รมว.ต่างประเทศ แถลง ยันชี้แจงเวทียูเอ็นแล้ว ย้ำ กัมพูชาละเมิดอธิปไตยและกฎหมายระหว่างประเทศตลอด ล่าสุดละเมิดอนุสัญญาออตตาวา วางทุ่นระเบิดใหม่ในเขตอธิปไตยของไทย เผย พบประธาน UNSC ยื่นหนังสือชี้แจงเหตุการณ์ ย้ำ กัมพูชาเปิดฉากยิงก่อน ส่วนที่ประชุม UNSC เมื่อเช้าไม่ได้เน้นประเด็นใดเป็นพิเศษ แค่กล่าวหลักการกว้างๆ เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้การยับยั้งชั่งใจ ลดความตึงเครียด หยุดยิง และแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ใช้การทูตและการเจรจาทวิภาคี สนับสนุนบทบาทของอาเซียน โดยที่ประชุม UNSC ไม่ได้มีมติหรือการออกเอกสารใดๆ
วันนี้ (26 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงข่าวกรณีสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ มีรายละเอียดคำแถลง ดังนี้
ผมเพิ่งเดินทางกลับถึงไทยเมื่อเช้ามืดที่ผ่านมา หลังจากเสร็จสิ้นการเข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ High-Level Political Forum (HLPF) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ในห้วงการประชุมดังกล่าว ผมได้มีโอกาสพบหารือกับผู้แทนระดับสูงจาก UN และประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง ผมจึงขอถือโอกาสมาแถลงถึงผลการเยือน เพื่อให้ทุกท่านได้รับทราบ
ประเด็นแรก พัฒนาการสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา
ก่อนอื่น ขอเรียนว่า ตลอดเวลาที่ปฏิบัติภารกิจที่สหประชาชาติ ผมได้ติดตามสถานการณ์และเหตุปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 ก.ค. 2568 ที่ฝ่ายกัมพูชาเป็นผู้ที่เริ่มเปิดฉากโจมตีก่อน ซึ่งได้โจมตีสถานที่ที่ไม่ใช่เป้าหมายทางทหาร เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อ ในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าตั้งใจจะโจมตีพื้นที่พลเรือน ส่งผลให้มีพลเรือนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในผู้เสียชีวิตคือ เด็กอายุเพียง 8 ขวบ
ผมเชื่อว่า ไม่มีประเทศไหนยอมรับการกระทำเหล่านี้ได้ ซึ่งกัมพูชาเองก็เป็นประเทศที่ย้ำมาตลอดว่า เป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศ แต่กลับกระทำการที่ละเมิดหลักการพื้นฐานอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย
ขอย้ำว่า การกระทำเหล่านี้ไม่เพียงแต่ละเมิดอธิปไตยของไทย แต่ยังละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตร UN และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังเป็นการละเมิดศีลธรรมขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ควรได้รับการประณามอย่างเต็มที่จากประชาคมระหว่างประเทศ
ทันทีที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว โดย (1) ประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการรุกรานของกัมพูชา
(2) ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและเรียก ออท. ณ กรุงพนมเปญ กลับไทย และขอให้ ออท.กพช. กลับ ปท. เช่นกัน และ (3) เรียกร้องให้กัมพูชาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยุติการโจมตีเป้าหมายทางทหารและพลเรือน รวมถึงยุติการละเมิดอธิปไตยของไทยโดยทันที ผมขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
นอกจากนี้ เมื่อคำนึงถึงกรณีการวางทุ่นระเบิดใหม่ของกัมพูชาในดินแดนของอธิปไตยของไทย ซึ่งเรามีหลักฐานชัดเจน และหน่วยงานความมั่นคงได้มีการพิสูจน์ทราบอย่างชัดเจนแล้ว และทำให้ทหารไทย 2 นาย บาดเจ็บสาหัสจากการสูญเสียขาถาวร ผมเสียใจอย่างมากกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกแล้วในปัจจุบัน และขอชื่นชมในความกล้าหาญของทหารทุกท่านที่เสียสละเพื่อชาติและรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของไทย
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความจริงใจและความสุจริตใจ (in good faith) ในการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชามาตลอด แต่เมื่อฝ่ายกัมพูชาเลือกที่จะละเมิดอธิปไตยของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในฐานะ รมว.กต. ผมจึงจำเป็นต้องเดินทางไปชี้แจงกับประชาคมระหว่างประเทศด้วยตนเองและโดยเร็วที่สุด
ประเด็นที่สอง การชี้แจงต่อประชาคมระหว่างประเทศ
ตามที่เรียนไปข้างต้น นอกเหนือจากการเข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ HLPF การไป UN ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาต่อนานาประเทศ
ผมได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายแบบเปิดในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC รวมทั้งพบหารือกับผู้แทนระดับสูงของประเทศและองค์การ รปท. ต่างๆ เช่น (1) เลขาธิการ UN (2) รนรม./รมว.กต. ปากีสถาน (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน UNSC) (3) รมว. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ปานามา ซึ่งจะทำหน้าที่ประธาน UNSC วาระถัดไป และ (4) รมช.กต. ญี่ปุ่น ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประจำอนุสัญญาออตตาวา และ (5) ผู้แทนประธานาธิบดีรัสเซีย ในฐานะประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรของ UNSC
