‘สว.เทวฤทธิ์’ ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล ยังจริงใจเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือไม่ หลังไร้ร่างของรัฐบาลประกบกับร่างฝ่ายค้าน ‘ชูศักดิ์’ แจงยังรอคำวินิจฉัยศาลรธน. เรื่องจำนวนประชามติ ยอมรับอุปสรรคใหญ่คือกลไกที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไข กังวลไทม์ไลน์อาจไม่พอในรัฐบาลชุดนี้ แต่พร้อมผลักดันให้มีการตั้งสภาร่างฯ เพื่อวางรากฐานให้เดินหน้าต่อได้
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีการพิจารณากระทู้ถามด้วยวาจา เรื่อง “นโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล” ซึ่งตั้งโดยนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา โดยมุ่งสอบถามนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
นายเทวฤทธิ์อภิปรายถึงความล่าช้าและความไม่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยย้อนไปถึงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่จุดกระแสให้ประชาชนเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาอย่างยาวนานเกือบ 20 ปี แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรม ทั้งที่รัฐบาลปัจจุบันได้แถลงชัดว่าจะผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
“เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา แต่ไม่มีร่างประกบจากฝ่ายรัฐบาล ทั้งที่เป็นนโยบายสำคัญที่เคยประกาศไว้ ผมจึงขอถามว่ามีอุปสรรคใดที่ทำให้รัฐบาลยังไม่เสนอร่างของตนเอง และมีแนวทางหรือกรอบเวลาชัดเจนหรือไม่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นายเทวฤทธิ์กล่าว
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มาตอบกระทู้แทน ชี้แจงว่า รัฐบาลยังมีความแน่วแน่ในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าฉบับปัจจุบันมีปัญหาหลายด้าน เช่น ระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ที่มาของวุฒิสภา และข้อจำกัดในกระบวนการแก้ไข แต่ในทางปฏิบัติมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางกฎหมายจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังพิจารณาว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติ 1, 2 หรือ 3 ครั้ง ซึ่งหากไม่รอคำตอบแล้วเดินหน้าทันที อาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งในเชิงการเมืองและการใช้งบประมาณ
“แต่ละครั้งของการทำประชามติต้องใช้งบประมาณมากกว่า 3,000 ล้านบาท หากต้องทำถึง 3 ครั้งก็อาจเกิน 9,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และหากดำเนินการไปแล้วไม่สำเร็จ จะเสียหายหนักกว่าการรอให้แน่ใจก่อน” นายชูศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า แม้ร่างของพรรคการเมืองจะเข้าสู่ระเบียบวาระแล้ว แต่ยังมีอุปสรรคจากเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่กำหนดให้การผ่านวาระแรกต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากวุฒิสภาอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือประมาณ 67 เสียง ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากวุฒิสภาหรือไม่
นายเทวฤทธิ์ยังได้เสนอแนวคิดว่าหากการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาและงบประมาณสูง ควรจัดทำประชามติถามประชาชนให้ชัดเจนไปเลยว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสามารถจัดควบคู่กับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทั่วไปหรือท้องถิ่น เพื่อประหยัดเวลาและงบประมาณ
ด้านนายชูศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจริง แต่หากพิจารณาจากไทม์ไลน์แล้วค่อนข้างยากที่จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวาระของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงประมาณ 2 ปี โดยขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจัดประชามติ การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และกระบวนการยกร่าง จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 15-18 เดือน
“ถ้าให้พูดตรง ๆ คือรัฐบาลไม่อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มเหลวอีกเหมือนที่ผ่านมา ที่แม้จะผ่านวาระสามแล้ว แต่กลับต้องหยุดชะงักเพราะถูกยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ เช่นในกรณีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 เราจึงต้องรอบคอบ หากมีการยุติในหลายประเด็นแล้วจะเดินหน้าเต็มที่ โดยจะพยายามตั้ง สสร. เพื่อวางรากฐานไว้ก่อน แม้จะไม่สำเร็จทันรัฐบาลชุดนี้ ก็ถือว่าได้เริ่มต้นไว้แล้ว” นายชูศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลจะยังคงยึดมั่นในนโยบายการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องทำในจังหวะและสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประสบความสำเร็จและยั่งยืน ไม่ใช่เพียงเป็นวาระทางการเมืองที่จบลงด้วยความล้มเหลวอีกครั้ง.