xs
xsm
sm
md
lg

สภาถกลับ 7 ญัตติด่วน หลังเขมรถล่มอาวุธหนักชายแดน จี้อพยพเยียวยาแนะแนวทางป้องกันความมั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาฯ เปิดประชุมลับถก 7 ญัตติด่วน ปมความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา หลังทหารเขมรถล่มอาวุธหนักใส่พื้นที่ชายแดน สส.หลายพรรคจี้รัฐเร่งอพยพ-เยียวยาประชาชน พร้อมเสนอแนวทางป้องกันความมั่นคง

วันนี้ (24ก.ค.) เมื่อเวลา 12.20 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วน กรณีความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ชายแดน

โดยที่ประชุมวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านได้หารือร่วมกันก่อนประชุม และมีความเห็นตรงกันว่า เรื่องดังกล่าวมีความอ่อนไหว จึงควรใช้วิธีการประชุมลับ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถอภิปรายได้อย่างเต็มที่โดยไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า คณะรัฐมนตรีมีตัวแทนพร้อมเข้ารับฟังข้อเสนอจากฝ่ายนิติบัญญัติ และเสนอให้ใช้ข้อบังคับการประชุม อนุญาตให้รัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เข้าร่วมประชุมลับได้

ในการประชุมครั้งนี้ มีสมาชิกสภาฯ รวม 7 ราย จากหลากหลายพรรคการเมือง ยื่นญัตติด่วนในประเด็นปัญหาความขัดแย้งตามแนวชายแดน โดยมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งด้านความมั่นคง การต่างประเทศ การช่วยเหลือประชาชน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่

นายธเนศ เครือรัตน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติให้สภาฯ พิจารณาปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ จ.อุบลราชธานี และ จ.สุรินทร์ พร้อมขอความร่วมมือจากสมาชิกให้ระมัดระวังถ้อยคำในการอภิปราย เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลายหรือนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ

นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอให้สภาฯ หาทางเสนอแนะแนวทางไปยังรัฐบาล โดยเน้นการเร่งช่วยเหลือประชาชนให้สามารถอพยพออกจากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย และสนับสนุนงบประมาณในการปกป้องชีวิตคนไทย พร้อมเสนอว่ารัฐบาลควรเร่งแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยเห็นว่า ขณะนี้ฝ่ายตรงข้ามทราบดีว่าประเทศไทยยังไม่มีรัฐมนตรีประจำตำแหน่ง ทำให้ถูกมองว่าอ่อนแอ

นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้สภาฯ พิจารณาศึกษามาตรการดูแลความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนในพื้นที่ชายแดน พร้อมเสนอแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และเรียกร้องให้เพิ่มงบประมาณให้แก่จังหวัดแนวชายแดน พร้อมแนะให้กองทัพอากาศส่งเครื่องบิน F-16 ลาดตระเวนบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรุกล้ำซ้ำอีก

นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย เสนอให้สภาฯ ศึกษาแนวทางช่วยเหลือประชาชนและลดความรุนแรงของสถานการณ์ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงโดยเร็ว โดยคาดว่าจะมีผู้อพยพหลักหมื่นคน และรัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณเพื่อรองรับทั้งในแง่ชีวิตความเป็นอยู่และการดูแลทรัพย์สิน

นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา โดยอภิปรายว่า กัมพูชากำลังดำเนินแผนการเพื่อบีบบังคับให้ไทยตอบโต้ และจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) พร้อมวิจารณ์ว่าการต่างประเทศของไทยยังล่าช้า ไม่สามารถตามเกมของกัมพูชาได้ทัน และเสนอให้ไทยมีแผนการทูตระยะยาว โดยเฉพาะกรณีที่ผู้นำกัมพูชายังดำรงตำแหน่งหลังเลือกตั้ง

ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอญัตติให้สภาฯ พิจารณาแนวทางรับมือสถานการณ์ชายแดนที่อาจลุกลามสู่สงคราม พร้อมเสนอว่า แผนอพยพประชาชนต้องชัดเจน การแจ้งเตือนภัยต้องมีประสิทธิภาพ และควรเชิญทูตทหารจากประเทศต่าง ๆ ลงพื้นที่เพื่อให้เห็นพฤติกรรมก้าวร้าวของกัมพูชา รวมทั้งเสนอให้ไทยยื่นเรื่องต่อ UNSC ก่อนฝ่ายกัมพูชา เพื่อไม่ให้ไทยตกเป็นจำเลยของนานาชาติ
“เป้าหมายของกัมพูชาไม่ใช่เพียงการยิงโจมตี แต่คือการใช้พื้นที่ปราสาทที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเป็นเครื่องมือยั่วยุให้ไทยตอบโต้ แล้วลากไทยขึ้นศาลโลก” นายรังสิมันต์ กล่าว

ขณะที่ นายสะถิระ เผือกประพันธ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคกล้าธรรม เสนอญัตติให้พิจารณาหาทางออกในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะมาตรการปกป้องเกษตรกรจากผลกระทบทางการส่งออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังสมาชิกอภิปรายจนครบถ้วน มีผู้เสนอให้ประชุมลับตามข้อบังคับของสภาฯ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จึงได้สั่งให้ดำเนินการประชุมลับ โดยขอให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องประชุม และห้ามบันทึกภาพหรือเสียงในระหว่างการประชุม ทั้งนี้ รัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมรับฟังการประชุมลับด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น