ในการพบหารือกับบุคคลสำคัญเหล่านี้ ผมได้ชี้แจง (1) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาที่เกิดขึ้น ว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายละเมิดอธิปไตยของไทยก่อน (2) ย้ำท่าทีไทยที่จะแก้ไขปัญหาเขตแดนกับฝ่ายกัมพูชาอย่างสันติและด้วยความสุจริตใจ (in good faith) ผ่านกลไกทวิภาคีมีอยู่ และ (3) การละเมิดอนุสัญญาออตตาวาของกัมพูชา ต่อกรณีการวางทุ่นระเบิดใหม่ในเขตอธิปไตยของไทย และการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ ของกัมพูชา
ต่อกรณีที่ฝ่ายกัมพูชายื่นหนังสือถึงประธาน UNSC นั้น เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้เข้าพบ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรปากีสถาน ณ นครนิวยอร์ก ในฐานะประธาน UNSC ประจำเดือน ก.ค. 2568 เพื่อยื่นหนังสือชี้แจงเหตุการณ์การใช้กำลังทางทหารที่เริ่มโดยฝ่ายกัมพูชา การละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขอให้เวียนหนังสือดังกล่าวของไทยเป็นเอกสารของ UNSC เพื่อให้ประเทศสมาชิก UNSC ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ เมื่อคืนนี้ เวลา 15.00 น. เวลาท้องถิ่นของนครนิวยอร์ก (ประมาณ 02.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) UNSC ได้จัดการประชุมแบบปิดเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมี 15 ประเทศสมาชิก UNSC รวมถึงไทยและกัมพูชาเข้าร่วม
ผมได้รับรายงานจากท่านทูตเชิดชายว่า ในที่ประชุมเมื่อวานนี้ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา รวมทั้งสมาชิกประเทศ UNSC ทุกประเทศได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม
โดยสรุป ฝ่ายไทยได้ย้ำจุดยืนว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน โดยได้โจมตีสถานที่ที่ไม่ใช่เป้าหมายทางทหารอย่างต่อเนื่อง ลึกเข้ามาในเขตแดนไทยมาก ส่งผลให้มีพลเรือนไทยเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่ทุกท่านได้เห็นในถ้อยแถลงฉบับเต็มที่ได้เผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบแล้ว
นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของประเทศสมาชิก UNSC ที่เข้าร่วมประชุม ไม่ได้เน้นประเด็นใดเป็นพิเศษ เพียงแต่กล่าวถึงหลักการกว้างๆ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า
(1) เรียกร้องให้กัมพูชาและไทยใช้การยับยั้งชั่งใจ ลดความตึงเครียด หยุดยิง และแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ซึ่งรวมถึงการใช้การทูตและการเจรจาทวิภาคีบนพื้นฐานของหลักการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี (2) สนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการใกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ตามหลักการของกฎบัตรอาเซียน และ (3) ย้ำว่า สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ผมขอย้ำว่า ที่ประชุม UNSC ไม่ได้มีมติหรือการออกเอกสารใดๆ
กรณีประธานอาเซียน
สำหรับกรณีประธานอาเซียน นั้น ผมขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี Anwar Ibrahim สำหรับบทบาทและข้อเสนอหยุดยิง (ที่ไทยเห็นด้วยอย่างยิ่งในหลักการ โดยกัมพูชาจะต้องหยุดโจมตีและแสดงความจริงใจ)
ไทยให้ความสำคัญกับประธานอาเซียน เและพร้อมที่จะหารือกับมาเลเซียอย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์เพื่อหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวต่อไป
กรณีข่าวปลอมเรื่องเขาพระวิหาร
อีกเรื่องที่ผมอยากจะกล่าวถึง คือกรณีข่าวปลอมที่กัมพูชาออกแถลงการณ์กล่าวหาว่า กองทัพไทยได้รุกรานและสร้างความเสียหายให้ตัวปราสาทพระวิหาร
ผมขอเรียนข้อเท็จจริงอีกครั้ง ว่า เรื่องนี้เป็นการกล่าวหาซึ่งไร้หลักฐาน และ ไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง โดยการปะทะกันระหว่างกองกำลังไทยกับกัมพูชา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน บริเวณห้วยตามะเรีย และภูมะเขือ นั้น พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากตัวปราสาทพระวิหารถึง 2 กิโลเมตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกระสุนหรือสะเก็ดระเบิดที่มีวิถีไกลไปถึงตัวปราสาทพระวิหาร โดยทั้งหมดนี้ ฝ่ายไทยได้ชี้แจงไปแล้วโดยหนังสืออย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ผมได้สั่งการให้กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกรมองค์การ กระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือประท้วงเรื่องการโจมตีเป้าหมายพลเรือน ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถรับได้ ไปยังคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วย
บทส่งท้าย
ประเทศไทยขอยืนยันเจตนารมณ์ในการแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธีบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และพร้อมร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการธำรงสันติภาพและเสถียรภาพ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชายุติการกระทำที่เป็นการละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างจริงใจและสุจริตใจ
สุดท้ายนี้ ขอร่วมส่งกำลังใจให้แก่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ครับ ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศจะทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถเพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ศักดิ์ศรีและสถานะของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และยึดถือผลประโยชน์และความปลอดภัยของคนไทยไว้เหนือสิ่งอื่นใด อย่างที่เคยทำมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงนาทีนี้