ภัยแล้ง-น้ำท่วม-ไฟป่าซ้ำซาก ซัดห่วงโซ่อาหารทั่วโลกปั่นป่วน ก.เกษตรฯ ผนึก สสส. และ FAO เปิดเวทีปฏิบัติการวางยุทธศาสตร์ “Thailand Pathway” สร้างระบบอาหารยั่งยืน ขับเคลื่อน 5 แนวทาง “อิ่มและดี 2030” เตรียมนำเสนอเวที UNFSS+4 ปลาย ก.ค. นี้
วันนี้(21 ก.ค. 2568 ) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “พลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารไทย สู่อนาคตที่ยั่งยืน (Thailand Pathway for Food and Agriculture Systems Transformation) : อิ่ม..และ..ดี..2030” เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลการดำเนินงานระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน พร้อมแนวทางปฏิบัติการเชิงพื้นที่ขับเคลื่อนระบบเกษตรและอาหารตลอดห่วงโซ่ เพื่อนำไปเป็นแนวทางกำหนดมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร สร้างความมั่นคงทางอาหารของประชาชน และเสริมศักยภาพของประเทศ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า 30 หน่วยงาน
นายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤต “Extreme Weather” อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม วาตภัย และไฟป่าที่ถี่และรุนแรงมากขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อภาคการเกษตรของไทยและทั่วโลก ทำให้พืชผลเสียหาย การผลิตหยุดชะงัก ส่งผลให้ปริมาณอาหารในห่วงโซ่อุปทานลดลง ราคาพุ่งสูง และอาจนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการในเด็ก และความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
“การแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อพัฒนาระบบที่มีความยืดหยุ่น รับมือกับความเปลี่ยนแปลง และสร้างเสถียรภาพทางอาหารอย่างยั่งยืน” นายถาวรกล่าว
การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโมเดลการพัฒนาระบบเกษตรและอาหารในชื่อ “อิ่มและดี 2030” ซึ่งเน้นการปฏิรูประบบให้สอดคล้องกับบริบทโลกยุคใหม่ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.อิ่ม ดี ถ้วนหน้า – ทุกคนเข้าถึงอาหารปลอดภัย มีโภชนาการเหมาะสม 2. อิ่ม ดี มีสุข – ปรับพฤติกรรมบริโภคให้สมดุลและยั่งยืน 3. อิ่ม ดี รักษ์โลก – ส่งเสริมเกษตรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปล่อยคาร์บอน 4. อิ่ม ดี ทั่วถึง – ลดความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร ทุกชุมชนเข้าถึงได้ 5. อิ่ม ดี ทุกเมื่อ – ระบบยืดหยุ่น พร้อมรับทุกวิกฤต ตั้งแต่โรคระบาดจนถึงภัยธรรมชาติ
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังวางแนวนโยบาย 5 ประการ เพื่อยกระดับระบบเกษตรของไทย ได้แก่ การพัฒนาระบบบริหารจัดการรัฐแบบเชิงรุก, การบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรอย่างยั่งยืน, การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร, การเสริมศักยภาพเกษตรกร และการปกป้องตลาดภาคเกษตรให้แข่งขันได้ในระดับสากล
ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพประชาชน การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมเป็นปัจจัยหนึ่งของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ สสส. จึงสนับสนุนการพัฒนาระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ ผ่าน 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1. ส่งเสริมความรู้และบูรณาการการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ 2. สร้างตลาดอาหารปลอดภัยในระดับชุมชน และ3. ผลักดันนโยบายสาธารณะและรณรงค์สื่อสารเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
ดร.ไพโรจน์ยังกล่าวถึงความสำเร็จจากการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการผลักดันการยกเลิกใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร เช่น พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดไกรโฟเซต ทำให้ผู้เจ็บป่วยจากพิษสารเคมีลดลงจาก 22.75 คน/แสนประชากรในปี 2560 เหลือ 8.72 คน/แสนในปี 2566 ลดงบประมาณค่ารักษาได้กว่า 9,000 ล้านบาท
“การดำเนินงานครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการแผนระดับชาติสู่เวทีนานาชาติ โดยประเทศไทยจะใช้เวที UNFSS+4 ปลายเดือนนี้ เป็นพื้นที่สื่อสารจุดแข็ง นวัตกรรม และแนวทางการพัฒนา “ระบบอาหารไทยเพื่อสุขภาวะ” ให้โลกเห็นภาพชัดถึงศักยภาพของประเทศ พร้อมแสดงความเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านระบบอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากเกษตรกรและชุมชน จึงจะส่งต่อความเปลี่ยนแปลงสู่ระดับโลกได้จริง” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว