xs
xsm
sm
md
lg

ศบ.ทก.ย้ำจุดเขมรลอบวางทุ่นระเบิดใหม่ใกล้แนวคูเลต แถลงประณามแล้ว เตรียมเชิญทูตทหารนานาชาติรับทราบข้อเท็จจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบ.ทก.แถลงย้ำผลตรวจทุ่นระเบิดที่ช่องบก เป็นชนิด PMN-2 ไม่มีในสารบบยุทโธปกรณ์กองทัพไทย เชื่อถูกลอบนำมาวางใหม่ หลังเหตุปะทะ 28 พ.ค. เผยจุดวางอยู่ใกล้แนวต้นพญาสัตบรรณที่เขมรเข้ามาขุดคูเลต ชี้ชัดรุกล้ำอธิปไทย-ละเมิดอนุสัญญาออตตาวา ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติแถลงประณามแล้ว กองทัพเตรียมเชิญผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประเทศต่างๆ มารับทราบข้อเท็จจริง

วันนี้(21 ก.ค.) พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะโฆษกด้านความมั่นคง ของศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ( ศบ.ทก.) ได้แถลงผลการประชุม ศบ.ทก.วันนี้ว่า ในส่วนของด้านความมั่นคงมีทั้งหมด 2 ประเด็น คือ

1.เรื่องสืบเนื่องจากการพิสูจน์ทราบทุ่นระเบิดจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2568 เป็นผลมาจากที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 1 ของกองกําลังสุรนารีได้ปฏิบัติการลาดตระเวนเพื่อคุ้มครองการเสริมสร้างเส้นทางทางยุทธวิธี จากฐานมรกตไปยังเนิน 481 โดยในพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่อธิปไตยของไทย โดยในวันที่ 16 กรกฎาคมก็เกิดเหตุการณ์พลทหารเหยียบกับระเบิดตามที่ปรากฏเป็นข่าว จากนั้นทางการไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการจัดหน่วยผู้เชี่ยวชาญด้านทุ่นระเบิดเข้าไปพิสูจน์ทราบ


โดยวันที่ 18 ก.ค.2568 หน่วยดังกล่าวได้เข้าสํารวจและพิสูจน์ทราบในพื้นที่เกิดเหตุ พบว่าจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากเส้นปฏิบัติการ 130 เมตร โดยจุดวางทุ่นระเบิด อยู่บนเส้นทางลาดตระเวนของฝ่ายไทยที่เป็นการปฏิบัติตามปกติอยู่แล้ว โดยการลาดตระเวนตามแนวชายแดนนั้นขอเน้นย้ำว่าทางฝ่ายไทยดําเนินการตามปกติ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคมนั้นเป็นเหตุสุดวิสัย

จากนั้น หน่วยพิสูจน์ทราบพบว่าหลุมระเบิดที่เกิดเหตุมีความกว้าง 69 เซนติเมตร ลึก 23 เซนติเมตร พบเศษวัสดุระเบิด ของระเบิดชนิด PMN-2 และได้พบทุ่นระเบิดชนิดเดียวกันนี้เพิ่มอีก 2 จุดจากการเข้าไปพิสูจน์ทราบในวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยจุดแรกนั้นอยู่ห่างจากต้นพญาสัตบรรณราว 50 เมตร ใกล้คูเลตที่ทหาร กัมพูชาเคยขุดไว้ และเป็นกรณีที่เป็นกรณีพิพาทระหว่างกัน ตรงนั้นตรวจพบอีก 3 ทุ่น ส่วนจุดที่ 2 พบเพิ่มอีก 5 ทุ่น ห่างจากจุดแรกประมาณ 100 เมตร


จากการตรวจพิสูจน์เป็นทั้งหมดนั้นเป็นระเบิดชนิด PMN-2 มีสภาพใหม่พร้อมทํางาน ปรากฏตัวอักษรชัดเจนบริเวณข้างตัวทุ่นระเบิด ซึ่งทุ่นระเบิดชนิดนี้ประเทศไทย และกองทัพไทยไม่เคยมีในสารบบยุทโธปกรณ์ครับ

นอกจากนั้นหลักฐานที่ชัดเจนอีกหลักฐานหนึ่งว่าเป็นทุ่นระเบิดชนิดใหม่ก็คือสภาพของจุดที่วางทุ่นระเบิดนั้นยังไม่มีวัชพืชหรือรากไม้ใดๆ ขึ้นปกคลุม เป็นการบอกเหตุว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ใหม่ ไม่มีวัชพืชไม่มีหญ้าใดๆ ปกคลุม และพบร่องรอยของการขุดเพื่อวางทุ่นระเบิดด้วย


