยกัมมันตภาพรังสีในบริเวณนี้จะถูกส่งผ่านไปยังสัตว์กินพืชที่ดูดกลืนสารกัมมันตรังสี อย่างกวางเรนเดียร์ และส่งต่อไปยังคนที่บริโภคสัตว์เหล่านี้ ซึ่งรวมกลุ่มชนพื้นเมืองซามิ (Sami) ในเขตอาร์กติก และด้วยเหตุที่อาณาบริเวณในแถบอาร์กติกนั้นกว้างใหญ่ไพศาล และการปนเปื้อนก็มาจากสาเหตุที่หลากหลาย สแตรนด์จึงกล่าวว่าเขาไม่สามารถประมาณการลดลงของสารกัมมันรังสีในแถบนี้ได้ทั้งหมด

ในปี 1986 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลของอดีตสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน)ได้เกิดระเบิดขึ้น ทำให้ผู้คนกว่า 4,000 คนต้องเสียชีวิต และฝุ่นกัมมันตรังสีที่เกิดจากการระเบิดได้ฟุ้งกระจายไปยังดินแดนตอนเหนือ ปัจจุบันผลกระทบจากการระเบิดครั้งนั้นยังตรวจวัดได้ในดินแดนอาร์กติก และนักวิทยาศาสตร์จากอาแมปยังได้ทำการสำรวจแหล่งปนเปื้อนของกัมมันภาพรังสีอื่นๆ ที่รวมอาวุธนิวเคลียร์อย่างระเบิด ยูเอส บี-52 (U.S. B-52) ที่เกิดการปะทะและระเบิดในปี 1968

สแตรนด์กล่าวว่าสถานที่ที่มีสถานการณ์การปนเปื้อนย่ำแย่ที่สุดคือ ที่คาบสมุทรโกลา(Kola Peninsula) ในตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย เพราะเป็นสถานที่รวมวัสดุทางนิวเคลียร์ ที่ใหญ่ที่สุด คาบสมุทรของอาร์กติกมีอาณาเขตติดกับนอร์เวย์และฟินแลนด์ เป็นสถานที่ตั้งกองเรือทางภาคเหนือของรัสเซีย ซึ่งรวมเรือดำน้ำนิวเคลียร์ที่ทรุดโทรมและปลดประจำการแล้ว โดยยังคงมีเชื้อเพลิงนิวเคลียร์อยู่ในเรือ และอย่างน้อยที่สุดเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของรัสเซีย 2 ลำ ได้จมลงในระหว่างการลาดตระเวนเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา

และคาบสมุทรในอาร์กติกยังเป็นที่ตั้งของคลังสรรพาวุธซึ่งเต็มไปด้วยอาวุธนิวเคลียร์และโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เก่า กลุ่มสำรวจสิ่งแวดล้อมชาวนอร์เวย์แห่งเบลโลนา (Bellona) กล่าวว่าชิ้นส่วนเชื้อเพลิงกว่า 21,000 ชิ้นถูกเก็บอยู่ที่นั้นและอุปกรณ์ที่เก็บชิ้นส่วนเหล่านั้นมากมายก็มีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี สแตรนด์กล่าวว่าต้องใช้เงินหลายสิบล้านดอลลาร์เพื่อกำจัดสารปนเปื้อนเหล่านั้น

สำหรับโครงการสำรวจการปนเปื้อนในอาร์กติกนั้น ตั้งขึ้นเพื่อให้ข้อมูลแก่สภาขั้วโลกเหนือ (Arctic Council) โดยความร่วมมือของ 8 แปดประเทศที่มีอาณาเขตติดในแถบอาร์กติก ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก (ร่วมกับกรีนแลนด์) ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ รัสเซีย สวีเดนและสหรัฐ





กำลังโหลดความคิดเห็น