พล.ร.ต.สุรสันต์ เท้าความว่า ในปี 2565 กองทัพได้ดําเนินการกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่บริเวณช่องบก คือพื้นที่บริเวณปฏิบัติการที่กล่าวไปแล้ว โดยไม่ตรวจพบระเบิดชนิด PMN-2 แต่อย่างใด ก็เป็นสิ่งบ่งบอกว่าระเบิดชนิดนี้เป็นระเบิดใหม่ ประเมินได้ว่า PMN-2 ที่ตรวจพบเป็นการวางหลังจากเกิดเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อที่ 28 พ.ค.2568 ที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ในวัน ที่ 20 ก.ค.2568 ก็ได้ตรวจพบทุ่นระเบิดอีก 2 จุด เป็น ระเบิดชนิด PMN-2 เช่นเดียวกัน ในบริเวณพื้นที่ที่อยู่ห่างจากหลุมระเบิดในเหตุการณ์ที่ทหารไทยไปเหยียบกับระเบิด ประมาณ 20 - 30 เซนติเมตรนั่นเอง ซึ่งชี้ชัดว่ามีการวางใหม่เพิ่มเติมอีก มีเป้าหมายเพื่อสังหารบุคคล เป็นการละเมิดอนุสัญญาออตตาวาอย่างชัดเจน รวมถึงการรุกล้ำอธิปไตยของไทย


จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางกองทัพได้ยกระดับมาตรการการปฏิบัติที่เข้มข้นขึ้นหน่วยในพื้นที่ได้รับคําสั่งให้เพิ่มความระมัดระวังในการลาดตระเวนในพื้นที่ มีการเตรียมความพร้อมสูงขึ้น ตามหลักการปฏิบัติของกฎการใช้กําลังของกองทัพ

ในส่วนของระดับส่วนกลาง กองทัพไทยโดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ก็ได้ออกหนังสือประณามการกระทําดังกล่าวอย่างชัดเจนเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา และจะยังคงติดตามและมีมาตรการเพิ่มเติม


นอกจากนั้นกองทัพยังมีวาระที่จะเชิญผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร รวมถึงผู้แทนกองทัพต่างประเทศมารับฟังคําชี้แจงเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงในเร็วๆ นี้ด้วย ซึ่งใน รายละเอียดของการประท้วงหรือการมาตรการในเชิงนานาชาติ ทางฝ่ายต่างประเทศ จะเป็นคนชี้แจงเพิ่มเติม

ส่วนประเด็นที่ 2 กรณีปราสาทตาเมือนธมที่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางฝ่ายไทยและกัมพูชาได้ร่วมหารือเพื่อแก้ไข หามาตรการในการบริหารจัดการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างนักท่องเที่ยว ทั้ง 2 ฝ่าย

โดยสรุปประเด็นที่เราได้ร่วมหารือกําหนดมาตรการ ดังนี้ ข้อ 1.หากมีปัญหาจากนักท่องเที่ยวเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาติ ก็จะให้เจ้าหน้าที่หรือชุด ประสานงานของชาตินั้นเป็นผู้จัดการ โดยจะเชิญตัวนักท่องเที่ยวนั้นออกจากพื้นที่ครับ ข้อที่ 2.กรณีเกิดปัญหาในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาให้ชุดประสานงานประสานในพื้นที่ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะจัดทหารทั้งหมด 7 นายให้เป็นผู้ดําเนินการในการแก้ไขปัญหาไม่มีการเรียกชุดกําลังเสริมหรือชุดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า หรือลดการเผชิญหน้าของทั้ง 2 ฝ่ายด้ว ส่วนข้อที่ 3 คือขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายดําเนินการคัดกรองนักท่องเที่ยวของแต่ละฝ่ายก่อนที่จะขึ้นมาเยี่ยมชมปราสาทตาเมือนธม

ขอยืนยันว่ามาตรการทั้ง 3 มีผลบังคับใช้แล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายได้เห็นพ้องร่วมกันในการดําเนินการ นอกเหนือจากนั้นฝ่ายไทยเองได้กําหนดมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว โดยจัดชุดอาสาสมัครและทหารพรานหญิงมาอํานวยความสะดวกเพิ่มเติม

“ทั้งนี้ เราเป็นห่วงนะครับ นักท่องเที่ยวไทยที่มาเยี่ยมชมปราสาทตาเมือนธม อยากจะให้มีความปลอดภัย ก็เป็นไปตามมอตโต้ หรือคติของทางศูนย์เฉพาะกิจบริ หารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา หรือ ศบ.ทก.ว่า รอบคอบ รอบด้าน ใช้ สติ สร้างสันติ อันนี้เราก็ยังยืนยันในเรื่องของมาตรการ แล้วก็การดําเนินคติของศูนย์ตรงนี้” พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น